แบงก์-นอนแบงก์
บสย. พัฒนากลไกค้ำประกันสินเชื่อ "Smart Credit Guarantee" ช่วยเหลือ SMEs-หนุนมาตรการปรับโครงสร้างหนี้รัฐ


 

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวในงาน ECONMASS TALK EP.2 จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ในหัวข้อ “Smart Credit Guarantee กลไกค้ำประกันสินเชื่อ ติดปีกธุรกิจ สู่อนาคต 5G” ว่า ธนาคารเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคน 2 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มคนที่มีรายได้มากกว่ารายจ่าย (Surplus Units) ที่นำเงินมาฝากกับทางธนาคาร และอีกกลุ่มคือมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ (Deficit Units) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการขอรับสินเชื่อจากทางธนาคาร โดยธนาคารสามารถดำเนินกิจการอยู่ได้ด้วยการให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย ที่บริหารความเสี่ยงระหว่างส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ เช่น หากมีคนมาเปิดบัญชีเงินฝากประจำอายุ 1 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับ 1% หากมีคนมาขอสินเชื่อ ทางธนาคารอาจจะมีการบริหารความเสี่ยง ด้วยการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 7.5% เป็นต้น 

โดยส่วนต่างระหว่างเงินฝากกับเงินกู้ หรือที่เรียกว่า Net Interest Margin (NIM) เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการสะท้อนถึงความสามารถในการหารายได้และกำไรของธนาคาร ซึ่งในฝั่งของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น การที่ธนาคารจะอนุมัติให้สินเชื่อกับใคร จะต้องพิจารณาถึงเครดิตของผู้กู้ หากเครดิตไม่ดี ไม่มีหลักประกันเพียงพอ ก็อาจจะโดนลดวงเงิน หรือได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ดังนั้น การใช้ Credit Guarantee หรือกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ จะสามารถเข้าไปเติมเต็มหลักประกันของผู้กู้ และขยายขีดความสามารถของเครดิตผู้กู้ได้มากขึ้น ให้ความช่วยเหลือ SMEs ที่สามารถใช้วงเงินได้เต็มประสิทธิภาพด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด

“ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน รวมถึงทางด้านสถาบันการเงินที่กำลังเข้าสู่ความเป็น Virtual Bank บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการเงิน มีความมุ่งมั่นพัฒนาให้กลไกการค้ำประกันสินเชื่อที่เราให้บริการมาตลอด 33 ปี สามารถสอดรับกับระบบนิเวศน์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปได้ ซึ่งด้วยลูกค้าของบสย. หลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ออกไปลูกค้าส่วนใหญ่ที่เพิ่มเข้ามาอยู่ในระดับ Micro SMEs เพิ่มมากขึ้น โดยมีการขอสินเชื่อเฉลี่ยรายละประมาณ 90,000 บาทต่อราย จากปกติอยู่ที่ 120,000-150,000 บาทต่อราย สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถในการกู้เงินนั้นมีวงเงินที่ต่ำลง ทางบสย.เลยได้เห็นทิศทางแล้วว่าควรจะมีการใช้กลไกที่มีความเป็นดิจิทัลมาเป็นแรงผลักดันเพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงเราได้มากขึ้นกว่านี้ และเราก็จะได้เข้าถึงพวกเขาได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน นับเป็นการขยายขอบเขตให้ความช่วยเหลือ SMEs ได้มากขึ้น ครอบคลุมความต้องการ SMEs ในทุกมิติของการค้ำประกันสินเชื่อด้วย Credit Guarantee ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง 10-14%”



