การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
4 จังหวัดภาคใต้เดินหน้าควบคุมปลาหมอคางดำ ปล่อยปลานักล่าฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งน้ำ


กรมประมงเดินหน้าบูรณาการควบคุมการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ โดยประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ด้วยการปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาวซึ่งเป็นผู้ล่าตามธรรมชาติลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อลดจำนวนลูกปลาและจำกัดวงการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ มุ่งสร้างสมดุลและความยั่งยืนของทรัพยากรประมงในพื้นที่

 
นับตั้งแต่ สำนักงานประมงจังหวัดต่างๆ มีการดำเนินแผนปฏิบัติการเชิงรุกเร่งจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทุกจังหวัดจับเจอปลาหมอคางดำขนาดเล็กลง จำนวนปลาที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ หรือปลาตัวใหญ่ลดลง กรมประมงจึงเดินหน้าปล่อยปลานักล่าลงแหล่งน้ำ โดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมสนับสนุนลูกพันธุ์ปลากะพงขาว ตามเป้าหมายสนับสนุนปลานักล่า 200,000 ตัวให้กรมประมงเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในจังหวัดต่างๆ 
 
 
นายธัชชัย อุบลไพศาล ประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สถานการณ์ของปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานียังสามารถควบคุมได้ ไม่ให้ปลาหมอคางดำขยายวงออกไปพื้นที่อื่นๆ ได้ การจัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” ครั้งหลังๆ ปลาหมอคางดำจับได้น้อยลง และปลามีขนาดเล็ก นอกจากนั้นยังสามารถพบปลาพื้นถิ่นหลายชนิด จึงประเมินได้ว่าระบบนิเวศมีความสมดุล 

 
อย่างไรก็ตาม จังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหา มีการปรับแผนปฏิบัติการในการป้องกันปลาหมอคางดำไม่ให้ระบาดไปมากกว่านี้ ได้แก่ ประมงจังหวัดเตรียมหาแนวทางขยายพันธุ์ปลานักล่าเองเพื่อจะช่วยเพิ่มปลานักล่าในแหล่งน้ำได้มากขึ้น ทั้งนี้ จังหวัดได้ร่วมกับซีพีเอฟ หน่วยงานในพื้นที่ ผู้นำชุมชน และประชาชนปล่อยปลานักล่าลงสู่แหล่งน้ำ 2 ครั้งรวม 10,000 ตัว ร่วมกันปล่อยลูกปลากะพงขาว 5,000 ตัวสู่แหล่งน้ำในพื้นที่อำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา อำเภอท่าฉาง   

 
 
ด้าน นายกอบศักดิ์ เกตุเหมือน ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับความร่วมมือที่ดีจากทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ชุมชน และเกษตรกรในการกำจัดปลาหมอคางดำ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดการบริโภคปลาหมอคางดำมากขึ้น ผ่านการนำปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นอาหารหลากหลายเมนู  ขณะนี้ความหนาแน่นของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำลดลง โดยในแหล่งน้ำธรรมชาติพบลูกปลาหมอคางดำ และปลาชนิดอื่นร่วมด้วย จึงร่วมมือกับซีพีเอฟนำปลากะพงขาวปล่อยลงสู่แหล่งน้ำที่พบการแพร่ระบาด เพื่อควบคุมและลดการแพร่ระบาดในพื้นที่อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร 

 
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังสนับสนุนปลากะพงขาวแก่ประมงจังหวัดพัทลุง 8,000 ตัวเพื่อในแหล่งน้ำธรรมชาติ 5 จุดในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอชัยสน และอำเภอปากพะยูน รวมทั้งสนับสนุนประมงจังหวัดสงขลาปล่อยปลานักล่า 10,000 ตัว และประมงจังหวัดจันทบุรีอีก 2,000 ตัว เพื่อเป็นแนวกันชนป้องกันปลาหมอคางดำ รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับแหล่งน้ำในธรรมชาติควบคู่กัน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 พ.ย. 2567 เวลา : 20:02:49
04-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 4, 2024, 3:18 pm