นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครที่มีอัตราค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 สูง ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก ในฐานะหน่วยงานที่กำกับ ดูแล การขนส่งทางถนนให้มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินแผนป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากภาคคมนาคมขนส่งมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าผ่านมาตรการทางภาษีประจำปีและจัดเจ้าหน้าที่กองตรวจการลงพื้นที่ตรวจควันดำจากรถบรรทุกและรถโดยสารทั่วประเทศ รวมถึงบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานครจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ออกตรวจสอบ การดำเนินงานของสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีแผนจะกำหนดเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Low Emission Zone) ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะห้ามรถโดยสารและรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป (ยกเว้นรถที่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรองอากาศ รถโดยสารและรถบรรทุก ประเภท EV,NGV, EURO 5–6,) ขับเข้าไปในพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกตามระยะเวลาที่กรุงเทพมหานครกำหนด จำนวน 9 เขต ได้แก่ ดุสิต พญาไท พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ คลองสาน สาทร ปทุมวัน บางรัก เพื่อลดมลพิษและฝุ่น PM 2.5 ในเขตกรุงเทพชั้นในที่มีการจราจรหนาแน่น และมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 สูง และเพื่อลดปัจจัยต้นตอสำคัญของมลพิษและลดความอันตรายต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ โดยกรมการขนส่งทางบกแนะนำผู้ประกอบการรถโดยสารและรถบรรทุกที่มีความจำเป็นต้องนำรถเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าว ต้องบำรุงรักษารถโดยดำเนินการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรองอากาศ หรือติดตั้งตัวกรองอนุภาคไอเสียดีเซล พร้อมทั้งต้องลงทะเบียนบัญชีสีเขียว (Green List) ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถลงทะเบียน ผ่าน QR CODE (ดังแนบ) หรือ https://bit.ly/47RK0Yy?r=qr ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยตั้งแต่วันที่ 1 – 19 พ.ย. 67 มีรถบรรทุก 6 ล้อ ที่ลงทะเบียนบัญชีสีเขียวแล้ว จำนวน 1,822 คัน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร 0 2203 2951
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า แนะนำผู้ประกอบการขนส่งตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อยู่เสมอเพื่อลดการปล่อยมลพิษ ดังนี้ 1. เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและเปลี่ยนไส้กรองอากาศตามกำหนดเวลา 2. ทำความสะอาดหม้อกรองอากาศอย่างสม่ำเสมอ 3. ตรวจสอบการทำงานของเครื่องยนต์เป็นประจำ 4. ตรวจสอบและปรับตั้งหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้ฉีดน้ำมันได้เป็นฝอยละอองละเอียด 5. ตรวจสอบและทำความสะอาดระบบน้ำมันเชื้อเพลิง 6. กรณีใช้รถบรรทุกที่ไม่มีหลังคาต้องจัดให้มีผ้าใบคลุมหลังคาที่มีสภาพเหมาะสมและสมบูรณ์ ไม่ฉีกขาดหรือไม่มีรอยรั่วมาปกคลุมสัตว์หรือสิ่งของที่บรรทุกให้มิดชิดตลอดระยะเวลาและตลอดเส้นทางการขนส่งสินค้า เพื่อป้องกันสินค้าหรือเศษวัสดุตกหล่น รั่วไหล ส่งกลิ่น ส่องแสงสะท้อน หรือปลิวไปจากรถ อันอาจก่อเหตุเดือดร้อน รำคาญ และทำให้ทางสกปรก เปรอะเปื้อน และเสื่อมเสียสุขภาพอนามัยแก่ประชาชน หรือก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน หรือก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5
ทั้งนี้ กรมฯ จะดำเนินการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เช่น จัดผู้ตรวจการออกตรวจวัดควันดำจากท่อไอเสียของรถบรรทุกและรถโดยสารบนถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศตามมาตรฐานการตรวจวัดค่าควันดำจากท่อไอเสียของรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อให้การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม
ข่าวเด่น