การค้า-อุตสาหกรรม
Mitsubishi Electric ประเทศไทย รวมพลังความร่วมมือ สร้างเครือข่าย ECOSYSTEM เพื่อก้าวสู่ Net Zero อย่างยั่งยืน


 

Mitsubishi Electric ประเทศไทย จัดงาน Sustainable Building Collaboration 2024 พร้อมประกาศความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เดินหน้าสร้างอีโคซิสเตม (Ecosystem) ตอบโจทย์เทรนด์ “อาคารสีเขียว” ด้วยโซลูชันและผลิตภัณฑ์อัจฉริยะครบวงจรจาก Mitsubishi Electric และพันธมิตร เพื่อผลักดันไทยพิชิตเป้าหมาย Net Zero Emission อย่างยั่งยืน

Mitsubishi Electric ประเทศไทย ได้จัดงาน Sustainable Building Collaboration 2024 ขึ้น เพื่อสนับสนุนธุรกิจในภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างอาคารให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นให้แต่ละธุรกิจสามารถตัดสินใจได้บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง เหมาะสม และชาญฉลาด ผ่านกลยุทธ์การบริหารการใช้ทรัพยากรและพลังงานเพื่อการลดคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงชี้ให้เห็นโอกาสในการสร้างเครือข่าย ด้วยการสาธิตจากบริษัทในกลุ่ม Mitsubishi Electric ประเทศไทย รวมถึงบริษัทผู้แทนจำหน่าย ตลอดจนพันธมิตรทางธุรกิจ ที่จะนำไฮไลต์ของผลิตภัณฑ์ โซลูชัน ที่โดดเด่นของแต่ละบริษัทมาร่วมจัดแสดงในบูธต่าง ๆ ภายในงาน เพื่อให้สอดรับกับแผนปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  หรือ "พ.ร.บ.โลกร้อน" ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อขออนุมัติสำหรับดำเนินการในทุกภาคส่วนสำคัญ ได้แก่ ภาคพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม การจัดการของเสีย และการเกษตร

 
นายเทสึยะ ชิโนะฮารา กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวคิดสำคัญในการบริหารจัดการด้านความยั่งยืน Mitsubishi Electric Group ว่า “ในงานเราได้นำความน่าสนใจของระบบอัตโนมัติที่ใช้ในการบริหารจัดการอาคารอัจฉริยะตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ที่ต้องร่วมกันลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน โดยทางกลุ่ม Mitsubishi Electric มีความพร้อมที่ทำงานร่วมกันกับทั้งบริษัทในเครือและรวมถึงบริษัทพันธมิตรของลูกค้าทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ไปด้วยกัน ซึ่งเราได้วางกลยุทธ์ของบริษัทโดยมีเป้าหมาย มุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมที่มีชีวิตชีวาและยั่งยืน  โดยใช้หลักการพื้นฐานของเราในการร่วมแก้ปัญหาที่ท้าทายของสังคม ด้วยการใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่เรามี ซึ่งประกอบด้วย 5 ด้าน เช่น ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ความมั่นคงและปลอดภัย (Safety/Security) การร่วมมือกัน (Inclusion) และการมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Well-being) โดยเราได้นำแนวคิดวิศวกรรมดิจิทัลแบบหมุนเวียน “Circular Digital-Engineering” มาใช้ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ  เป็นระบบการเชื่อมโยงองค์ความรู้สำคัญสู่ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างคุณค่าใหม่ เป็นการนำเสนอแนวทางการร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ ตอบโจทย์ความท้าทายของสังคมในทุกด้าน นอกจากนั้น ที่ผ่านมา เรายังได้ออกแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม “Serendie” ขึ้น เพื่อ เป็นระบบกลางในการบริหารจัดการข้อมูลและความร่วมมือของในกลุ่มฯ และรวมถึงพันธมิตรเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามแนวทาง Circular Digital-Engineering  อีกด้วย”