ด้วยวัฒนธรรมองค์กร “TCG Fast & First” รวดเร็ว รอบคอบ เป็นที่หนึ่งในใจ SMEs บสย. จึงได้นำเอา Financial Technology มาใช้ในการทำงาน เพื่อเชื่อมโยงบริการทางการเงินไปถึงคนข้างนอก โดยมีการพัฒนากลไกการค้ำประกันสินเชื่อ จากปัจจุบันที่ค้ำประกันและจ่ายเคลมเป็นพอร์ต เปลี่ยนมาเป็นการค้ำประกันเครดิตแบบ Credit Guarantee ที่สามารถเคลมเป็นเงินค้ำประกันสะสมได้ 30% จากพอร์ต ที่ทางบสย. จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมกับ SMEs เฉลี่ย 1.75% ต่อปี ตลอดการค้ำประกัน 10 ปี (ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปีแรก) โดยสัดส่วนค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายจะขึ้นอยู่กับ Segment ของผลิตภัณฑ์ค้ำประกันของบสย. เพื่อรองรับความเปราะบางและ Pain Point ของแต่ละ SMEs ที่มีความแตกต่างแยกย่อยลงไป ฉะนั้นทางธนาคารพาณิชย์ จะสามารถมาเคลมกับทางบสย. สะสมแต่ละปีได้ โดยบสย. มีแผนที่จะใช้ เครื่องมือวิเคราะห์ความเสี่ยง หรือ Credit Scoring Model มาจำแนกผลิตภัณฑ์สินเชื่อออกเป็นพอร์ตที่มีระดับราคาแตกต่างกัน (Risk Based Pricing) เช่น เสี่ยงมาก-อัตราดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี เสี่ยงกลาง-อัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี และเสี่ยงต่ำ-อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี เป็นต้น เพื่อบริหารคุณภาพเครดิตของผู้กู้และผู้ค้ำ

ในส่วนของมาตรการแก้หนี้ ทางบสย. มีการขานรับนโยบายรัฐ ด้วยการดูแลกลุ่ม SMEs ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ถือหนังสือค้ำประกันของบสย. ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” สำหรับผู้ที่ถือหนังสือค้ำประกันของบสย.แล้วถูกธนาคารพาณิชย์จ่ายเคลม สามารถติดต่อเข้ามาให้บสย. ช่วยเหลือผ่านมาตการ 3 สี ที่จะมีการตัดต้นตัดดอกเบี้ย มีการผ่อนจ่ายคืนด้วยอัตราเริ่มต้นร้อยละ 0 เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องและความสามารถในการจ่ายหนี้คืน นอกจากนี้ก็ยังมีมาตรการเพิ่มเติมสำหรับลูกหนี้ที่ผ่อนดีมีวินัย ที่จะสามารถแจ้งความประสงค์ปลดหนี้ ด้วยการมอบส่วนลดเงินต้นให้ 15% หมายความว่าจากหนี้อีกแค่ 85% ก็ถือว่าปิดจบหนี้ได้เลย ซึ่งจะสามารถเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินโดยใช้กลไกการค้ำประกันสินเชื่อของบสย. ได้ด้วย โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ที่ บสย. มีการออกมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” เราสามารถช่วยลูกหนี้นับเป็นจำนวนเม็ดเงินปรับโครงสร้างหนี้ได้เกินกว่า 10,000 ล้านบาท หรือมากกกว่า 15,000 ราย นับเป็นมาตรการที่ตอบโจทย์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถือหนังสือค้ำประกันของบสย.ที่ถูกเคลม

และนับตั้งแต่ช่วงหลังโควิด-19 บสย. เข้าไปช่วยลูกหนี้ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบพอร์ตของบสย. ได้ถึง 800,000 ราย ซึ่งหากในกลุ่มนี้ติดต่อขอเข้ามาตรการดังกล่าว สถานะในเครดิตบูโรจะกลับมาเป็นปกติ และยังสามารถเพิ่มขอบเขตของเงินทุนหมุนเวียนได้ด้วยผ่านการผ่อนชำระขั้นต่ำเพียง 500 บาทต่อเดือน หรือเลือกผ่อนชำระ 0% นาน 7 ปี เป็นต้น โดยบสย.เตรียมความพร้อมทั้งการเปิด Digital LINE OA : @tcgfirst เพื่อเป็นช่องทางให้ลูกหนี้ติดต่อเข้ามาลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ นายสิทธิกร ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงมุมมองการอยู่รอดของ SMEs ว่า “SMEs ที่ SMART ในทุกมิติ ควรใช้ Social Media ในการทำกิจกรรมทางการตลาด เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ รวมถึงเป็นอีกช่องทางในการค้าขาย รวมถึงเรื่อง Mindset ของ SMEs ก็ควรวิเคราะห์จุดอ่อนและพัฒนาให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าให้ได้ ส่วนการทำบัญชี ก็มีความสำคัญอย่างมาก เพราะร้อยละ 90% ของ SMEs ที่เป็น Success Case ของบสย.นั้นล้วนทำบัญชีหมด นอกจากนี้ความรับผิดชอบทางสังคมและพร้อมที่จะ Transform ปรับตัวได้เสมอ ก็จะทำกิจการเกิดความยั่งยืนได้อย่างมั่นคง”
 

 


LastUpdate 07/12/2567 19:20:33 โดย : Admin
26-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 26, 2024, 7:44 pm