กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยผลการจดทะเบียนธุรกิจใหม่สะสม 10 เดือน (มกราคม - ตุลาคม 2567) แตะ 7.7 หมื่นราย โตขึ้น 2.18% เฉพาะเดือนตุลาคม 2567 จดทะเบียน 7,267 ราย โตขึ้น 9% ปัจจัยสนับสนุนมาจากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะเริ่มในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 การจับจ่ายใช้สอยเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการยังขยายตัวในหลายภูมิภาค คาดตลอดปี 2567 จัดตั้งธุรกิจใหม่ทะลุ 9 หมื่นราย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์สถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนตุลาคม 2567 มีจำนวน 7,267 ราย เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้น 620 ราย (9.33%) และทุนจดทะเบียน 30,149.01 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้น 2,938.03 ล้านบาท (10.80%) ประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 573 ราย ทุน 1,150.87 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 524 ราย ทุน 1,954.06 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 345 ราย ทุนจดทะเบียน 671.39 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.88% 7.21% และ 4.75% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนตุลาคม 2567 ตามลำดับ
เดือนตุลาคม 2567 มีนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท ที่เกิดจากการควบรวมกิจการจำนวน 1 ราย ซึ่งเป็นการควบระหว่างบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) เดิม (ห้างแม็คโคร) กับบริษัท เอกชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (ห้างโลตัส) เป็น บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ใหม่ มูลค่าทุนจดทะเบียน 10,427.66 ล้านบาท ประกอบกิจการค้าส่งและค้าปลีก
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า “การจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 10 เดือน (มกราคม - ตุลาคม) ปี 2567 มีจำนวน 76,953 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 1,641 ราย (2.18%) ทุนจดทะเบียน 238,630.39 ล้านบาท ลดลง 282,952.67 ล้านบาท (54.25%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เนื่องจาก ปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์เพราะมี 2 ธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ ทั้งนี้ 10 เดือนปี 2567 มี ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 5,867 ราย ทุน 12,893.94 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 5,753 ราย ทุน 24,787.78 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 3,557 ราย ทุน 7,198.17 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.62% 7.48% และ 4.62% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2567 ตามลำดับ
สำหรับคาดการณ์การจดทะเบียนตลอดไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ยังมีปัจจัยกระตุ้นด้านการลงทุน อาทิ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานปีงบประมาณ 2568 ที่จะเริ่มในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 (ตุลาคม 2567) การจับจ่ายใช้สอยเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการยังขยายตัวในหลายภูมิภาค และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในสถานการณ์การประกอบธุรกิจ และความเชื่อมั่นในการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเพิ่มขึ้นช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการใช้จ่ายให้กับภาคเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ คาดว่าตลอดปี 2567 จะมีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เกิน 90,000 ราย
การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนตุลาคม 2567 มีจำนวน 2,516 ราย เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้น 276 ราย (12.32%) และทุนจดทะเบียนเลิก 9,899.41 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้น 945.17 ล้านบาท (10.56%) ประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 218 ราย ทุน 389.14 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 108 ราย ทุน 3,202.14 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 100 ราย ทุน 387.23 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.66% 4.29% และ 3.98% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนตุลาคม 2567 ตามลำดับ
