ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 64-74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 67-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (9 - 13 ธ.ค. 67)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มหลังตลาดยังคงกังวลต่อความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังไม่มีสัญญาณในการหยุดยิง แม้ว่าข้อตกลงหยุดยิงจะมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม ขณะที่สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนมีแนวโน้มที่ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ OPEC+ มีมติเลื่อนแผนการเพิ่มกำลังการผลิตจากเดือน ม.ค. 68 ไปยัง เม.ย. 68 รวมถึงอุปสงค์น้ำมันดิบของจีนที่ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการผลิต อย่างไรก็ตาม นโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ FED ในเดือนนี้ยังคงไม่แน่นอน และค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเนื่องจากโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้า 100% ต่อกลุ่มประเทศ BRICS หากยังสนับสนุนการสร้างหรือใช้สกุลเงินอื่นแทนเงินเหรียญสหรัฐฯ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
• ตลาดยังคงกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบในตะวันออกกลางที่อาจตึงตัว หลังอิสราเอลยังคงมีการโจมตีบริเวณตอนใต้ของเลบานอน ขณะที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้ทำการยิงจรวดไปที่ฐานทัพทหารอิสราเอลเพื่อเป็นการตอบโต้ โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเลบานอนได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นตัวกลางในการเจรจา กดดันอิสราเอลให้ทำตามข้อตกลงการหยุดยิงที่มีผลบังคับใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว
• สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดรัฐบาลยูเครนแต่งตั้งพลเอก Mykhailo Drapatiy เป็นหัวหน้ากองกำลังภาคพื้นดินแทนพลโท Oleksandr Pavlyuk เพื่อปรับยุทธศาสตร์ต่อต้านการรุกคืบของรัสเซีย การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้น ในเดือน พ.ย. 67 รัสเซียสามารถปิดครองพื้นที่ได้เกือบ 20% ของยูเครน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่ประมาณ 15% ขณะเดียวกันยูเครนยังต้องเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนไฟฟ้ารุนแรง หลังโรงไฟฟ้าในยูเครนถูกมิสไซล์และโดรนของรัสเซียโจมตี ส่งผลให้ประชาชนต้องเผิญกับความยากลำยากเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูหนาวที่อุณหภูมิระหว่างวันเฉลี่ยอยู่ที่ -2 องศาเซลเซียส
• ตลาดได้รับแรงหนุน หลัง OPEC+ มีมติเลื่อนแผนการเพิ่มปริมาณผลิตน้ำมันดิบ 0.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือน ม.ค. 68 เป็นเดือน เม.ย. 68 หลังอุปสงค์น้ำมันโลกมีแนวโน้มชะลอตัว รวมถึงอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากประเทศนอกกลุ่ม OPEC+
• ตลาดจับตาความไม่แน่นอนของนโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยของ FED หลังประธานธนาคารสหรัฐฯ สาขา Atalanta ในรัฐ Georgia นาย Raphael Bostic กล่าวว่า เขายังคงเปิดกว้างต่อการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนโยบายทางการเงิน FOMC ในวันที่ 17-18 ธ.ค. 67 โดยจะให้น้ำหนักกับข้อมูลการจ้างงานที่จะประกาศในเร็วๆ นี้ และเชื่อว่าเงินเฟ้อกำลังลดลงสู่เป้าหมาย 2% อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยอีกเท่าไรหรือเร็วเพียงใด
• ตลาดมีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้น หลังอุปสงค์น้ำมันในจีนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังข้อมูลภาคการผลิตขยายตัวในเดือน พ.ย. 67 ขยายตัวเร็วสุดในรอบ 5 เดือน สร้างความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจจีน นอกจากนี้รัฐบาลจีนได้เพิ่มโควตานำเข้าน้ำมันดิบให้โรงกลั่นเอกชน 11 แห่ง ในเดือน ธ.ค. 67 เพิ่มเติมอีก 3.84 ล้านตัน หรือคิดเป็น 28.15 ล้านบาร์เรล ทำให้โควตาโรงกลั่นเอกชนรวมในปี 67 แตะระดับ 180.7 ล้านตัน
• อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นหลังโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้า 100% ต่อประเทศในกลุ่ม BRICS หลังกลุ่มมีความพยายามที่จะใช้สกุลภายในกลุ่มขึ้นมาเป็นเงินสกุลหลักแทนที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น และลดความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนสกุลเงินอื่น
• ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ เดือน พ.ย. 67 ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน พ.ย. 67 ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือน พ.ย. 67 ดัชนีราคาส่งออก เดือน พ.ย. 67 และดัชนีราคานำเข้า เดือน พ.ย. 67เศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 67 และเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน พ.ย. 67 ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือน พ.ย. 67 ตัวเลขส่งออก เดือน พ.ย. 67 และตัวเลขนำเข้า เดือน พ.ย. 67
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 – 6 ธ.ค. 67)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 71.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังบริษัท Transneft ที่ล่าสุดมีการพบจุดรั่วไหลได้กลับมาส่งออกนั้นดิบผ่านท่อ Northern Druzhba 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน บริเวณเมือง Pniewy ทางใต้ของโปแลนด์ ที่ระดับปกติแล้ว ทั้งนี้ ท่อดังกล่าวขนน้ำมันจากรัสเซีย ผ่านเบลารุส โปแลนด์ และสิ้นสุดที่เยอรมนี อย่างไรก็ตาม Reuters เผยเอเชียนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียในเดือน พ.ย. 67 เพิ่มขึ้น 0.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 5.83 ล้านบาร์เรลต่อวัน สวนทางกับการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียโดยเอเชียที่ลดลง 0.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 3.51 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากต้นทุนการขนส่งน้ำมันดิบรัสเซียสู่เอเชียเพิ่มขึ้น ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 29 พ.ย. 67 ปรับลดลง 5.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 423.4 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 0.67 ล้านบาร์เรล
ข่าวเด่น