สำนักงาน กสทช. ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อทดลองทดสอบความเป็นไปได้ (Proof Of Concept : POC) ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ซึ่งเป็นการทดลองทดสอบเสมือนจริง โดยเป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐและเอกชน ในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนเจาะจงเฉพาะพื้นที่เกิดเหตุด่วน เหตุร้าย และภัยพิบัติทางธรรมชาติ พร้อมเชื่อมต่อกับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกราย เกี่ยวกับการดำเนินการในการพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) โดยแต่ละหน่วยงานจะมีการแบ่งหน้าที่การจัดการเพื่อให้เกิดระบบ Cell Broadcast และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งคาดว่าในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 ระบบ Cell Broadcast จะพร้อมใช้งานจริงได้ในบางพื้นที่ของประเทศ
ทั้งนี้หน่วยงานต่าง ๆ ได้แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะเป็นหน่วยงานหลักกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการส่งข้อความ การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร เรียกว่า ส่วนของ Cell Broadcast Entity (CBE)
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการในส่วนของระบบ Cloud Server และการเชื่อมต่อระหว่าง CBE และ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งดูแลโดยผู้ให้บริการโครงข่าย ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความแจ้งเตือนเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ในบริเวณพื้นที่ที่เกิดภัยพิภัย หรือเหตุด่วนเหตุร้าย
สำหรับในส่วนของ สำนักงาน กสทช. นั้น เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณให้แก่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย ทั้ง AWN TUC และ NT โดยใช้งบประมาณจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อให้เกิดระบบ Cell Broadcast ซึ่งการลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการทดลองทดสอบความเป็นไปได้ของระบบแจ้งเตือนภัย ถือเป็นการทดลองทดสอบเสมือนจริง
“สำนักงาน กสทช. มีความตั้งใจกับการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะเหตุด่วนเหตุร้าย หรือเหตุภัยพิบัติ เป็นความสูญเสียที่ใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตเป็นเรื่องพื้นฐานของเราทุกคน และก็ไม่รู้ว่าเหตุเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไร ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลผู้ประกอบการโทรคมนาคม เราพร้อมให้การสนับสนุน และอยากเห็นสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นการพัฒนาระบบพื้นฐานที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเกิดขึ้นกับประเทศของเรา” นายไตรรัตน์ กล่าว
ข่าวเด่น