การตลาด
ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เปิดตัวไวท์เปเปอร์สำหรับ SMEs ขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ


 

SMEs สามารถขยายธุรกิจและเพิ่มความสามารถในการค้าด้วยการขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศ
 
การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การนำเทคโนโลยีมาใช้ และนโยบายการค้าที่เอื้อประโยชน์ มีส่วนผลักดัน SMEs ให้เข้าสู่ตลาดการค้าระหว่างประเทศ
 
ตะวันออกกลางและละตินอเมริกามีแนวโน้มจะเป็นตลาดมาแรงสำหรับธุรกิจไทย หลัง IMF คาดการณ์ GDP เติบโตเป็นบวก
 
ไวท์เปเปอร์ “Global expansion simplified: The ultimate Guide for SMEs” โดยดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรสและมหาวิทยาลัยมาสทริชท์ มอบคำแนะนำให้ SMEs เริ่มต้นขยายการค้าระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น
 
กรุงเทพฯ ประเทศไทย 4 ธันวาคม 2567: ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส และมหาวิทยาลัยมาสทริชท์ พัฒนาคู่มือที่เป็นประโยชน์สำหรับ SMEs เปิดตัวไวท์เปเปอร์ “Global expansion simplified: The ultimate Guide for SMEs” เพื่อรับมือการเผชิญกับความท้าทายของการขยายตลาดในระดับนานาชาติ เนื่องจาก SMEs มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศ โดยปัจจัย เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การนำเทคโนโลยีมาใช้ และนโยบายการค้าที่เอื้อประโยชน์ มีส่วนสำคัญในการเพิ่มการมีส่วนร่วมของ SMEs ในตลาดโลกได้

“หนึ่งในข้อดีของการพาธุรกิจ SMEs ก้าวสู่ตลาดสากล คือการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ โดยการขยายธุรกิจข้ามพรมแดนจากเดิมที่ค้าขายแค่ภายในประเทศ SMEs สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้นและกระจายแหล่งรายได้ นอกจากนี้ยังจะได้ท้าทายธุรกิจของตนให้พัฒนาให้ดีขึ้นเสมอเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดที่กว้างขึ้นนี้” Michiel Greeven, EVP Global Commercial, DHL Express กล่าว “ไวท์เปเปอร์ของ DHL Express นำเสนอเครื่องมือที่ใช้งานง่ายและเป็นประโยชน์สำหรับ SMEs เพื่อเตรียมตัวขยายธุรกิจในระดับโลกและทำให้ธุรกิจของพวกเขาทั้งมีกำไรมากขึ้นและมีความยืดหยุ่นมากขึ้นด้วย”

"เรามีส่วนร่วมในการนำเสนอไวท์เปเปอร์นี้เพราะเรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุน SMEs ในการตระหนักถึงโอกาสขยายธุรกิจในระดับสากล การขยายธุรกิจไปทั่วโลกสามารถมอบโอกาสที่ดีให้กับ SMEs ที่ต้องการสํารวจตลาดใหม่ในต่างประเทศได้ ซึ่งจะต้องเริ่มต้นด้วยกลยุทธ์ที่แข็งแกร่ง เราหวังว่าข้อมูลเชิงลึกที่ให้ไว้ในไวท์เปเปอร์นี้จะช่วยเพิ่มพูนฐานความรู้ของ SMEs และทําให้พวกเขาเข้าใกล้การเติบโตในระดับนานาชาติที่ประสบความสําเร็จอีกขั้น" Roy Broersma, Managing Director Centre for Entrepreneurship & Innovation ที่มหาวิทยาลัย Maastricht กล่าวเสริม

 
โอกาสสำหรับ SMEs ในประเทศไทย

ประเทศไทยมีที่ตั้งกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคกว่า 660 ล้านคนทั่วภูมิภาคอาเซียนได้อย่างดี จึงเป็นศูนย์กลางเชิงกลยุทธ์สำหรับธุรกิจที่ต้องการขยายตลาดในระดับนานาชาติ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อและอำนวยความสะดวกในการค้าและการลงทุนมากขึ้น