 
นางสาวภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้ให้ความรู้ในนโยบายและกฎเกณฑ์ของ อบก. ที่จะสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน ว่า “ภาคอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก จากนี้ไป ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องมีการรายงานอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรในทุกปี ตามบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ลดโลกร้อน รวมถึง ถ้าผลิตภัณฑ์ใดก็ตามที่มีค่าการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาก ก็จะต้องมีการเก็บภาษีเพิ่มด้วย โดย พ.ร.บ. นี้คาดว่าจะมีการประกาศใช้อย่างช้าที่สุดในปี 2025 และเพื่อเป็นตัวช่วยให้กับผู้ประกอบการไทย ในปัจจุบันทาง อบก. ได้พัฒนาเครื่องมือหลากหลายให้องค์กรได้นำไปประยุกต์ใช้ในการลดคาร์บอน มุ่งสู่ Net zero ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถลดต้นทุน  เร่งสร้างกลไกการรับรองคาร์บอนฟุต พริ้นท์ทั้งในระดับองค์กร และในระดับผลิตภัณฑ์ การรับรองในส่วนของคาร์บอนเครดิต ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญในเรื่องของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ดังนั้นอุตสาหกรรมการผลิตของไทยก็ต้องปรับตัวกับเทรนด์นี้ถ้าอยากส่งสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม EU นอกจากนี้กระแสการสร้าง “อาคารสีเขียว” มีส่วนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การก่อสร้างไปจนถึงการใช้งานตัวอาคาร ทำให้ที่ผ่านมามีผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างหลายแบรนด์เข้ามาขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นต์สำหรับผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียนกันอย่างต่อเนื่อง”
 

 
นายฮิโรกิ นิชิยามะ ผู้จัดการระดับโลกด้านการตลาดศูนย์ข้อมูล Mitsubishi Electric Corporation ได้ส่งต่อภาพสำคัญของการสร้าง Net Zero Energy Building ที่เป็นไปได้ด้วยการบูรณาการทุกโซลูชันอัจฉริยะของ Mitsubishi Electric Corporation ว่า “SUSTIE หรือ Net Zero Energy Building (ZEB) เป็นอาคารที่ทาง Mitsubishi Electric Corporation ได้ออกแบบขึ้นเพื่อตอบสนองทั้งในเรื่องของการประหยัดพลังงานและสุขภาวะที่ดี สุขภาพ ตลอดจนความสะดวกสบายของผู้ที่อยู่ในอาคารนี้ไปในเวลาเดียวกัน ด้วยการวางระบบการประหยัดพลังงานในระดับสูง (High Energy Saving System) โดยในอาคารนี้ มีระบบการตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และยังมีการวางระบบอัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อควบคุมระบบเครื่องปรับอากาศให้ใช้งานได้อย่างคุ้มค่าที่สุด รวมถึงมีหน้าจอที่แสดงให้เห็นปริมาณการใช้พลังงานในตัวอาคาร ปริมาณพลังงานทดแทนที่สร้างขึ้นจากการใช้ Solar Panel ไปจนถึงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในอาคาร และถ้าตรวจพบว่ามีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ผิดปกติซึ่งอาจเกิดจากการมีคนจำนวนมากในห้องหรือพื้นที่นั้นๆ ทางผู้ดูแลอาคารก็จะทราบได้ทันที  จุดประสงค์ที่สร้าง SUSTIE ขึ้นมาก็เพื่อเร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบ ZEB (Net Zero Energy Building) และต้องการให้ SUSTIE เป็นต้นแบบของการพัฒนาและนำมาใช้กับโครงการอื่น ๆ ต่อไป  โดยจุดเด่นสำคัญของ SUSTIE ที่เป็นต้นแบบของ ZEB คือ จะต้องเป็นอาคารที่ใช้พลังงานลดลงจากอาคารปกติอย่างมาก และสามารถผลิตพลังงานเองโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งต้องมีความสมดุลระหว่างพลังงานที่ผลิตเองและพลังงานที่ใช้ไป ต้องบวกลบกันแล้วได้ค่าที่ศูนย์ โดยใช้จุดแข็งของ Mitsubishi Electric โดยการนำอุปกรณ์และระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการประหยัดพลังงานในระดับสูง อาทิ ระบบการระบายอากาศ Lossnay เพื่อลดความแตกต่างของอุณหภูมิที่วัดค่าจากอุณหภูมิในตัวอาคารและภายนอกอาคาร ระบบลิฟต์ Mitsubishi Electric นอกจากนั้นในส่วนของฮาร์ดแวร์ เราก็มีผลิตภัณฑ์คุณภาพที่จะช่วยให้ทุกภาคส่วนบรรลุจุดประสงค์ด้านการประหยัดพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 
นายจามร วงศ์สุขเสมอใจ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด กล่าวถึงไฮไลต์ของผลิตภัณฑ์และโซลูชันอัจฉริยะตอบสนองเทรนด์ Sustainability Building ว่า “ระบบปรับอากาศจะเป็นส่วนที่ใช้พลังงานมากที่สุดในอาคาร โดยเฉพาะเครื่องทำน้ำเย็น หรือ Chiller ซึ่ง มิตซูบิชิ  อีเล็คทริค กันยงวัฒนา ได้พัฒนาเครื่องทำน้ำเย็นที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นภายใต้แบรนด์ CLIMAVENETA ที่เป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่มของ Mitsubishi Electric ที่มีจุดเด่นอยู่ที่ ระบบ Oil Free Magnetic Bearing Centrifugal Chiller เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ใช้น้ำมันหล่อลื่นใน Chiller จึงมีประสิทธิภาพสูงกว่า Chiller แบบเดิม และทำความเย็นได้สูงสุดถึง 2,000 ตัน ด้วยองค์ประกอบของการใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอีกหนึ่งสินค้าที่เป็นสินค้าขายดี คือ ระบบปรับอากาศ VRF ซึ่งได้รับการพัฒนาจนเป็นโมเดลใหม่ล่าสุดปี 2024 ที่ได้รับการรับรองประสิทธิภาพจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 สามารถรักษาสิ่งแวดล้อมได้โดยการลดการปล่อยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 3,722 กิโลกรัมต่อปี”
 

