เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Krungthai COMPASS วิเคราะห์ "ส่งออกเดือน ต.ค. เร่งตัว 14.6%YoY มองสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกแผ่ว อาจกดดันส่งออกปีหน้า"


มูลค่าส่งออกเดือน ต.ค. เร่งตัว 14.6%YoY เทียบจากที่ขยายตัว 1.1%YoY เมื่อเดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม รวมถึงสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวดี ด้านการนำเข้าโตเร่งขึ้นเป็น 15.9%YoY ส่วนดุลการค้าขาดดุล 794.4 ล้านดอลลาร์ฯ

 
การส่งออกที่เร่งตัวขึ้นมาก เป็นผลจากการขยายตัวสูงของยอดส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในช่วงวัฏจักรขาขึ้น รวมถึงผลจากฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัญหาการชะงักงันด้านอุปทานที่เกิดขึ้นหลังกลุ่มกบฏฮูตีโจมตีเรือสินค้า อีกทั้งปัจจัยชั่วคราวในการเร่งส่งออกสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯระลอกใหม่ มองต่อไปในช่วงปี 2568 การค้าโลกและการส่งออกของไทย ยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจของประเทศหลักที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง

มูลค่าส่งออกเดือนตุลาคม 2567 ขยายตัว 1.1%YoY
 
มูลค่าส่งออกเดือน ต.ค. อยู่ที่ 27,222.1 ล้านดอลลาร์ฯ แตะระดับสูงสุดในรอบ 19 เดือน เร่งตัว 14.6%YoY เทียบจาก 1.1%YoY ในเดือนก่อน ทั้งนี้การส่งออกสินค้าทั้งกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกทองคำในเดือนนี้เร่งตัวถึง 169.3%YoY ทำให้เมื่อหักทองคำแล้วมูลค่าส่งออกเดือนนี้จะอยู่ที่ 9.1%YoY สำหรับการส่งออก 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 4.9%YoY 
 
ด้านการส่งออกรายสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว
 
• การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 18.7%YoY เร่งตัวสูงเมื่อเทียบจากเดือนก่อนที่เติบโตได้ 2.0%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ยังขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+77.5%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+44.9%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+43.0%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+27.2%) และหม้อแปลงไฟฟ้า (+23.1%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (-34.7%) รถยนต์ (-23.6%) น้ำมันสำเร็จรูป (-21.4%) และอัญมณีและเครื่องประดับ (-1.8%) เป็นต้น 
 
• การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 7.2%YoY เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่เติบโตได้ 3.5%YoY โดยสินค้าเกษตรขยายตัวดีขึ้นเป็น 6.8%YoY เทียบจากเดือนก่อนที่เติบโตเพียง 0.2%YoY สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่องที่ 7.6%YoY แม้จะชะลอลงเล็กน้อยจาก 7.8%YoY เมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา (+32.6%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+28.0%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+26.7%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+18.2%) และไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป (+12.4%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (-46.2%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-30.6%) น้ำตาลทราย (-12.8%) และผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (-3.3%) เป็นต้น
 
 
ด้านการส่งออกรายตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว
 
• สหรัฐฯ : ขยายตัว 25.3%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น (ส่งออก 10 เดือนแรกขยายตัว 13.8%)  
 
• จีน : กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งที่ 8.5%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และเม็ดพาสติก เป็นต้น (ส่งออก 10 เดือนแรกขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.8%)  
 
• ญี่ปุ่น : เติบโต 7.0%YoY กลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 9 เดือน ทั้งนี้สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไก่แปรรูป และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ และะเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เป็นต้น (ส่งออก 10 เดือนแรกหดตัว 7.3%)  
 
• EU27 : ขยายตัว 22.1%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออก 10 เดือนแรกขยายตัว 9.3%)  
 
• ASEAN-5 : กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งที่ 6.8%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ น้ำมันสำเร็จรูป และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น (ส่งออก 10 เดือนแรกขยายตัวเล็กน้อย 0.4%)  
มูลค่าการนำเข้าเดือน ต.ค. อยู่ที่ 28,016.4 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 15.9%YoY เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่เติบโต 9.9%YoY โดยการนำเข้าสินค้าทุน (+25.7%YoY) สินค้าอุปโภคบริโภค (+16.2%YoY) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+13.9%YoY) รวมทั้งสินค้าเชื้อเพลิง (+22.2%YoY) ต่างขยายตัว ขณะที่การนำเข้าสินค้ายานพาหนะฯ (-22.1%YoY) ยังหดตัวต่อเนื่อง ส่วนดุลการค้าเดือน ต.ต. ขาดดุล 794.4 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ดุลการค้า 10 เดือนแรกของปีขาดดุล 6,751.2 ล้านดอลลาร์ฯ
 
 
 
Implication:
 
• การเร่งตัวสูงของการส่งออกในเดือน ต.ค. อาจเป็นปัจจัยชั่วคราว ขณะที่การค้าโลกระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะสงครามการค้าที่รุนแรงจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯระลอกใหม่ มูลค่าการส่งออกที่เร่งตัว 14.6%YoY สูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 5.2% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวสูงของมูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่ม Hard Disk Drive แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงขาขึ้นตามกระแสความต้องการใช้งานปัญญาประดิษฐ์และการจัดเตรียมดาต้าเซ็นเตอร์ การขยายตัวสูงดังกล่าวยังเป็นผลจากฐานการส่งออกที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน (มูลค่าส่งออกเดือน ต.ค. 66 และค่าเฉลี่ยไตรมาส 4/66 อยู่ที่ 23,579 และ 23,283 ล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ) จากภาวะชะงักงันด้านอุปทานที่เกิดขึ้นภายหลังการโจมตีเรือสินค้าผ่านทะเลแดงของกลุ่มกบฏฮูตี นอกจากนี้ ยังมีแรงกระตุ้นที่สำคัญจากปัจจัยชั่วคราวในการเร่งส่งออกสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการปรับเพิ่มราคาสินค้า ก่อนที่มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯระลอกใหม่ตามนโยบายของว่าที่ ปธน.ทรัมป์ จะทยอยมีผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการปรับขึ้นภาษีนำเข้าต่อสินค้าจากประเทศจีนในอัตรา 60% และสินค้าจากประเทศอื่นในอัตรา 10-20% สะท้อนจากการส่งออกสินค้าของหลายชาติในเอเชียที่เร่งตัวขึ้นในเดือน ต.ค. อาทิ จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน นำโดยสินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเอเชียเป็นฐานการผลิตสำคัญ มองต่อไปในช่วงปี 2568 การค้าโลกและการส่งออกของไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทั้งจากฝั่งสหรัฐฯและการตอบโต้โดยประเทศคู่ค้า รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจของประเทศหลักที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอาจปรับลงช้ากว่าคาด ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะกระทบต่อกำลังซื้อของตลาดส่งออกสำคัญต่อไปในระยะข้างหน้า   
 
 
ฉมาดนัย มากนวล
Krungthai COMPASS 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 พ.ย. 2567 เวลา : 14:08:27
27-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 27, 2024, 5:47 am