แบงก์-นอนแบงก์
EXIM BANK คาดเศรษฐกิจและส่งออกไทยปี 68 โตแตะ 3% ชี้สินค้าไทยหมวดอาหาร-รักษ์โลก-สร้างความสุข ยืน 1 ในตลาดโลก


ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3% ด้วยแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุน และการบริโภค ควบคู่กับความต้องการจากต่างประเทศในภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกซึ่งมีแนวโน้มขยายตัว เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่อง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปี 2568 จะขยายตัว 3.2% (เท่ากับปี 2567) และการค้าโลกปี 2568 จะขยายตัว 3.4% (สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ราว 2.8%) ตลาดที่มีศักยภาพ ได้แก่ ตลาดเกิดใหม่ อาทิ อินเดีย CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) อาเซียน 5 ประเทศ และตะวันออกกลาง ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2568 สูงถึง 6.5%, 5.3%, 4.5% และ 3.8% ตามลำดับ ทำให้คาดว่าการส่งออกไทยปี 2568 จะขยายตัว 3% 
 

 
“เศรษฐกิจไทยโต 3% ครั้งแรกในรอบ 6 ปี มาจากปัจจัยด้านงบประมาณประจำปี 2568 ที่อัดฉีดเม็ดเงิน 3.75 ล้านล้านบาท เข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว 7.8% ส่วนทางด้านยอดการขออนุมัติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในรูปแบบ Foreign direct investment (FDI) ก็เพิ่มมากขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยคาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 7.2 แสนล้านบาท สำหรับปริมาณการบริโภค ภายในประเทศก็ปรับตัวดีขึ้น ด้วยอัตราการว่างงานที่ต่ำ มาตรการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาลที่ได้เข้าไปสู่ในบางกลุ่มแล้ว รวมถึงความหวังที่จะได้เห็นการปรับค่าแรงขึ้นมาที่ 400 บาท/วัน และดัชนีความเชื่อมั่นที่เติบโตเกินกว่า 50% ติดต่อกัน

ด้านการท่องเที่ยว เราเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศมากกว่า 30 ล้านคนเป็นที่แน่นอนแล้ว ในปีหน้าก็คาดว่าน่าจะเห็นยอดเพิ่มขึ้นประมาณ 40 ล้านคน หรือก็คือภาคท่องเที่ยวจะเข้าสู่ Status เดิมก่อนที่จะเจอ COVID-19 และด้านภาคการส่งออก เราก็มองว่าจะมีการเติบโตที่ 3% แน่นอนเช่นกันในปี  2568” ดร.รักษ์ กล่าว

 
โดยสินค้าไทย ยังเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรและอาหาร และสำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์ ก็เป็นจุดแข็งของผู้ประกอบการไทย ได้แก่สินค้าในหมวด เครื่องสำอาง อาหารสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ตาม ยังมีความผันผวนที่ต้องจับตา โดยเฉพาะเรื่องของ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ในฝั่งตะวันออกกลางที่อาจส่งผลให้ค่าระวางและราคาน้ำมันผันผวนแล้ว ความผันผวนของค่าเงิน และสงครามการค้ารอบใหม่ (Trade War 2.0) จากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ ของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในช่วง ม.ค. ปีหน้า ซึ่งความเสี่ยงของค่าเงินก็ได้เห็นสัญญาณจากที่ค่าเงินบาทไทยผันผวนหลุดระดับ 34 บาทลงไปอยู่ที่ 33.7 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อช่วงอาทิตย์ที่แล้ว