 
นายปฤณวัชร ปานสิงห์ ผู้จัดการอาวุโสแผนกการตลาดบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงมุมมองในฐานะผู้นำในการเสนอโซลูชันอัจฉริยะให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย ว่า “ในส่วนของ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด นั้นดูแลในส่วนของระบบออโตเมชันที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม แต่ในการนำเสนอโซลูชันที่ดีที่สุดเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ไม่ได้มีการแยกกัน เพราะหัวใจสำคัญอยู่ที่การออกแบบและพัฒนาโซลูชันต่าง ๆ ที่จะมารองรับทุกปฏิบัติการที่เกิดขึ้นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net zero นี้ไปพร้อมกัน ผ่านการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนหรือ Co-creation เพื่อสร้างโซลูชัน สร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ ๆ เพื่อไปตอบสนองกับปัญหาต่าง ๆ บนความชำนาญของแต่ละส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรามีพันธมิตรกระจายอยู่ทั่วโลก จึงมีความมั่นใจได้ว่า ในมุมของเครือข่ายหรือ Collaboration ที่ทาง Mitsubishi Electric ได้ให้ความสำคัญและมีประสบการณ์ในเรื่องของการนำเสนอโซลูชันเพื่อตอบสนองกับเทรนด์ SDG มาอย่างยาวนานพอสมควร เพื่อสร้างอีโคซิสเตมใน Sustainability Building Collaboration ของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ”
 
