กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สร้างบรรยากาศการทำธุรกิจในประเทศไทยเข้าสู่โลกดิจิทัล เชิญภาคเอกชน 44 แห่ง เข้าร่วมประชุมยกระดับธุรกิจด้วยระบบจดทะเบียนดิจิทัล รับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้งานระบบตัวจริง พร้อมนำไปพัฒนาต่อเนื่องไม่มีหยุด จากนั้นแนะนำระบบบริการสุดล้ำที่จะช่วยให้ธุรกิจง่าย สะดวก และเข้าใกล้งานบริการของกรมฯ มากยิ่งขึ้น ผ่าน 3 บริการ DBD Biz Regist, DBD e-PCL และ e-Foreign Business
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันนี้ (3 ธันวาคม 2567) กรมฯ ได้จัดประชุมโดยเชิญผู้บริหารจากภาคเอกชน 44 แห่ง อาทิเช่น สภาและสมาคมต่างๆ สำนักงานกฎหมายและบริษัทชั้นนำมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การใช้งาน 3 ระบบจดทะเบียนธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมฯ ได้แก่ ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลดิจิทัล (DBD Biz Regist) ระบบจดทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัดทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-PCL) และระบบการออกใบอนุญาต/หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Foreign Business) พร้อมให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า “ที่ประชุมกรมฯ ได้สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ภาคเอกชนเพื่อเชิญชวนเข้าร่วมใช้งานระบบฯ พร้อมแนะนำฟังก์ชันการใช้งานที่พัฒนาขึ้นใหม่ ซึ่งเริ่มให้บริการแล้ว โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างความสะดวกสบายให้แก่ภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี การเปิดให้บริการระบบจดทะเบียนดิจิทัลในครั้งนี้เป็นการพัฒนาบริการภาครัฐให้ทันสมัยและรองรับการเติบโตของธุรกิจในยุคดิจิทัล ผู้ใช้งานสามารถจดทะเบียนหรือยื่นคำขอได้โดยตรงผ่านระบบออนไลน์ ไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงาน และติดตามสถานะการยื่นคำขอได้แบบเรียลไทม์ผ่านการแจ้งเตือนและรายงานความคืบหน้า ในทุกขั้นตอนผ่านระบบฯ สำหรับภาคเอกชนที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้จะมีส่วนในการเป็นกระบอกเสียงไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบจดทะเบียนดิจิทัลของกรมฯ มีสัดส่วนผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นเกิดความคุ้มค่าในการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ
การให้บริการผ่านจดทะเบียนระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบใหม่นี้ จะช่วยลดข้อผิดพลาดในการกรอกข้อมูล พร้อมทั้งตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นก่อนการยื่นคำขอ ส่งผลให้ข้อมูลที่ยื่นจดทะเบียนมีความถูกต้องสมบูรณ์และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประกอบกับมีรูปแบบการใช้งานที่ง่าย สะดวก และตัดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนออกไปช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ที่สำคัญในภาพรวมของประเทศจะผลักดันให้ภาคธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจในภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ
หลังจบการประชุมภาคเอกชนได้ให้ความเห็นว่า ระบบจดทะเบียนดิจิทัลเป็นระบบที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายช่วยเพิ่มความคล่องตัวและรองรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสมในยุคดิจิทัล โดยทั้ง 3 ระบบเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ต้นปี 2567 และกรมฯ ตั้งเป้าหมายจะให้บริการจดทะเบียนดิจิทัลให้ครบ 100% ภายในปี 2568
ข่าวเด่น