เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "แนวโน้มธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลไทย"


· ในปี 2568 ต้นทุนเชื้อเพลิงเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าฟอสซิลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก ขณะที่รายได้การขายไฟต่อหน่วยคาดว่าจะทรงตัว ทั้งนี้ ธุรกิจยังคงมีทิศทางเติบโตจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่เพิ่มขึ้นแม้จะชะลอลงจากปีก่อนหน้า


· รายได้จากการผลิตไฟฟ้าฟอสซิลเพื่อขายให้ภาครัฐในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นช้าลงกว่าปี 2567 ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าในโครงข่ายภาครัฐที่ชะลอลง โดยคาดว่าจะโต 1.4% ในปี 2568 จาก 3.5% ในปีก่อนหน้า

· ในขณะที่รายได้จากการผลิตไฟฟ้าฟอสซิลเพื่อขายให้แก่ผู้ใช้งานในนิคมอุตสาหกรรมในปี 2568 ก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แม้จะชะลอลงจากปีก่อนหน้าจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นช้าลงตามกิจกรรมการผลิตเพราะแรงกดดันจากสินค้าจีนที่ล้นตลาด



ในปี 2568 ธุรกิจไฟฟ้าฟอสซิลยังคงเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงจากสัดส่วนรายได้ราว 80% ที่เป็นการทำสัญญาขายระยะยาวกับภาครัฐ โดยแบ่งรายได้ออกได้เป็น 2 ส่วนหลัก ประกอบด้วย “ค่าความพร้อมจ่าย” ซึ่งจะได้รับตามสัญญาแม้จะไม่มีการผลิตไฟฟ้าส่งเข้าโครงข่ายภาครัฐ และค่าไฟฐานกับค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่กำหนดโดยภาครัฐ ซึ่งเป็นรายได้ต่อหน่วยไฟฟ้าที่จะได้รับเมื่อมีการผลิตและขายไฟฟ้า ในขณะที่สัดส่วนรายได้อีกราว 20% เป็นการขายให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมโดยจะทำสัญญาซื้อขายกันโดยตรง และมักอ้างอิงราคาค่าไฟของภาครัฐในการทำสัญญาซื้อขาย

รายได้ต่อหน่วยและต้นทุนเชื้อเพลิงของธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลในปี 2568

รายได้ต่อหน่วยของธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลในปี 2568 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2567 ในขณะที่ต้นทุนเชื้อเพลิงเฉลี่ยปรับเพิ่มสูงขึ้น

ในปี 2568 รายได้จากการขายไฟฟ้าต่อหน่วยคาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่ต้องการรักษาระดับค่าไฟในประเทศ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ในขณะที่ต้นทุนเชื้อเพลิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก ราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยซึ่งเป็นเชื้อเพลิงการผลิตหลัก มีทิศทางขาขึ้นตามอุปสงค์ตลาดโลกที่ขยายตัวราว 2.5% (คาดการณ์โดยองค์การพลังงานระหว่างประเทศ: IEA) อย่างไรก็ดี อุปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งมีต้นทุนที่ย่อมเยากว่า จะสามารถกลับมาผลิตได้เต็มกำลังตลอดปี 2568 ทำให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยอาจไม่เพิ่มสูงขึ้นนัก

แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิล

ในปี 2568 ธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลยังคงมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ตามแนวโน้มรายได้ที่ยังคงเพิ่มขึ้นทั้งในตลาดผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้ภาครัฐ และตลาดผลิตไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของรายได้คาดว่าจะช้าลงจากปีก่อนหน้า ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นช้าลง

ตลาดผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้ภาครัฐ

ในปี 2568 รายได้จากการผลิตไฟฟ้าฟอสซิลเพื่อขายให้ภาครัฐมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นช้าลงกว่าปี 2567 จากความต้องการใช้ไฟฟ้าในโครงข่ายภาครัฐที่ชะลอลงเป็น 1.4% ในปี 2568 จาก 3.5% ในปีก่อนหน้า (รูปที่ 2) ตามการเติบโตที่ช้าลงของการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและครัวเรือน


 
ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจ

ในปี 2568 ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจคาดว่าจะโต 1% ชะลอลงจาก 2.8% ในปี 2567 (รูปที่ 3) จากการใช้ไฟฟ้าในภาคการผลิตและภาคบริการที่เพิ่มขึ้นช้าลง
 
 


ในปี 2568 ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคผลิตคาดว่าจะโต 1.4% ขณะที่ภาคบริการคาดว่าจะโต 0.4% ชะลอตัวจาก 2.9% และ 2.6% ในปีก่อนหน้า ตามลำดับ

สำหรับภาคการผลิต การใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจาก 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ อาหารและเครื่องดื่ม และเคมีภัณฑ์และปิโตรเลียม รวมกันคิดเป็นกว่า 66% ของการใช้ไฟฟ้าภาคผลิตทั้งหมด ซึ่งในปี 2568 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เฉลี่ยของ 3 อุตสาหกรรมดังกล่าว คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1.2% ลดลงจาก 2.4% ในปี 2567 แสดงถึงกิจกรรมการผลิตที่โตช้าลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ภาพรวมความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคผลิตในปี 2568 เติบโตช้าลง