 
ด้าน นายขจรศักดิ์ สุวัฒน์ธนากร กรรมการรองผู้จัดการ จาก บริษัท สยามคอมเพรสเซอร์อุตสาหกรรม จำกัด ได้กล่าวเสริมในมุมของนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนที่ SCI ตั้งใจสร้างขึ้นว่า “ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในด้านการขับเคลื่อนให้เกิดมิติของความยั่งยืนขึ้นในภาคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ให้เกิดขึ้นในทาง “แก้จุดอ่อน เสริมจุดแข็ง” โดยทาง SCI เอง ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนแนวทาง ESG โดยเฉพาะในด้าน Environment ซึ่งทาง SCI เป็นผู้นำในการติดตั้งโซลาเซลล์ 4.5 เมกะวัตต์ ลด Carbon Emission ได้ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ไปจนถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน และตอบโจทย์ Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียนและมีการพัฒนาสินค้าให้ประหยัดพลังงาน และล่าสุด เรากำลังจะเซ็น MOU กับภาครัฐบาล ที่จะมานำ Clean Energy ไปใช้ โดยเราตั้งเป้าว่าในปี 2030 SCI จะใช้ Clean Energy 100 เปอร์เซ็นต์”

 
ในภาคการเงิน การธนาคาร นางสาวแจ่มจันทร์ ศิริกาญจนาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย ESG finance ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ให้ข้อมูลด้านการสนับสนุนสินเชื่อ ไปจนถึงการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทยในการทำธุรกิจสีเขียวว่า “ด้วยเทรนด์การก่อสร้างอาคารสีเขียว ทางธนาคารฯ ก็เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถมาขอวงเงินสินเชื่อ Green Finance ได้ด้วย และการที่ธนาคารจะสนับสนุนธุรกิจให้ปรับตัวไปสู่ “ธุรกิจสีเขียว” ทางธนาคารก็ต้องมีข้อมูลที่วัดได้และประเมินได้เช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้ต้องอาศัยโซลูชันและเทคโนโลยีจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีวิสัยทัศน์ตรงกันในอีโคซิสเตมที่เราจะสร้างขึ้นนี้ เพื่อทำงานเสริมซึ่งกันและกัน นำสู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ที่ตั้งไว้ได้”

ส่วน นายเชวง เศรษฐพร ผู้บริหารฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริม ว่า “ความท้าทายของภาคการเงิน การธนาคาร คือ การผลักดัน SME ไทย ตระหนักรู้ในเรื่องการทำธุรกิจสีเขียวด้วยการเสริมด้วยการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ในทุกมิติที่เกี่ยวเนื่องกับการทำธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและร่วมลดการปลดปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ เดินหน้าสนับสนุนในเรื่องของ “การเงินเพื่อความยั่งยืน” ไม่ว่าจะเป็น กลไกการสนับสนุนสินเชื่อ การจัดโครงการต่างๆที่จะสนับสนุนให้ SME ไทย มีความรู้และความพร้อม เช่น การเปิดรับ SME ให้มาเรียนรู้ด้านความยั่งยืนผ่าน ESG Academy ของกรุงศรี เป็นต้น”

 
ดังนั้น ปี 2024 จึงเป็นปีแห่งการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน ในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงและบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยกลุ่ม Mitsubishi Electric เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่เป็นหนึ่งใน “บริษัทร้อยปี” ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1921 และขยายธุรกิจมาที่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 1964 ได้ผสานความร่วมมือกับบริษัทที่เป็นพาร์ทเนอร์คิดค้นและออกแบบโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน และตั้งใจที่จะส่งมอบโซลูชันนี้ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องผ่านการลงทุนด้านทรัพยากร ความคิดสร้างสรรค์ ความเชี่ยวชาญ เพื่อร่วมลดปริมาณคาร์บอน ก๊าซเรือนกระจก ให้กับลูกค้าอย่างได้ผล โดย Mitsubishi Electric Group ในประเทศไทย มีธุรกิจทั้งหมด 5 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ระบบอาคาร ระบบปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม  ชิ้นส่วนยานยนต์ และระบบพลังงาน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 พ.ย. 2567 เวลา : 11:49:50
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 3:26 pm