ตลาดอีคอมเมิร์ซโดยรวมของประเทศไทยยังมีการเติบโตอย่างมาก โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 66.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567[1] ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโต 13.7% จากปีก่อนหน้า อีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศเป็นส่วนสำคัญในภูมิทัศน์อีคอมเมิร์ซของประเทศไทย โดยคิดเป็นประมาณ 30% ของตลาดทั้งหมด[2]

“ในฐานะผู้ขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศ DHL Express ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ SMEs ในประเทศไทยเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ทั่วโลกได้ เรามี Bangkok Hub หรือศูนย์กระจายสินค้าของเราที่สนามบินสุวรรณภูมิ เชื่อมต่อประเทศไทยกับมากกว่า 220 ประเทศและเขตปกครองพิเศษทั่วโลก ผ่านเครื่องบินขนส่งสินค้าของ DHL โดยเฉพาะรวม 8 ลำ มีเที่ยวบิน 78 เที่ยวต่อสัปดาห์ เราพร้อมให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่รวดเร็วและเชื่อถือได้ เพื่อให้ SMEs ไทยเข้าถึงลูกค้าและพันธมิตรระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทยและหัวหน้าภาคพื้นอินโดจีน กล่าว

ตามการคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟ ในรายงาน World Economic Outlook (WEO) ระบุว่าการเติบโตของ GDP สำหรับตะวันออกกลางและละตินอเมริกาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.0% และ 2.5% ตามลำดับ

“นอกจากเส้นทางการค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ผู้ส่งออกไทยควรสำรวจศักยภาพของตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วเช่น ตะวันออกกลาง ซึ่งกำลังมีข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement - CEPA) ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นั่นหมายถึงโอกาสขยายธุรกิจระหว่างประเทศของผู้ประกอบการ  ส่วนละตินอเมริกาก็เป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่ควรจับตามองสำหรับ SMEs ไทย โดยเฉพาะในภาคอาหารและการเกษตร[3]” เฮอร์เบิต กล่าวเสริม

ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2567 สินค้าส่งออกสำคัญจากประเทศไทยไปยังตะวันออกกลางที่มีอัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ อาหารแปรรูป (43.94%) ผลิตภัณฑ์ความงามและสกินแคร์ (34.52%) ผลไม้แปรรูป (26.03%) ผลิตภัณฑ์ยาง (13.15%) และเครื่องประดับ (6.86%)[4]

ละตินอเมริกากำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ โดยมีประชากรหลายล้านคนเข้าสู่ชนชั้นกลาง ซึ่งขับเคลื่อนความต้องการสินค้าบริโภคและบริการ[5] สถิติการค้าของประเทศไทยโดยกระทรวงพาณิชย์บันทึกสินค้าส่งออกสำคัญจากประเทศไทยไปยังประเทศในละตินอเมริกาในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2567[6] เช่น เส้นด้ายและเส้นใยสังเคราะห์ (91.46%) ชิ้นส่วนยานพาหนะ (62.85%) ผลิตภัณฑ์ยาง (16.37%) อาหารสัตว์ (16.34%) และอาหารแปรรูป (5.24%)

 
สรุปประเด็นสำคัญจากไวท์เปเปอร์ “Global expansion simplified: The ultimate Guide for SMEs” และ 9 บล็อกสำคัญเพื่อเสริมฐานและหนุนการการค้าระหว่างประเทศ

การเข้าใจความสำคัญของการขยายตัวในระดับนานาชาติ: SMEs จะได้รับประโยชน์สูงสุดถ้านำ “ความเป็นนานาชาติ” มาพิจารณาเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อรักษาการดำเนินงานและขับเคลื่อนการเติบโตและนวัตกรรมในตลาดโลก
 
