การส่งออกเดือน ต.ค. 2024 โตดี 14.6% เกินกว่าคาดต่อเนื่อง
มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ต.ค. 2024 อยู่ที่ 27,222.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.6%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน) เร่งตัวขึ้นมากจาก 1.1% ในเดือนก่อน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ (SCB EIC ประเมินไว้ 5% ขณะที่ Reuter Poll มีค่ากลางของการคาดการณ์ 5.2%) หรือหากไม่รวมทองคำจะขยายตัว 9% ทำให้ภาพรวมมูลค่าการส่งออกไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 250,398 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 4.9% (ตัวเลขระบบศุลกากร)
ภาพรวมการส่งออกไทยกลับมาร้อนแรงอีกครั้งหลังจากชะลอตัวในเดือนก่อน สะท้อนจากตัวเลขมูลค่าการส่งออกไทยเทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาลที่ขยายตัวมากถึง 3.9%MOM_SA จาก (1) มูลค่าการส่งออกทองคำกลับมาขยายตัวสูงถึง 169.3% หลังจากหดตัวในเดือนก่อน (ทองคำมีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกเดือนนี้เพิ่มขึ้นมากถึง 6.3%) คาดว่าเป็นผลจากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นและความต้องการทองคำเพื่อรองรับความเสี่ยงของโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความต้องการสะสมทองคำของธนาคารกลางต่าง ๆ (2) วัฏจักรขาขึ้นของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ขยายตัวมากถึง 88.3% และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ขยายตัว 46.3% (สินค้ากลุ่มนี้มีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกเดือนนี้เพิ่มขึ้นมากถึง 4.1%) และ (3) ปัจจัยฐานต่ำ มูลค่าการส่งออกเดือน ต.ค. ปีก่อนอยู่ที่ 23,753.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่อนข้างต่ำ หากเทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งปี 2023 และค่าเฉลี่ยเดือน ต.ค. ในอดีต
การส่งออกเดือนนี้ขับเคลื่อนโดยสินค้าอุตสาหกรรม ขณะที่สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัว
หากพิจารณาสินค้าส่งออกรายหมวด พบว่า (1) สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวสูง 18.6% จาก 2% ในเดือนก่อน ซึ่งขยายตัว 7 เดือนติดต่อกัน โดยทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล และผลิตภัณฑ์ยางเป็นสินค้าหลักที่ขยายตัวได้ ขณะที่รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอดเป็นสินค้าหลักที่หดตัว (2) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัว 7.6% ใกล้เคียงเดือนก่อน โดยอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และผลไม้กระป๋องและแปรรูปเป็นสินค้าที่ยังขยายตัวดี ขณะที่ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์และน้ำตาลทรายเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว (3) สินค้าเกษตรขยายตัว 6.8% เร่งขึ้นมากจาก 0.2% ในเดือนก่อน เติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยยางพาราและข้าวเป็นสินค้าหลักที่ขยายตัวได้ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว และ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัวน้อยลงเหลือ -22.2% จาก -24.9% ในเดือนก่อนตามการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังหดตัวมากถึง -21.4% จากราคาน้ำมันที่หดตัว -16.5%YOY ในเดือนนี้ (รูปที่ 1 และ 2)
ตลาดสหรัฐฯ ยุโรป และอินเดียยังขยายตัวดี ตลาดญี่ปุ่นกลับมาขยายตัว
หากพิจารณาการส่งออกรายตลาดหลัก พบว่า (1) ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวสูง 25.3% และครอบคลุม 9 จาก 10 สินค้าสำคัญที่ส่งออกไปสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และกลุ่มเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยกเว้นอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอดที่หดตัว (2) ตลาดยุโรปขยายตัว 27.3% ค่อนข้างทั่วถึง 7 จาก 10 สินค้าสำคัญที่ส่งออกไปยุโรป นำโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่ขยายตัวถึง 127% (3) ตลาดอินเดียกลับมาขยายตัว 14% หลังจากชะลอตัวลงเหลือ 2.2% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ เครื่องจักรกล และเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ขยายตัวมากถึง 381.7%, 199.8%, 191.6% และ 131.9% ตามลำดับ ทั้งนี้เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ยางก็พลิกกลับมาขยายตัว 72.9% และ 40.2% ตามลำดับ หลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า และ (4) ตลาดญี่ปุ่นพลิกกลับมาขยายตัว 7% ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน โดยสินค้าส่งออกสำคัญไปญี่ปุ่นกลับมาขยายตัว 12 จาก 15 รายการ โดยเฉพาะ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปและผลิตภัณฑ์ยางที่กลับมาขยายตัวมากถึง 21.6% และ 16.4% หลังจากที่หดตัว -11.0% และ -2.4% ในเดือนก่อน ตามลำดับ ทั้งนี้ส่งออกยางพารายังคงโตต่อเนื่อง 12 เดือนที่ 155.8%
