หนี้ครัวเรือนเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย ภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความสำคัญและร่วมกันผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2567 เป็นการวางรากฐานแนวทางแก้ไขปัญหาให้ลูกหนี้อย่างยั่งยืน ผ่านความเข้มงวดในการกำกับสถาบันการเงินให้ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งก่อนและหลังการเป็นหนี้เสีย อย่างไรก็ดี การเติบโตของเศรษฐกิจยังมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน รายได้ของครัวเรือนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) บางกลุ่มยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ขณะที่ภาระหนี้และค่าครองชีพหรือต้นทุนการประกอบธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจำนวนมากยังเผชิญกับปัญหาในการชำระหนี้อยู่
กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) บางแห่ง จึงได้ร่วมกันผลักดันมาตรการชั่วคราวเพิ่มเติม ภายใต้ชื่อโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม โดยมีกลไกการส่งเสริมวินัยทางการเงินควบคู่ไปกับการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการเสียวินัยในการชำระหนี้ (moral hazard) ในภายหลัง
โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” นับเป็นการประสานบทบาทของทั้งภาครัฐ เอกชน และลูกหนี้ ในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในกลุ่มเปราะบาง โดยลูกหนี้จะต้องลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการและชำระหนี้ตามเงื่อนไข ขณะที่ภาครัฐและสถาบันการเงินจะร่วมสนับสนุนเม็ดเงินในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมฝ่ายละครึ่งหนึ่ง (50%) เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ร่วมโครงการ
โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่
มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและพักภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะได้รับการยกเว้น หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดระยะเวลาของมาตรการ (ชำระเงินตรงเวลาและไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกของการเข้าโครงการฯ) มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” มีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่วงเงินไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ โดยจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตให้กับลูกหนี้ โดยค่างวดที่ลดลงจะทำให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเหลือสำหรับดำรงชีพเพิ่มเติมระหว่างอยู่ในมาตรการ ขณะที่ดอกเบี้ยที่ได้รับยกเว้นจะช่วยให้ภาระหนี้โดยรวมของลูกหนี้ลดลง
มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” เป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยลูกหนี้จะต้องเข้ามาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้บางส่วน ซึ่งมาตรการ “จ่าย ปิด จบ” นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก “หนี้เสีย” เป็น “ปิดจบหนี้” และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น
ในช่วงเริ่มต้น โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จะครอบคลุมลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์
ในระยะต่อไป ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-bank อื่น ๆ จะมีความช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไป เพื่อร่วมกันผลักดันให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม
ในวงกว้างและครอบคลุมลูกหนี้ได้มากขึ้น
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน โดยเชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ภาครัฐและเอกชนจึงร่วมกันออกโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ขนาดเล็ก ครอบคลุมลูกหนี้รวมจำนวน 2.1 ล้านบัญชีเป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านราย และมียอดหนี้รวมประมาณ 8.9 แสนล้านบาท ทั้งนี้ การแก้หนี้ที่ยั่งยืนต้องควบคู่ไปกับการเพิ่มทักษะ (upskill/reskill) และเสริมสร้างรายได้ให้กับลูกหนี้ ซึ่งเป็นอีกด้านที่รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาและยกระดับรายได้ของครัวเรือนให้ดียิ่งขึ้น”
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นงานที่ ธปท. ให้ความสำคัญและผลักดันมาต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจเติบได้อย่างยั่งยืน โดยโครงการนี้มี 2 จุดสำคัญที่ต่างจากที่ผ่านมา คือ (1) การปรับโครงสร้างหนี้ที่เน้นตัดเงินต้น และลดภาระผ่อนในช่วง 3 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ (2) การร่วมสมทบเงิน (Co-payment) จากภาครัฐและสถาบันการเงินเพื่อช่วยลดภาระจ่ายของลูกหนี้ โดยชื่อของโครงการนี้สะท้อนความตั้งใจของทุกฝ่าย โดย “คุณสู้” สะท้อนถึงลูกหนี้ที่พร้อมจะสู้ต่อในการแก้ไขปัญหาหนี้ ส่วน “เราช่วย” คือ ภาครัฐและสถาบันการเงินที่พร้อมช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อลดภาระและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น ความสำเร็จของโครงการนี้ จึงถือเป็นความร่วมมือจากทั้งลูกหนี้ ภาครัฐ และเจ้าหนี้ ในการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน”
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า “สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก พร้อมสนับสนุนภาครัฐในโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้การช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงบริษัทลูกในกลุ่มได้ราว 1.5 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท โดยการร่วมมือกับภาครัฐเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้โครงการนี้ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมธนาคารไทยในการจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ไม่ทำให้ใครต้องตกไปอยู่นอกระบบจากโครงสร้างหรือข้อจำกัดของระบบ และภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” นั้น ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบอย่างเป็นธรรม กระตุกพลังในการปรับโครงสร้าง เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน”
Mr.Giorgio Gamba ประธานสมาคมธนาคารนานาชาติ กล่าวว่า “สมาคมธนาคารนานาชาติพร้อมสนับสนุนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs และมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศอย่างเต็มที่ โดยเห็นพ้องกับแนวทางการดำเนินการของโครงการ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของสถาบันการเงินในการช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการสมทบเงินร่วมกับภาครัฐ
(Co-payment) ผ่านกลไกการจัดตั้งแหล่งเงินทุนกลางภายใต้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) โดยสมาคมธนาคารนานาชาติยินดีให้ความร่วมมือและดำเนินการตามโครงการ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางให้สามารถชำระหนี้และไปต่อได้”
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า “สถาบันการเงินของรัฐ พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และ ธปท. ในการสนับสนุนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” อย่างเต็มที่ โดยโครงการนี้จะช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีโอกาสรอดให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ และยังมีการออกแบบกลไกการส่งเสริมวินัยทางการเงินควบคู่กับการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้เสียวินัยในการชำระหนี้ด้วย ทั้งนี้ สถาบันการเงินของรัฐอยู่ระหว่างการหารือกับ ธปท. และกระทรวงการคลัง ในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ของกลุ่ม Non-bank รวมถึงการพิจารณามาตรการเพิ่มเติม เพื่อส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้กลุ่มเปราะบางในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งจะไม่ทับซ้อนกับกลุ่มลูกหนี้ของโครงการนี้ ทั้งนี้ คาดว่ามีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ทั้ง 2 มาตรการของสถาบันการเงินของรัฐ จำนวนประมาณ 6 แสนบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 4.5 แสนล้านบาท”
กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) มุ่งหวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่ประสบปัญหาในการชำระหนี้ได้รับความช่วยเหลืออย่างตรงจุด สามารถฟื้นตัวและกลับมาชำระหนี้ได้หลังสิ้นสุดโครงการ นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างบูรณาการต่อไป
ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสามารถศึกษารายละเอียดของมาตรการและสมัครเข้าร่วมมาตรการได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568
ข่าวเด่น