ในขณะเดียวกันการใช้ไฟฟ้าภาคบริการก็มีแนวโน้มชะลอตัวเช่นกัน เนื่องจากกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจภาคบริการทยอยฟื้นตัวและกลับมาดำเนินการได้เกือบเป็นปกติแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2567 หลังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โควิด-19 นอกจากนั้นความต้องการใช้ไฟในธุรกิจ ขายส่ง/ขายปลีก โรงแรมและที่พัก และการจัดเก็บสินค้า ซึ่งรวมกันคิดเป็นเกือบ 70% ของการใช้ไฟฟ้าภาคบริการทั้งหมด ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นช้าลงตามจำนวนการจดทะเบียนนิติบุคคลของผู้ประกอบการใหม่ที่โตช้าลง

ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน

การใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนคาดว่าจะโตขึ้น 2% ในปี 2568 ชะลอตัวจาก 5.2% ในปี 2567 (รูปที่ 4)

 
ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องตามการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราค่าไฟฟ้าที่ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบันอย่างไรก็ตาม ในปี 2568 ภาพรวมความต้องการใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะเติบโตช้าลง จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านสะสมที่ช้าลง โดยคาดว่าจะโต 1.1% จาก 1.3% ในปี 2567
 
ตลาดผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม

รายได้จากการขายไฟฟ้าแก่ผู้ใช้งานในนิคมอุตสาหกรรมในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แม้จะชะลอลงตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นช้าลงจากปีก่อนหน้า
 


รายได้จากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าฟอสซิลเอกชนให้แก่ผู้ใช้งานในนิคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แม้อัตราการเติบโตจะชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2567 สาเหตุหลักมาจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นช้าลง โดยในปี 2568 คาดว่าจะโต 0.9% จาก 2.7% ในปีก่อนหน้า (รูปที่ 5) เนื่องจากกิจกรรมการผลิตเติบโตช้าลงจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากสินค้าจีนที่ล้นตลาด

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าฟอสซิลเอกชนยังคงมีความสำคัญจากความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานในด้านคุณภาพและความเสถียรของปริมาณไฟฟ้า ซึ่งพลังงานหมุนเวียนยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ราคาไฟฟ้าฟอสซิลที่ทำสัญญาซื้อขายกับผู้ใช้งานในนิคมอุตสาหกรรมมักเป็นราคาที่มีส่วนลดจากค่าไฟฐานและค่า Ft ทำให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมีแรงจูงใจในการเลือกใช้ไฟฟ้าจากเอกชนมากขึ้น ดังนั้น แม้ว่าการเติบโตของรายได้จากการขายไฟฟ้าจะมีเเนวโน้มชะลอลงในปี 2568 แต่ทิศทางในระยะข้างหน้ายังคงเป็นบวกจากอุปสงค์ที่จะยังเติบโต โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการใหม่ เช่น ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง

ความเสี่ยงของธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลในระยะกลางถึงยาว

· ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (ร่าง PDP 2024) มีเป้าหมายในการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้า โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมีแนวโน้มลดลงจาก 38,108 MW ในปี 2566 สู่ 30,453 MW ในปี 2580 หรือลดลงราว 20% ขณะที่สัดส่วนอุปทานเชื้อเพลิงฟอสซิลคาดว่าจะลดลงจาก 72% ในปี 2566 สู่ 49% ในปี 2580 อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว การผลิตไฟฟ้าโดยเชื้อเพลิงฟอสซิลจะมีทิศทางลดลงได้อีก เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608

· ความจำเป็นในการปรับตัวและการเปลี่ยนผ่านสู่ประเภทเชื้อเพลิงใหม่ โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนเมื่อหมดสัญญากับคู่ค้า แม้โรงไฟฟ้าฟอสซิลโดยมากจะถือสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับคู่ค้า อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากกระแสรักษ์โลกและการพัฒนาของเทคโนโลยี ส่งผลให้ธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับตัวสู่พลังงานทางเลือกใหม่ ซึ่งต้องใช้เงินในการลงทุนในการพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

· ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหันมาใช้ไฟฟ้าสะอาดมากขึ้น เนื่องจาก พ.ร.บ. Climate Change และกฎระเบียบการค้าโลกด้านสิ่งแวดล้อมที่เคร่งครัดมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป ที่มีการใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ซึ่งทำให้ผู้ผลิตในนิคมอุตสาหกรรมเริ่มหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดส่งออก

· อุปทานก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ต้องมีการนำเข้า LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (ร่าง Gas Plan 2024) ระบุว่าจากอุปทานทั้งหมด การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในไทยมีแนวโน้มลดลงเหลือเพียง 36% ในปี 2580 จาก 55% ในปี 2567 สวนทางกับการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้น โดยราคา LNG สูงกว่าก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าฟอสซิลมีทิศทางเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อุปทานก๊าซธรรมชาติในไทยอาจมีการเปลี่ยนแปลง หากมีการเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (OCA) ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่ยังไม่ทราบผลแน่ชัด และต้องใช้ระยะเวลา
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ธ.ค. 2567 เวลา : 18:37:13
27-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 27, 2024, 8:58 am