สำหรับตลาดอื่น ๆ พบว่ายังมีความผันผวนต่อเนื่องจากการส่งออกทองคำ โดยเฉพาะตลาดสวิตเซอร์แลนด์ อาเซียน และฮ่องกง โดยมูลค่าการส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวถึง 127.1% สาเหตุหลักเพราะการส่งออกทองคำขยายตัวมากถึง 164.4% ตลาดอาเซียน 5 และ CLMV ขยายตัว 6.8% และ 27.9% ตามการส่งออกทองคำไปสิงคโปร์และกัมพูชาที่ขยายตัวมากถึง 210.2% และ 431.4% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปฮ่องกงหดตัว -24.2% ตามการส่งออกทองคำไปฮ่องกงที่หดตัว -68% เป็นสำคัญ
ดุลการค้ากลับมาหดตัวหลังเกินดุล 2 เดือนติดต่อกัน
มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน ต.ค. อยู่ที่ 28,016.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัว 15.9% ขยายตัวสูงติดต่อกัน 5 เดือน โดยการนำเข้าสินค้าทุน สินค้าเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวสูง 25.7% 22.2% 16.2% และ 13.9% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งยังคงหดตัว -22.1% รุนแรงน้อยสุดในรอบครึ่งปี ดุลการค้าระบบศุลกากรเดือน ต.ค. ขาดดุล -794.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2024 ดุลการค้าไทยขาดดุล -6,751.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
SCB EIC เพิ่มประมาณการส่งออกปีนี้ตามข้อมูลจริง แต่ปรับลดประมาณการปี 2025
SCB EIC ปรับเพิ่มประมาณการส่งออกไทยปี 2024 เป็น 3.9% จากเดิม 2.6% (ตัวเลขระบดุลการชำระเงิน, มุมมอง ณ พ.ย. 2024) โดยได้รับแรงสนับสนุนจาก
1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกปี 2024 ขยายตัวตามคาด เศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มขยายตัว 2.7% ตามประมาณการเดิม (รูปที่ 4 ซ้าย) ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มเติบโตกว่าประมาณการเดิมขององค์การการค้าโลก (WTO) ใกล้เคียงอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลก (รูปที่ 4 ขวาบน) แม้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) จะยังคงตัวเลขคาดการณ์ปริมาณการส่งออกเดิมไว้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ทยอยลดลง ซึ่งช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในตลาดโลก (รูปที่ 4 ซ้าย)
2) ข้อมูลจริงของการส่งออกไทยดีกว่าคาดต่อเนื่อง โดยเฉพาะเดือน ต.ค. ที่ขยายตัวมากถึง 14.6% สูงกว่าที่ตลาดคาด จากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น ส่งผลให้มูลค่าส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2024 ขยายตัวถึง 4.9% (ตัวเลขระบบศุลกากร)
3) ในช่วงที่เหลือของปี 2024 การส่งออกไทยมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้นและอุปสงค์ต่างประเทศที่อาจเร่งตัวขึ้นจากความกังวลว่า ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ จะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มปีหน้า ทำให้มีการเร่งซื้อสินค้าไว้ก่อน ประกอบกับปัจจัยฐานที่ค่อนข้างต่ำจากช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023
อย่างไรก็ตาม SCB EIC ปรับลดประมาณการส่งออกปี 2025 เหลือ 2.0% (เดิม 2.8%) จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไป
1. ปริมาณการค้าโลกปี 2025 มีปัจจัยเสี่ยงด้านลบมากขึ้น โดยองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ปรับลดประมาณการปริมาณการค้าเหลือเพียง 3% จากเดิม 3.3% แม้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ยังคงคาดการณ์เดิม (รูปที่ 4 ขวาล่าง) แต่ทั้งสามหน่วยงานต่างกังวลปัจจัยเสี่ยงปีหน้า เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายเศรษฐกิจไม่แน่นอน ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และ China-overcapacity ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะเข้มงวดขึ้น สะท้อนจากการประเมินล่าสุดของ WTO (รูปที่ 5) ที่แสดงปัจจัยเสี่ยงด้านบวกที่ลดลงมากเทียบผลประเมินครั้งก่อน ขณะที่ปัจจัยด้านลบเพิ่มสูงขึ้น (ยังไม่รวมผลของนโยบาย Trump 2.0)
