ชายหาดบางแสน จังหวัดชลบุรี สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญอย่าง วันลอยกระทง ต้องเผชิญกับปัญหาขยะสะสมจำนวนมากจากกระทงและสิ่งของต่างๆ ที่ถูกทิ้งลงในทะเลและชายหาด แม้จะมีการรณรงค์ให้เลือกใช้วัสดุกระทงที่เหมาะสมกับแหล่งน้ำเพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงมีขยะบางส่วนที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
เพื่อร่วมฟื้นฟูสภาพแวดล้อมหลังคืนวันลอยกระทงบริเวณชายหาดบางแสน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) พร้อมด้วยมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และเทศบาลเมืองแสนสุข ได้จัดกิจกรรม “KKP VolunTeam: อาสาสมัครเก็บขยะริมชายหาด จัดการปลายทางขยะอย่างถูกต้อง” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 โดยมีพนักงานจิตอาสาของ KKP เข้าร่วมจำนวนกว่า 100 คน
นางสาวพัทนัย เหลืองตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสำนักสื่อสารองค์กรและการตลาด กล่าวว่า “KKP มีธุรกิจหลักเป็นสถาบันการเงิน แต่ก็ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นรากฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งส่งผลต่อทั้งเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน กิจกรรมนี้ไม่ใช่เพียงการเก็บขยะ แต่สร้างประโยชน์ในหลายด้าน ตั้งแต่การช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดยการป้องกันสัตว์ทะเลจากการกินหรือสัมผัสกับขยะที่อาจเป็นอันตราย การปรับปรุงทัศนียภาพของชายหาดบางแสนเพื่อให้คงความสวยงามและดึงดูดนักท่องเที่ยว การสร้างความตระหนักรู้ในหมู่พนักงานและผู้เข้าร่วมในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
ด้านพนักงานจิตอาสาของ KKP นายวีรพัทธ์ ตาใจ กล่าวถึงสิ่งที่ได้จากกิจกรรมนี้ว่า “เมื่อได้ลงมือเก็บขยะ เราได้เห็นถึงผลกระทบของขยะที่ไม่ถูกจัดการอย่างถูกต้องต่อธรรมชาติ ทำให้รู้สึกอยากช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และอยากส่งต่อแนวคิดนี้ไปยังคนรอบตัวให้มากขึ้น”
พบว่าสำหรับขยะกระทงในปัจจุบันมักใช้วัสดุสังเคราะห์ เช่น โฟมและพลาสติก ซึ่งย่อยสลายได้ยาก รวมถึงใช้เศษตะปูและวัสดุอันตรายในการยึดหรือตกแต่ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวและสัตว์ทะเล ขยะเหล่านี้จึงไม่เพียงทำลายความสวยงามของชายหาด แต่ยังส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทางทะเลโดยตรง เช่น สัตว์ทะเลกินขยะ เศษพลาสติก หรือสีที่ใช้ในกระทงบางประเภทอาจปล่อยสารเคมีปนเปื้อนน้ำทะเล ยิ่งไปกว่านั้น การจัดการขยะอย่างไม่ถูกวิธี ยังทำลายทรัพยากรธรรมชาติ จนประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกในแง่ของการปล่อยขยะพลาสติกลงทะเล ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องการการแก้ไขอย่างจริงจัง
กิจกรรมเก็บขยะครั้งนี้จึงมุ่งเน้นการจัดการขยะอย่างถูกวิธีและครบวงจร ผ่านกระบวนการ “คัดแยก ส่งคืน ใช้ประโยชน์สูงสุด เพื่อลดขยะหลุมฝังกลบ” โดยคัดแยกประเภทการเก็บขยะอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น เพื่อให้สามารถจัดการได้อย่างถูกวิธีและเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนี้
กลุ่มขวดพลาสติกใส ขวดแก้ว กระป๋อง และเศษเชือก แห-อวน นำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และ ฝาขวดพลาสติก ยางวง นำไป Upcycle ผ่านกลุ่มบางแสนคอลเลคชั่น
กลุ่มถุงพลาสติก ถุงหูหิ้ว ถุงขนม สายเดี่ยวแก้วน้ำ กล่อง-แก้วพลาสติก โฟม หลอด ช้อน/ส้อมพลาสติก รองเท้า ฟองน้ำ เศษยาง ส่งให้เทศบาล ส่งต่อไปเป็นขยะเชื้อเพลิง
เศษอาหาร เทศบาลส่งให้กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ ส่วนขยะอินทรีย์อื่น ๆ เช่น ลูกมะพร้าว เศษไม้ ตะเกียบไม้ ใบไม้ ใบตอง รวมทั้งกล่อง-ถ้วย-จานชานอ้อย เทศบาลนำไปทำปุ๋ย แจกจ่ายให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์
กลุ่มไฟแช็ค เศษพลุ ก้นบุหรี่ ขยะที่มีสารเคมี รวบรวมส่งให้เทศบาล ส่งต่อกำจัดอย่างถูกวิธี
ขยะที่เก็บได้จากกิจกรรมนี้มีน้ำหนักรวม 430 กิโลกรัม แบ่งเป็นขยะกระทง 345 กิโลกรัม วัสดุรีไซเคิล 75 กิโลกรัม และขยะที่จะต้องกำจัด 10 กิโลกรัม ซึ่งการคัดแยกและกำจัดขยะเหล่านี้อย่างถูกวิธี จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 87 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
กิจกรรม KKP VolunTeam: อาสาสมัครเก็บขยะริมชายหาด จัดการปลายทางขยะอย่างถูกต้อง เป็นอีกสิ่งที่สะท้อนถึงความร่วมกันระหว่างองค์กรเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น และชุมชนที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระยะยาว โดยไม่เพียงช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชายหาด แต่ยังส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมตระหนักถึงปัญหาขยะ อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในพื้นที่ร่วมกันปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ดี น้ำสะอาด และอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนรุ่นหลัง
ข่าวเด่น