”วิริยะประกันภัย“ ยันไม่ปรับเบี้ยประกันเพิ่ม เผย Loss Ratio 57% ยังอยู่ได้ แต่ถ้าพุ่งไปถึง 60% ต้องพิจารณาปรับเพิ่มเบี้ยใหม่ แค่คาดปีหน้าไม่น่าถึง 60%
นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วิริยะประกันภัยยังคงยืนยันในเบี้ยประกันภัยระดับเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยยังไม่มีการปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัย แม้ที่ผ่านมาจะมีการจ่ายค่าสินไหมจำนวนมาก จากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติและอุบัติเหตุรถนักเรียนไฟไหม้ ซึ่งส่งผลต่อค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ที่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจาก Loss Ratio ที่เกิดขึ้นยังอยู่ในระดับที่บริษัทฯ รับได้ ที่ 57% จึงยังไม่จำเป็นต้องปรับเพิ่มเบี้ย
ทั้งนี้ นายสยมกล่าวว่า ระดับ Loss Ratio ที่บริษัทฯ ต้องพิจารณาปรับเพิ่มเบี้ย Loss Ratio จะต้องถึงระดับ 60% อย่างไรก็ตาม คาดว่าก่อนที่จะถึงสิ้นปีรวมถึงปีหน้า Loss Ratio ไม่น่าจะถึงระดับ 60%
“ Loss Ratio แม้จะเพิ่มขึ้น ที่ 57% แต่ยังรับได้แต่ถ้าพุ่งขึ้นไปถึง 60% บริษัทฯ อาจต้องพิจารณาปรับเบี้ยใหม่ แค่คาดปีหน้าไม่น่าถึง 60%” นายสยมกล่าวยืนยัน
นายสยมกล่าวต่อไปว่า ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ ทั้งอุทกภัยที่จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่วิริยะประกันภัยได้ใช้รถสไลด์เข้าไปช่วยลากจูงรถของลูกค้าที่ติดอยู่ในบ้านและติดโคลนสูง รวมทั้งเคลียร์พื้นที่นำรถออกจากบ้าน นำมาซ่อมในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2567 จำนวน 400 คัน ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเหตุการณ์ฉุกเฉิน จึงมีรถเสียหายถึง 800 คัน รวมยอดเสียหายในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ 1,400 คัน จ่ายค่าสินไหมไป 197 ล้านบาท ขณะที่น้ำท่วมจังหวัดยะลา และ จ.นราธิวาส ในขณะนี้ มีรถที่ทำประกันภัยกับวิริยะฯ เสียหายกว่า 20 คัน และอุบัติเหตุไฟไหม้รถนักเรียน จนทำให้มีครูและนักเรียนเสียชีวิตจำนวน 23 ราย บริเวณถนนวิภาวดี-รังสิต บริษัทฯ จ่ายค่าสินไหมไป 15 ล้านบาท โดยใช้เวลาเพียง 4 วันในการจ่ายค่าสินไหมทันที ซึ่งแสดงถึงความพร้อมของวิริยะฯในการดูแลและการจ่ายค่าสินไหมให้ทันเหตุการณ์
นายสยมกล่าวต่อไปว่า สำหรับเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมที่เคยตั้งไว้ 38,000 ล้านบาท คาดว่าปีนี้อาจไม่ถึงเป้า เพราะยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ชะลอตัวลงมาก ซึ่งกระทบต่อยอดเบี้ยประกันใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ถึงเป้า แต่ตัวเลขก็น่าจะใกล้เคียง เพราะมีอัตราการต่ออายุประกันภัยในสัดส่วนที่สูงถึง 80%
“ตลาดรถยนต์ในปีนี้ลดลงอย่างมาก จากตลาดคาดการณ์ยอดขายรถยนต์ใหม่ที่ 1 ล้านคัน ซึ่ง ณ ขณะนี้ ยังไม่ถึง 6 แสนคัน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ชะลอตัว”นายสยมกล่าว
นายสยมกล่าวต่อไปว่า ณ ปัจจุบัน เบี้ยประกันภัยรับรวมของวิริยะฯ อยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น รถยนต์สันดาป 2.9 หมื่นล้านบาท และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) 1 พันล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่สัดส่วนการซื้อประกันรถ EV ยังมีอัตราส่วนที่ต่ำหากเทียบกับยอดรวมการขายประกันรถยนต์ทั้งหมด เพราะปัจจุบันประชาชนค่อนข้างชั่งใจในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งความสะดวกจากโครงสร้างพื้นฐานบริการชาร์จแบตเตอรี่ ความปลอดภัย รวมถึงนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม วิริยะประกันภัยยืนยันไม่ได้ปฎิเสธการรับประกันรถ EV เพียงแต่เบี้ยประกันภัยอาจจะสูงกว่ารถสันดาปทั่วไป เนื่องจากแบตเตอรี่ของรถ EV เป็นส่วนประกอบหลักของรถทั้งคัน และราคาสูงถึง 70% ของราคารถทั้งคัน
“รถ EV ยังถือเป็นเรื่องใหม่ การเรียนรู้ การอบรม การซ่อม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่วิริยะฯให้ความสำคัญ เพราะงานซ่อมรถ EV ซับซ้อนกว่ารถสันดาป วิริยะฯ จึงส่งทีมช่างเข้ารับการอบรมจากค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง นอกจากนี้ ยังสามารถรักษาพันธมิตรกับคู่ค้ารายเดิม ที่ขายรถสันดาป และรถ EV ได้อีกด้วยเพื่อรักษาฐานตลาด”นายสยมกล่าว
นายสยมกล่าวถึงอัตราการเคลมประกันรถยนต์ในปี 2567 ของวิริยะประกันภัย ณ ขณะนี้ มียอดเคลมทั้งสิ้น 6 แสนเคลม คิดเป็นวงเงินประมาณกว่า 1 หมื่นกว่าล้านบาท แบ่งเป็น การเคลมสด จากอุบัติเหตุเฉี่ยวชน 2 แสนเคลม หรือเป็นสัดส่วนประมาณ 35% ของการเคลมทั้งหมด ส่วนที่เหลือ 4 แสนเคลม เป็นการเคลมนัดหมายบริการ ที่ไม่มีคู่กรณี ไม่มีการเฉี่ยวชน
นายสยมกล่าวทิ้งท้ายว่า วิริยะมีความพร้อมในการดูแล และจ่ายค่าสินไหมทดแทน ”มีอะไร วิริยะประกันภัย พร้อมดูแล“
ข่าวเด่น