2. เศรษฐกิจโลกในปี 2025 จะเผชิญความท้าทายจากนโยบาย Trump 2.0 ทำให้มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงเหลือ 2.5% (เดิม 2.8%) เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจสำคัญเกือบทุกประเทศมีแนวโน้มเติบโตต่ำลง โดยเฉพาะจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย (รูปที่ 4 ซ้าย) ภายใต้สมมติฐาน SCB EIC ที่ประเมินว่า สหรัฐฯ จะขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนเฉลี่ย 20pp (percentage points) และสินค้าประเทศอื่นเฉลี่ย 10pp ขณะที่ประเทศอื่นจะตอบโต้สหรัฐฯ กลับในอัตราภาษีเท่ากัน อีกทั้ง ด้านยุโรปกับจีนจะขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันเฉลี่ย 10pp (ทั้งนี้การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจะแตกต่างกันระหว่างกลุ่มประเทศและประเภทสินค้า) กดดันเศรษฐกิจและการค้าโลกโดยตรง นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังจะดำเนินนโยบายกีดกันผู้อพยพ ซึ่งจะกระตุ้นให้ยุโรปดำเนินนโยบายในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ประเทศต่าง ๆ จะทำการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากนโยบาย Trump 2.0
3. นโยบาย Trump 2.0 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสุทธิของไทย โดยประเมินการส่งออกสุทธิไทยจะลดลงจากจากกรณีที่ไม่มีนโยบาย Trump 2.0 ราว -0.4 ถึง -0.5 pp. ในปี 2025 เนื่องจาก
3.1. สินค้าส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น เพราะไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ติดอันดับที่ 12 ของโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะสหรัฐฯเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมีสัดส่วน 17% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด
3.2. การแข่งขันจากสินค้าจีนเพิ่มขึ้นจากนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของ Trump 2.0 สินค้าจีนจะส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลง นอกจากนี้ปัญหา China-overcapacity ที่จะรุนแรงขึ้น จีนจะมุ่งเป้ามายังตลาดอื่นแทน รวมถึงไทย ทำให้ภาคการผลิตและภาคการส่งออกสินค้าไทยจะเผชิญการแข่งขันจากจีนมากขึ้นอีก
4. ปัจจัยฐานสูงของการส่งออกไทยปีนี้ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงเกิน 3.9% จะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวการส่งออกไทยในปี 2025 ชะลอลงจากปีนี้
สามารถอ่านบทวิเคราะห์นโยบาย Trump 2.0 ต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้ที่ SCB EIC Monthly : SCB EIC ประเมิน Trump 2.0 ฉุดเศรษฐกิจไทยปี 2025 กดดันการค้า การผลิต และการลงทุน
ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินมุมมองการส่งออกไทยปีนี้ล่าสุด 3.9% (ข้อมูลระบบดุลการชำระเงิน) ณ 25 พ.ย. 2024 ก่อนกระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเดือน ต.ค. สูงกว่าคาดการณ์ไว้มาก มูลค่าการส่งออกปีนี้จึงมีโอกาสขยายตัวสูงกว่า 4% ขณะที่ปัจจัยฐานสูง อาจทำให้มูลค่าส่งออกปี 2025 โตต่ำกว่า 2% ได้
รูปที่ 1 : มูลค่าการส่งออกรายสินค้าและรายตลาดสำคัญ
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
รูปที่ 2 : มูลค่าการนำเข้ารายสินค้าและรายตลาดสำคัญ
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
รูปที่ 3 : การส่งออกคอมพิวเตอร์ฯ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนภาคการส่งออกของไทยที่สำคัญ แม้จะชะลอลงมากจากเดือนก่อน
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
รูปที่ 4 : เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปีนี้ไม่เปลี่ยนภาพมากนัก ขณะที่ในปี 2025 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัจจัยเสี่ยงด้านลบ โดยเฉพาะนโยบายทรัมป์ 2.0
หมายเหตุ : * หากไม่มี Trump 2.0 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2025 มีแนวโน้มปรับดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิม (แต่ offset กับผลลบสุทธิของนโยบาย Trump ต่อสหรัฐฯ) ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มปรับลดลงกว่าคาดการณ์เดิม (และได้ผลลบเพิ่มเติมจาก Trump 2.0)
** ASEAN-5 (Indonesia, Malaysia, Philippines, Singapore และ Vietnam)
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูล IMF WEO (Oct24), World Bank, WTO, Goldman Sachs, Capital Economics, Bloomberg, Reuters และ The Economist
รูปที่ 5 : ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มจะเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านลบมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงด้านบวกน้อยลงเทียบการประเมินครั้งก่อน
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ WTO
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-261124
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
วิชาญ กุลาตี (vishal.gulati@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ภาวัต แสวงสัตย์ (pawat.sawaengsat@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์
ข่าวเด่น