บสย.จัดประชุม Town Hall Meeting ครั้งที่ 3/2567 ส่งท้ายปี 2567 ภายใต้แนวคิด “TCG NEXT ก้าวสู่อนาคตด้วยความแข็งแกร่ง” ปลุกพลังพนักงาน ผนึกกำลังยกระดับองค์กร ร่วม Transform 4 มิติหลัก เพิ่มศักยภาพการช่วยเหลือ SMEs ในประเทศไทย พร้อมก้าวสู่ Next Move อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดงานประชุมพนักงานทุกระดับครั้งที่ 3/2567 (The 3rd Town Hall Meeting 2024) รูปแบบ Hybrid Meeting ภายใต้แนวคิด “TCG NEXT ก้าวสู่อนาคตด้วยความแข็งแกร่ง” ปลุกพลังพนักงานร่วมขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่าง แข็งแกร่งและยั่งยืน ตลอดปี 2568 นำโดย นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ และสำนักงานเขตทั่วประเทศ กว่า 400 คน ร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุม ชั้น 21 อาคารชาญอิสสระทาวเวอร์ 2 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567
นายสิทธิกร กล่าวว่า การจัดประชุม Town Hall Meeting ครั้งที่ 3/2567 เป็นการส่งท้ายปี 2567 โดยมีเป้าหมายปลุกพลังของพนักงานทุกคน ให้เกิดการรวมพลังของพนักงานในองค์กร จะช่วยให้บสย.บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ พร้อมเชิญชวนพนักงานทุกคน ร่วมยกระดับองค์กรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ตามพันธกิจหลักของ บสย. พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 ท่ามกลางความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ และพันธกิจในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย.
ภายในงาน บสย. ยังได้เปิดตัว Role Model ตามค่านิยมองค์กรเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้ผู้บริหารสายงานแต่ละท่านเป็น Role Model สำหรับค่านิยมองค์กร TCG FAST FIRST (T – Think Innovatively, C – Connectivity และ G – Good Governance) แต่ละด้าน โดยคุณสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป เป็น Role Model สาหรับค่านิยมในทุกๆ ด้าน
นอกจากนี้ ยังมีการประกาศผลดำเนินงาน บสย. ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. – พ.ย.) บสย. มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 48,089 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้น 82,645 ราย โดยเฉพาะโครงการหลัก PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” ตั้งแต่เปิดโครงการวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ถึง 30 พฤศจิกายน 2567 มียอดค้ำประกัน 24,063 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 24,660 ราย ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่ไม่เคยใช้บริการ บสย. ถึง 75% (ลูกค้าใหม่) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Micro SMEs สะท้อนว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือ “กลุ่มเปราะบาง” ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า อาชีพอิสระ ที่มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อ ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น
อีกผลงานที่โดดเด่นคือ การช่วยแก้หนี้ให้กับลูกหนี้ (ผู้ประกอบการ SMEs ที่ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยให้สถาบันการเงิน) ผ่าน มาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” (มาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว) ช่วย ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้สามารถกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้ โดยตั้งแต่ออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2565 ถึงปัจจุบัน บสย. ประสบผลสำเร็จในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อที่ถูกจ่ายเคลมไปแล้วถึง 17,934 ราย (ในปี 2567 ระยะเวลา 11 เดือน จำนวน 3,482 ราย) คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 10,718 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 33 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย.
ส่วนทิศทางในปี 2568 บสย. ยังคงมุ่งมั่นสานต่อภารกิจ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. ช่วยเติมทุน เสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถปรับตัว และต่อยอดธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจากเป้าหมายดังกล่าว บสย. พร้อมยกระดับ Transforms องค์กรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือ SMEs ในประเทศไทย โดยเน้น 4 มิติหลัก ดังนี้
1. ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม และพัฒนาช่องทางการให้บริการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การปรับโฉมและยกระดับสำนักงานเขตทั่วประเทศ (Branch Reformat) สู่การเป็นศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ร่วมกับช่องทาง Digital LINE OA : @tcgfirst
2. ด้านการพัฒนาเครื่องมือโมเดลวิเคราะห์ความเสี่ยงในรูปแบบข้อมูลทางเลือก (Alternative Credit Scoring Model) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบ RBP (Risk-Based Pricing) คิดค่าธรรมเนียมตามระดับความเสี่ยงของ SMEs ช่วยผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันลดลงตามระดับความเสี่ยง โดยนำเครื่องมือ Credit Scoring มาใช้ในการพิจารณาค้ำประกันสินเชื่อ
3. ด้านการใช้ประโยชน์จาก Big Data ฐานข้อมูลการค้ำประกันสินเชื่อตลอดระยะเวลา 33 ปี มาวิเคราะห์ข้อมูลในมิติด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาโอกาสในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้มากยิ่งขึ้น ร่วมกับ Stakeholders ที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม
4. ด้านการใช้ Digital Disruption เป็นแรงขับเคลื่อนองค์กร เพื่อพัฒนาระบบงาน และบริการใหม่ ๆ ทางการเงินบน Virtual Banking
“ในปี 2568 ยังมีความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะการยกระดับองค์กรทั้ง 4 มิติ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกๆ คนในองค์กรร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน สู่เป้าหมายการเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือ SMEs ในประเทศไทย เพื่อให้ บสย. เป็นองค์กรที่ตอบโจทย์ SMEs ในทุกๆ มิติ” นายสิทธิกร กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น