บสย.เดินหน้าช่วย SMEs ทุกมิติ เร่ง Transforms องค์กร ขยายบทบาทช่วย SMEs ในประเทศ ไทย ด้วยการยกระดับกลไกค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะของ “การค้ำประกันตรงและจ่ายเคลมเป็นสัดส่วนรายฉบับ” เพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินกิจการของ SMEs แต่ละราย โดยจับมือกับทาง KODIT และ KOTEC สถาบันค้ำประกันสินเชื่อของเกาหลี ร่วมพัฒนา Credit Scoring Model ทั้งนี้ยอดค้ำประกันสินเชื่อ 10 เดือนของบสย. แตะ 43,228 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ 76,840 ราย เฉพาะโครงการ PGS 11 ค้ำประกันทะลุ 2 หมื่นล้าน ขยายกลุ่ม SMEs ที่ไม่เคยใช้บริการ บสย. ถึง 73% ขานรับนโยบายรัฐ ลุยแก้หนี้ให้ SMEs ที่ถูกจ่ายเคลมหนังสือค้ำประกัน ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย”
บสย.เร่ง Transforms องค์กรเพื่อขยายบทบาทช่วยเหลือ SMEs ไทย ด้วยแนวคิด TCG Fast & First รวดเร็ว รอบคอบ เป็นที่หนึ่งในใจ SMEs โดยใช้ Digital Technology เป็นตัวขับเคลื่อนในการเพิ่มศักยภาพการกู้ยืมของ SMEs ที่ บสย. ได้เตรียมขยายรูปแบบการค้ำประกันสินเชื่อ จากปัจจุบันที่ค้ำประกันและจ่ายเคลมเป็นรายพอร์ต (Portfolio Guarantee Scheme : PGS) สู่การค้ำประกันตรงและจ่ายเคลมเป็นสัดส่วนรายฉบับ (Direct and Individual Guarantee) โดย บสย.จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบการตรง ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Pricing)
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เปิดเผยว่า “เนื่องจากปัจจุบันนี้ ธนาคารพาณิชย์กำลังขอ License เรื่องของ Virtual Bank บสย. จึงต้องทำการประกันค้ำสินเชื่อให้อยู่ในระบบนิเวศของ Virtual Bank ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็น Micro เพราะฉะนั้น บสย. ต้องเอา Data เข้ามาวิเคราะห์ จากเดิมที่เราค้ำประกัน 100% หมดในทุกคนและจ่ายเคลมเป็นรายพอร์ต ก็เปลี่ยนมาเป็นการ ค้ำประกันเป็นรายคน และเคลมเป็นรายใบ หรือการค้ำประกันตรง และจ่ายเคลมเป็นสัดส่วนรายฉบับ เช่น หากมีการค้ำประกันอยู่ที่ 1 ล้านบาท จากฐานข้อมูลพบว่าบุคคลนี้มีหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท ถ้าเกิดการเสียหาย ก็สามารถมาเคลมกับทางบสย. ได้ ซึ่งอาจจะเป็นสัดส่วน 90% หรือ 80% ขึ้นอยู่แต่ละใบที่เข้าไปดู”
ซึ่งการเปลี่ยนจากการจ่ายเคลมเป็นรายพอร์ต มาเป็นการจ่ายเคลมเป็นรายฉบับนั้น ต้องอาศัยเครื่องมือ มาคำนวณคะแนนเครดิตค้ำประกันสินเชื่อ (Alternative Credit Scoring Model) ที่ทาง บสย.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Korea Credit Guarantee Fund (KODIT) และ Korea Technology Finance Corporation (KOTEC) สถาบันค้ำประกันสินเชื่อของเกาหลี เมื่อวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2567 โดย KOTEC เป็นสถาบันค้ำประกันสำหรับ Start-Up ที่มีเทคโนโลยีอย่าง KIBO Technology Rating System (KTRS) ที่สามารถวิเคราะห์การขยายขนาดธุรกิจ (Scale Up) ที่เหมาะสม และสามารถแนะนำการดำเนินการทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพสำหรับกลุ่ม Tech Startup ส่วน KODIT เป็นสถาบันค้ำประกันที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางทั่วไป ที่มีเทคโนโลยี KODIT Rating System หรือแบบจำลองทางการเงินที่สามารถวิเคราะห์และประเมินศักยภาพทางธุรกิจของ SME ได้ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทนี้จะเข้ามาร่วมพัฒนาเครื่องมือทางการเงินร่วมกับบสย. เพื่อยกระดับและพัฒนาการค้ำประกันสินเชื่อในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง เสริมสร้างกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีขึ้น และเพิ่มศักยภาพในการสนับสนุนทางการเงินให้กับ SMEs รวมทั้งยกระดับเครดิต การันตี โมเดล โดยใช้ข้อมูลทางเลือกอื่นๆ ของผู้ประกอบการ SMEs เช่นรูปแบบการใช้จ่าย และพฤติกรรมการชำระเงิน มาคำนวณคะแนนเครดิตค้ำประกันสินเชื่อ พร้อมนำโมเดลดังกล่าวไปใช้กับรูปแบบธุรกิจใหม่ พร้อมยกระดับการดำเนินงาน ตลอดจนการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือกลุ่มสตาร์ทอัพ
ทั้งนี้ข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณา จะเป็นประเภท Data ทางเลือก ที่ไม่ใช้ข้อมูลทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่จะนำข้อมูลด้านของพฤติกรรมของแต่ละบุคคลที่เข้ามาค้ำประกัน เช่น ลักษณะการจ่ายเงิน ว่ามีการจ่ายภาษีครบหรือไม่ มีการจ่ายค่าน้ำค่าไฟตรงเวลาหรือไม่ ซึ่งเป็นการรวมข้อมูลเชิงคุณภาพและปริมาณเข้าไว้ด้วยกัน ก่อนจะนำมาวิเคราะห์ ซึ่งจะช่วยขยายศักยภาพและสร้างความพร้อมของการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ที่ให้ความช่วยเหลือ SMEs ได้มากขึ้น ครอบคลุมความต้องการ SMEs ในทุกมิติของการค้ำประกันสินเชื่อ Credit Guarantee
“ด้วยการลงนาม MOU ระหว่าง บสย. กับทาง KODIT และ KOTEC จะสามารถแชร์กันได้ในมิติของข้อมูล ที่หากทางบสย. สามารถขอข้อมูลหน่วยงานบริษัทแม่ อย่างเช่น กรมสรรพากร มาเป็น Data ที่นำมาคำนวณในโมเดลได้ ก็คงเป็นการช่วยให้ ทั้ง Micro SMEs, SMEs บุคคลธรรมดา, SMEs นิติบุคคล และ Startup ที่อยู่ในระบบมีแต้มต่อและสามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องอ้างอิงต่อการจ่ายเคลมแบบพอร์ตอย่างที่ผ่านมา” นายสิทธิกร กล่าว
นอกจากนี้ การเร่ง Transforms องค์กร นั้น ยังมีการยกระดับในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการช่วยเหลือ SMEs ไทย และเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายภาครัฐรวมออกมาเป็น 4 มิติหลัก ดังนี้
1. ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม ครอบคลุมในทุกภูมิภาค โดยจากที่ทาง บสย. ได้จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูกร่วมกับธนาคารพาณิชย์ จึงได้เดินหน้ายกระดับสำนักงานสาขาทั่วประเทศทั้ง 11 สาขา เป็น “ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs” บูรณาการเข้ากับช่องทาง Digital LINE OA : @tcgfirst ที่เพิ่มความสะดวกให้ SMEs สามารถเข้ามาตรวจสุขภาพทางการเงิน พร้อมจองคิวขอรับคำปรึกษา และลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการต่างๆ ของ บสย. ได้ฟรี โดยการพัฒนาตรงนี้ ศูนย์ที่ปรึกษาสามารถที่จะแนะนำและส่งผ่านลูกค้าไปยังสถาบันการเงินได้ดีขึ้น โดยช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ คิดเป็น Success Rate จาก 3% ในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 18.32% ในปีนี้
2. ด้านการพัฒนาเครื่องมือโมเดลวิเคราะห์ความเสี่ยงในรูปแบบข้อมูลทางเลือก (Alternative Credit Scoring Model) พัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบ RBP ที่คิดค่าธรรมเนียมตามระดับความเสี่ยงของ SMEs รายบุคคล ช่วยผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันลดลงตามระดับความเสี่ยง โดยนำเครื่องมือ Credit Scoring มาใช้ในการพิจารณาค้ำประกันสินเชื่อ
3. ด้านการใช้ประโยชน์จาก Big Data ฐานข้อมูลการค้ำประกันสินเชื่อตลอดระยะเวลา 33 ปี มาวิเคราะห์ข้อมูลในมิติด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาโอกาสในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้มากยิ่งขึ้น ร่วมกับ Stakeholders ที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม
4. ด้านการใช้ Digital Disruption เป็นแรงขับเคลื่อนองค์กร เพื่อพัฒนาระบบงาน และบริการใหม่ ๆ ทางการเงินบน Virtual Banking
ในส่วนด้านผลดำเนินงาน 10 เดือนของปี 2567 ที่ผ่านมา (ม.ค. – ต.ค.) ของบสย. นั้น นายสิทธิกร เปิดเผยว่า มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 43,228 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้น 76,840 ราย ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มรายย่อย (Micro SMEs) ในสัดส่วนสูงถึง 90% ค้ำประกันเฉลี่ย 90,000 บาทต่อราย ที่เหลือ 10% เป็นกลุ่ม SMEs ค้ำประกันเฉลี่ย 4.78 ล้านบาทต่อราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 46,775 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 398,998 ตำแหน่ง และก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 177,056 ล้านบาท ภายใต้ 3 โครงการหลัก ได้แก่
1. โครงการตามมาตรการรัฐ วงเงิน 25,057 ล้านบาท คิดเป็น 58% ของยอดค้ำประกัน ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 71,570 ราย
2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) วงเงิน 9,893 ล้านบาท คิดเป็น 23% ของยอดค้ำประกัน ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 1,543 ราย
3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ดำเนินการโดย บสย. วงเงิน 8,278 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของยอดค้ำประกัน ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 4,481 ราย
สำหรับโครงการหลัก PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” ที่ บสย. ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 มียอดค้ำประกัน 20,131 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 19,039 ราย โดยคิดเป็นกลุ่มที่ไม่เคยใช้บริการ บสย. ถึง 73% ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Micro SMEs สะท้อนถึงความสำเร็จในการช่วยเหลือ “กลุ่มเปราะบาง” ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า อาชีพอิสระ ที่มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อ ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น และในสำหรับประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ภาคบริการ 28.8% 2. การผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 11.4% และ 3. อาหารและเครื่องดื่ม 10% ซึ่งทั้ง 3 อุตสาหกรรมมีสัดส่วนค้ำประกัน 50% สะท้อนถึงทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมหลักในประเทศ ที่ได้รับอานิสงส์จากความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ นายสิทธิกร ยังกล่าวว่า บสย. สำหรับการช่วยแก้หนี้ SMEs ที่ถือหนังสือค้ำประกันของ บสย. และถูกจ่ายเคลมจากสถาบันการเงิน ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2565 เป็นมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่ช่วยรักษาสภาพคล่องระหว่างที่เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้กับ บสย. ประสบผลสำเร็จในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อที่ถูกจ่ายเคลมไปแล้วถึง 16,577 ราย (ในปี 2567 ระยะเวลา 10 เดือน จำนวน 3,131 ราย) คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 10,636 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 33 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย.
ข่าวเด่น