ทั้งนี้ เดือนตุลาคม 2567 มีนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 ราย คือ บริษัท เอพี เอ็มอี 2 จำกัด ทุนจดทะเบียนเลิก 2,001.00 ล้านบาท ประกอบกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์การจัดการที่ดินเปล่า หรือจัดสรรที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารชุด
การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการสะสม 10 เดือน (มกราคม - ตุลาคม 2567) มีจำนวน 14,762 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ลดลง 488 ราย (3.20%) ทุนจดทะเบียนเลิกสะสม 125,904.66 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 35,549.79 ล้านบาท (39.34%) ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากในเดือนพฤษภาคม 2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร 1 ราย ที่ทุนจดทะเบียนกว่า 48,209.34 ล้านบาท แต่มีการปรับโครงสร้างการดำเนินการและไม่ได้ประกอบกิจการใดแล้วจึงจดทะเบียนเลิกธุรกิจ เป็นเหตุให้ตัวเลขทุนจดทะเบียนเลิกสะสมในช่วง 10 เดือน ปี 2567 สูงกว่าปกติ ซึ่งหากไม่รวมทุนจดทะเบียนเลิกของธุรกิจโทรคมนาคมรายนี้ มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิกจะลดลงถึง 14% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สำหรับธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 941,727 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.34 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 737,658 ราย (78.33%) ทุนรวม 16.15 ล้านล้านบาท (72.30%) ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 202,588 ราย (21.51%) ทุนรวม 0.47 ล้านล้านบาท (2.11%) และ บริษัทจำกัดมหาชน 1,481 ราย (0.16%) ทุนรวม 5.72 ล้านล้านบาท (25.59%)
เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) 879,414 ราย (93.38%) ทุนรวม 8.18 ล้านล้านบาท (36.60%) ขนาดกลาง (M) 46,386 ราย (4.93%) ทุนรวม 2.75 ล้านล้านบาท (12.31%) และ ขนาดใหญ่ (L) 15,927 ราย (1.69%) ทุนรวม 11.41 ล้านล้านบาท) (51.09%)
แยกตามประเภทธุรกิจ บริการ 507,786 ราย (53.92%) ทุนรวม 13.14 ล้านล้านบาท (58.81%) ขายส่ง/ปลีก 309,107 ราย (32.82%) ทุนรวม 2.50 ล้านล้านบาท (11.21%) และ ผลิต 124,834 ราย (13.26%) ทุน 6.70 ล้านล้านบาท (29.98%)
การลงทุนประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ 10 เดือน
ขณะที่ 10 เดือน (มกราคม - ตุลาคม 2567) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 786 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 181 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 605 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 161,169 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,037 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 211 ราย (27%) ลงทุน 91,700 ล้านบาท 2) สิงคโปร์ 110 ราย (14%) ลงทุน 14,779 ล้านบาท 3) จีน 103 ราย (13%) ลงทุน 13,806 ล้านบาท 4) สหรัฐอเมริกา 103 ราย (13%) ลงทุน 4,552 ล้านบาท และ 5) ฮ่องกง 57 ราย (7%) ลงทุน 14,461 ล้านบาท
การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ 10 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 251 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 141 ราย (เพิ่มขึ้น 128%) (เดือน ม.ค. - ต.ค. 67 ลงทุน 251 ราย / เดือน ม.ค. - ต.ค. 66 ลงทุน 110 ราย) มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 45,739 ล้านบาท คิดเป็น 28% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 27,148 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 146%) (เดือน ม.ค. - ต.ค. 67 เงินลงทุน 45,739 ล้านบาท / เดือน ม.ค. - ต.ค. 66 เงินลงทุน 18,591 ล้านบาท) เป็นนักลงทุนจาก *ญี่ปุ่น 86 ราย ลงทุน 16,184 ล้านบาท *จีน 59 ราย ลงทุน 8,030 ล้านบาท *ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 88 ราย ลงทุน 16,306 ล้านบาท
ส่วนใหญ่ลงทุนใน 1) ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ 2) ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย 3) ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่าง ๆ เพื่อติดตั้งระบบสายพานที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า 4) ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน (SOFTWARE PLATFORM) ซึ่งเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับจัดการการจำหน่ายหรือเผยแพร่ผลงานเพลง และ 5) ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ ชิ้นส่วนสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป, ชิ้นส่วนโฟมสำหรับอุตสาหกรรม เป็นต้น)
ธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ตัวช่วยรองรับเทรนด์ธุรกิจโลกอนาคต
การดำเนินธุรกิจในอนาคต ทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของภาคธุรกิจไทยที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ธุรกิจโลก รวมถึง สอดคล้องกับกฎระเบียบ/มาตรการทางการค้าใหม่ๆ ซึ่งต้องคำนึงถึงการสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง พบว่า ‘ธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม’ เป็นธุรกิจที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อภาคธุรกิจ และมีโอกาสเติบโตตามกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกฎระเบียบใหม่ๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้ความต้องการที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น
‘ธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม’ มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจและมูลค่าทุนจดทะเบียน ดังนี้ ปี 2564 จัดตั้ง 41 ราย ทุน 81 ล้านบาท ปี 2565 จัดตั้ง 44 ราย (เพิ่มขึ้น 3 ราย หรือ 7.32%) ทุน 57.26 ล้านบาท (ลดลง 23.74 ล้านบาท หรือ 29.31%) ปี 2566 จัดตั้ง 76 ราย (เพิ่มขึ้น 32 ราย หรือ 72.73%) ทุน 303.39 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 246.13 ล้านบาท หรือ 429.85%) ปี 2567 มกราคม - ตุลาคม จัดตั้ง 78 ราย ทุน 159.46 ล้านบาท
รายได้รวมของธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม 3 ปีย้อนหลัง (2564 - 2566) พบว่า ปี 2564 รายได้รวม 7,152.69 ล้านบาท ปี 2565 รายได้รวม 7,227.91 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 75.22 ล้านบาท หรือ 1.06%) ปี 2566 รายได้รวม 8,941.95 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,714.04 ล้านบาท หรือ 23.72%)
ขณะที่ผลประกอบการของธุรกิจ ปี 2564 กำไร 146.65 ล้านบาท ปี 2565 กำไร 375.99 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 229.34 ล้านบาท หรือ 156.39%) ปี 2566 กำไร 534.26 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 158.27 ล้านบาท หรือ 42.10%)
มูลค่าการลงทุนของต่างชาติที่ลงทุนในธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในนิติบุคคลไทย ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 แบ่งเป็น คนไทย 4,352.83 ล้านบาท (77.23%) และชาวต่างชาติ 1,283.05 ล้านบาท (22.77%) โดยต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 717.54 ล้านบาท (55.92%) 2) จีน 245.74 ล้านบาท (19.15%) และ 3) สหรัฐอเมริกา 76.89 บาท (5.99%) ทั้ง 3 สัญชาติส่วนใหญ่เน้นลงทุนในธุรกิจวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิต และปรับปรุงสินค้าให้สอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567) มีนิติบุคคลที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินกิจการอยู่ 728 ราย ทุนรวม 5,635.88 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) จำนวน 696 ราย (95.60%) ขนาดกลาง (M) 25 ราย (3.43%) และ ขนาดใหญ่ (L) 7 ราย (0.96%) ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด 698 ราย (95.88%) ทุน 5,605.43 ล้านบาท (99.46%) และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 30 ราย (4.12%) ทุน 30.45 ล้านบาท (0.54%)
‘ธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม’ จึงเป็นโอกาสใหม่ของธุรกิจไทยในปัจจุบัน ผู้สนใจอาจจำเป็นต้องเตรียมทักษะ บุคลากร และเทคโนโลยีด้านนี้ ขณะเดียวกัน การมีที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยให้มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันระดับโลก โดยธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านที่จำเป็นต่างๆ เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ รองรับสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสม ทั้งความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายในและระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถวางกลยุทธ์ได้อย่างถูกต้อง ความเชี่ยวชาญด้านกระบวนการผลิตและการพัฒนาสินค้า/บริการ วัตถุดิบทดแทน และห่วงโซ่อุปทานที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ และความเชี่ยวชาญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและผลกระทบภายหลังกระบวนการผลิต เช่น การบำบัดของเสีย การประเมินผลกระทบสังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย
#SuperDBD #กรมพัฒนาธุรกิจการค้า #กระทรวงพาณิชย์
ข่าวเด่น