การทำวิจัยตลาดอย่างละเอียด: เพื่อดำเนินกลยุทธ์ระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ SMEs จำเป็นต้องมีความตระหนักและการคาดการณ์เกี่ยวกับความท้าทาย โอกาส และพฤติกรรมของลูกค้าที่กำลังจะเกิดขึ้น การวิจัยตลาดเป็นสิ่งสำคัญในการได้รับข้อมูลเชิงลึกประเภทนี้ SMEs จะเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค แนวโน้มตลาด สภาพเศรษฐกิจ และความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้ดียิ่งขึ้น
 
การใช้ทรัพยากรมนุษย์: ทรัพยากรมนุษย์มีบทบาทสำคัญในการขยายตัวในระดับนานาชาติของ SMEs การจัดทรัพยากรมนุษย์กับกลยุทธ์การขยายตัวในระดับนานาชาติ การลงทุนในการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้อง การสรรหาบุคลากรที่เหมาะสม การพัฒนาการปฏิบัติด้านทรัพยากรมนุษย์ที่ยืดหยุ่น การจัดการขีดจำกัดของทรัพยากรมนุษย์ และการส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ต่อเนื่องจะทำให้ SMEs สามารถเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จในตลาดโลกได้อย่างมาก
 
การพัฒนาความฉลาดทางวัฒนธรรม: ความฉลาดทางวัฒนธรรม (Cultural Intelligence - CQ) เกี่ยวข้องกับความเข้าใจและการชื่นชมในขนบธรรมเนียมท้องถิ่น ค่านิยม พฤติกรรมผู้บริโภค และมารยาททางธุรกิจ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการตีความข้อมูลตลาดอย่างถูกต้องและพัฒนากลยุทธ์ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม
 
การสร้างพันธมิตรและเครือข่ายเชิงกลยุทธ์: ขั้นตอนแรกที่สำคัญในการขยายธุรกิจระหว่างประเทศคือการขยายเครือข่ายของคุณโดยการเริ่มต้นความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก เช่น ลูกค้า ผู้จัดหา และผู้จัดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ
 
การเลือกโหมดการเข้าสู่ตลาดที่เหมาะสม: การเลือกโหมดการเข้าสู่ตลาดที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการความเสี่ยงและใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบในท้องถิ่น
 
เข้าใจกฎหมายและข้อกำหนดระหว่างประเทศ: อุปสรรคทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ SMEs เผชิญในหลายๆ ประเทศอาจเป็นความท้าทายในการขยายธุรกิจในระดับนานาชาติได้อย่างมาก การทำความเข้าใจกฎ ระเบียบเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงและเป็นพื้นฐานสำคัญในการขยายธุรกิจให้เติบโตในระดับนานาชาติ
 
การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการซัพพลายเชน: ซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพเป็นกุญแจสำคัญในการประสบความสำเร็จในตลาดโลก SMEs สามารถพัฒนาซัพพลายเชนของตนเองหรือร่วมมือกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์บุคคลที่สามเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความยืดหยุ่น และความสามารถในการขยายธุรกิจสูงสุด
 
การตรวจสอบและการทดลอง: เมื่อ SMEs มุ่งมั่นจะขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจว่าต้องใช้กลยุทธ์ใดที่จะสนับสนุนการทดลองทำให้ได้มากที่สุด และต้องหมั่นตรวจสอบตัวชี้วัดประสิทธิภาพหลัก (KPIs) อย่างรอบคอบเพื่อเพิ่มในการประสบความสำเร็จ 
 
เก้าบล็อคสำคัญนี้จะช่วยสร้างกรอบการทำงานที่ง่ายสำหรับ SMEs ที่กำลังวางแผนที่จะเข้าสู่การค้าระหว่างประเทศ โดยเน้นถึงความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นและพื้นที่ที่ควรให้ความสำคัญซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงในขณะที่เพิ่มโอกาสในการเติบโต

SMEs สามารถดาวน์โหลดไวท์เปเปอร์ “Global expansion simplified: The ultimate Guide for SMEs” ได้ฟรีที่เว็บไซต์ของ DHL Express

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ธ.ค. 2567 เวลา : 14:24:34
26-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 26, 2024, 5:01 pm