พัฒนาการของโลกในยุคปัจจุบันที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น ทำให้มีนวัตกรรมต่าง ๆ ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างมากมาย ซึ่งได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน มีการ Normalize สิ่งใหม่ขึ้นมา รวมถึงยังเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดการสรรสร้างนวัตกรรมรูปแบบใหม่ออกมาเป็นทอด ๆ ในรูปแบบของการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือเป็น Solution ที่เข้ามาแก้ไข Pain Point อะไรบางอย่าง เพื่อให้เกิดการสอดรับกับวิถีประจำวันในปัจจุบัน
โดยหากเราย้อนไปมองในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีการเกิดพลวัตทางเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราอย่างรวดเร็ว และนับวันความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ยิ่งมีความรวดเร็วมากขึ้นที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น การเกิดขึ้นของแอปพลิเคชั่น Line ที่ทำให้รูปแบบการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงยังกระตุ้นให้เกิดนิยามรูปแบบใหม่ในลักษณะข้อความแชท หรือการเกิดขึ้นของ TikTok ก็ทำให้พฤติกรรมการรับและส่งสารของมนุษย์มีความเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
เช่นเดียวกับวิวัฒนาการทางการเงิน ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรม และวิถีชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยความเป็นดิจิทัลมากขึ้น จากแต่ก่อนที่เราใช้เงินกระดาษในการจับจ่ายซื้อของ พอเข้าสู่ยุคที่อินเตอร์เน็ตเข้ามา ผู้คนมีการติดต่อสื่อสารได้กว้างขวางขึ้น ก็ทำให้เกิดตลาดทางออนไลน์ ที่เชื่อมระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายให้ใกล้กันมากกว่าเดิม โดยเริ่มแรกผู้ซื้อจะต้องชำระเงินผ่านการโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มเท่านั้น แต่ต่อมาก็เกิดการพัฒนาแอปพลิเคชั่นธนาคารที่สามารถทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์ได้ ซึ่งการพัฒนาตรงนี้มีความสัมพันธ์ควบคู่ไปกับพัฒนาการของโทรศัพท์มือถือ ที่สมาร์ทโฟนได้ถือกำเนิดขึ้นมา และต่อจากนั้นก็มีนวัตกรรมทางการเงินที่ผุดขึ้นมาอำนวยความสะดวกเรื่อย ๆ เช่น ระบบชำระเงิน QR Code Payment, Promptpay, ผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการให้สินเชื่อรูปแบบใหม่ ๆ มากมาย ไปจนถึง เหรียญคริปโตและสกุลเงินดิจิทัล
โดยพัฒนาการทางการเงินที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจนเข้าสู่ยุคของเงินดิจิทัลในปัจจุบันนี้ มีความสอดรับเข้ากับเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังมีการขยายขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเช่นในประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนนั้น 44% ของ GDP ก็มาจากเศรษฐกิจดิจิทัล และการที่โลกตอนนี้อยู่ระหว่างการแบ่งฝ่ายทางอำนาจ ที่จีนกำลังแข่งขันกับทางสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้ทุกประเทศทั่วโลก เข้าสู่ภาคบังคับที่ต้องทำให้เศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ทั้งการเพิ่ม Skillset ใหม่ ๆ พัฒนาอุตสาหกรรมที่หลากหลายโดยเฉพาะเรื่องของการใช้เทคโนโลยีมาอยู่ในกระบวนการดำเนินงาน ไปจนถึงการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อทำให้ประเทศเข้าสู่ความเป็น Advanced Economy หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว อันเป็นการก้าวร่วมตามครรลองของโลกในยุคดิจิทัล ซึ่งแน่นอนว่าสถาบันการเงินก็จำเป็นต้องเกิดการพัฒนาตามไปด้วย เปรียบได้กับ Hardware และ Software ที่ต้องพัฒนาร่วมไปด้วยกัน (เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของตลาดในโลกออนไลน์และแอปพลิเคชั่นธนาคารที่ได้กล่าวไปข้างต้น) ฉะนั้นเงินก็จะต้องอยู่ในรูปแบบดิจิทัลตามไปด้วย
โดยเหตุผลสนับสนุนที่ชี้ชัดว่า เงินกระดาษกำลังเดินทางมาถึงยุคสิ้นสุดแล้ว คือ การที่สังคมโลกกำลังดำเนินมาถึงการเปิดรับ Bitcoin ในฐานะ Digital Gold โดยได้รับอิทธิพลอย่างมากจากนโยบายของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐ ที่สนับสนุนให้รัฐบาลใช้ Bitcoin มาเป็นทุนสำรองของประเทศ โดยมีแผนให้รัฐบาลซื้อสะสม Bitcoin จำนวน 1 ล้าน BTC หากการประกาศซื้ออย่างเป็นทางการมาถึง ก็จะเป็นเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดแรงซื้อหรืออุปสงค์อันมหาศาล จากทั้งรัฐบาลประเทศอื่น ๆ และสถาบันทางการเงินทั่วโลก ซึ่งการเปิดรับสกุลเงินดิจิทัลนี้ จะส่งแรงกระเพื่อมให้เกิดสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ มากมาย (เนื่องจากมีการการันตีแล้วว่า Bitcoin เป็น Digital Gold ที่สามารถนำมา Back Up มูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลนั้น ๆ เอาไว้ได้)
นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่ทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหมดแล้ว ในวงการการเงินที่อยู่ในระบบนิเวศของโลกเดียวกัน ก็มีแนวโน้มที่การตัดไม้มาทำเป็นเงินกระดาษจะสิ้นสุดในอีกไม่ถึง 10 ปีต่อจากนี้
ข่าวเด่น