เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ "เงินบาทแข็งค่า แม้หุ้นไทยปรับตัวลงตลอดสัปดาห์"


สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

· เงินบาทแข็งค่ากลับมาช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังตลาดกลับมาประเมินโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือนธ.ค. อีกครั้ง

เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางเงินหยวนและสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคซึ่งเผชิญแรงกดดันจากความกังวลต่อประเด็นทางด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวถึงการเตรียมเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และเงินเยนซึ่งได้รับอานิสงส์จากการคาดการณ์ถึงโอกาสความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BOJ ในเดือนธ.ค. ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายสอดคล้องกับการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE และ Core PCE เพิ่มขึ้นตามที่ตลาดคาด โดยข้อมูลดังกล่าวกระตุ้นให้ตลาดกลับมาประเมินว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมเดือนธ.ค.นี้

 
· ในวันศุกร์ที่ 29 พ.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (22 พ.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 25-29 พ.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,282.1 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 5,166 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 5,170 ล้านบาท หักด้วยตราสารหนี้หมดอายุ 4 ล้านบาท)

· สัปดาห์ระหว่างวันที่ 2-6 ธ.ค. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.90-34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สกุลเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนต.ค. ดัชนี ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนพ.ย. ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานเดือนพ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคเดือนธ.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ของยูโรโซน ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนพ.ย. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน อังกฤษด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

· ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงท่ามกลางหลายปัจจัยกดดัน

ดัชนีหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ แม้ในระหว่างสัปดาห์จะมีปัจจัยบวกจากตัวเลขส่งออกเดือนต.ค.ของไทยที่ขยายตัวดีกว่าคาด ทั้งนี้ปัจจัยที่กดดันดัชนีหุ้นไทย ได้แก่ แรงขายเพื่อปรับพอร์ตตามการปรับ MSCI Rebalance ซึ่งมีผล

ในวันที่ 25 พ.ย. 2567 แรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มพลังงานตามการปรับตัวลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกหลังสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและเลบานอนคลี่คลายลง ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับประเด็นสงครามการค้าหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ระบุว่าจะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก แคนาดาและจีน

ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจนถึงช่วงท้ายสัปดาห์ โดยมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
 

 
 
· ในวันศุกร์ที่ 29 พ.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,427.54 จุด ลดลง 1.30% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,056.75 ล้านบาทลดลง 3.05% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.58% มาปิดที่ระดับ 320.69 จุด

· สัปดาห์ถัดไป (2-6 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,415 และ 1,400 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,435 และ 1,445 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและการบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนพ.ย. ตัวเลขนำเข้าและส่งออกเดือนต.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนพ.ย. ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนต.ค. ของยูโรโซน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 พ.ย. 2567 เวลา : 20:38:07
26-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 26, 2024, 10:47 pm