 
“จากการกลับมาของทรัมป์ ทำให้โลกกำลังแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอำนาจ และผันผวนไปทั้ง 2 ทางจากการทำสงครามทางการค้า เพราะการที่ทรัมป์มีการใช้พื้นที่สื่อประกาศที่จะเก็บภาษีนำเข้ากับจีนสูงถึง 60% ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงภายหลังลดลงมาเป็น 10% แทนนั้น ในกลุ่มประเทศที่คิดว่าจะได้เปรียบจากโอกาสของการเพิ่มดุลทางการค้ากับสหรัฐมากขึ้นเพื่อทดแทนช่องว่างของสินค้าจีนที่หายไป ตอนนี้ทรัมป์ได้กลับลำมาขึ้นภาษีที่สูงขึ้นแทน เช่น เม็กซิโก แคนาดา ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าที่ 25% ส่วนประเทศในกลุ่ม BRICS ก็มีการขู่ว่าจะขึ้นภาษีสูงถึง 100% หากสร้างสกุลเงินใหม่ นอกจากนี้คาดว่าสหรัฐ จะไม่เอา NATO อีกต่อไป เนื่องจากเป็นการทุ่มงบประมาณมหาศาลนั้นเป็นการใช้จ่ายโดยสิ้นเปลือง มีการคว่ำบาตรอิหร่านต่อแน่นอน ส่วนความสัมพันธ์กับอิสราเอล ก็มีแนวโน้มจะสนับสนุนต่อ ซึ่งอาจทำให้สงครามดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป แต่ทางด้านสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มว่าทรัมป์จะเป็นตัวกลางในการยุติสงครามดังกล่าว

ส่วนความตั้งใจที่จะทำให้ America Great Again นอกจากเพิ่มภาษีศุลกรดังกล่าวแล้ว ทรัมป์ยังได้ลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% ซึ่งเป็นการ Reshoring หรือนักลงทุนชาวอเมริกันให้กลับเข้ามาลงทุนในประเทศ ทำให้สหรัฐกลับมาได้เปรียบ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น แต่ก็ผลักดันให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหรัฐก็ยังดำเนินลดต่อไปแต่จะมีความล่าช้าลง โดยปีหน้าน่าจะมีการปรับลดที่1-2 ครั้ง” ดร.รักษ์ กล่าว


 
ซึ่งสำหรับปัจจัยผันผวนรอบด้านนี้ EXIM BANK แนะนำว่า ผู้ประกอบการไทยไม่ควรเข้าไปแข็งขันกับจีนในหมวดสินค้าที่ไม่มีความสามารถที่จะแข็งขันได้ แม้จะมีเงินอุดหนุนจากภาครัฐ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำออกมาช่วยก็ตาม เช่น โครงการช่วยเหลือ SMEs คุณสู้ เราช่วย เพราะความตั้งใจของโครงการต่าง ๆ เป็นการให้เวลาผู้ประกอบการไทยเป็นเวลา 3 ปีเพื่อให้สามารถลดรายจ่าย (จากการจ่ายหนี้มีจำนวนน้อยลง) และที่สำคัญคือต้องมีการปรับตัวเพื่อไปต่อในตลาดต่างประเทศ โดยปี 2568 นี้ EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้นำผู้ประกอบการไทยรุกตลาดการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ  ส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพมากที่สุด สอดรับกับเทรนด์ผู้บริโภคในโลกการค้ายุคใหม่ ได้แก่ 1. สินค้าตอบโจทย์ความมั่นคงด้านอาหาร (Food for Security) ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับ 10 ของประเทศผู้ผลิตอาหารต่อคนมากที่สุดในโลก สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก ได้แก่ เนื้อไก่และไก่แปรรูป น้ำตาลทรายที่ตอนนี้ไทยกำลังเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และทูน่ากระป๋องซาร์ดีนกระป๋อง 2. สินค้ารักษ์โลก (Good for Planet) สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก ได้แก่ เม็ดพลาสติกชีวภาพ (Polylactic Acid : PLA) และแผงโซลาร์เซลล์ 3. สินค้าและบริการที่สร้างความสุขหรือประสบการณ์ใหม่ (Mood for Joy) สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องประดับเงิน เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นอกจากนี้ สินค้าที่มีโอกาสเติบโตในปี 2568 ยังได้แก่ สินค้าที่ได้รับผลดีจากนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้แก่ สินค้าเครื่องปรับอากาศ ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักถึงคุณภาพว่าดีกว่าของทางจีน และหม้อแปลงไฟฟ้าที่ไทยอาจสามารถกลับมาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น หากสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนและประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้นตามที่ได้เคยประกาศนโยบายไว้


 
ด้านความท้าทายของเรื่อง NET Zero ที่สหรัฐ ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก อาจกำลังถอนตัวจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ลดเงินสนับสนุนกองทุนในรัฐบาลสมัยที่แล้วอย่าง Green House Reduction และกองทุนสีเขียวอื่น ๆ นั้นส่งผลกระทบเล็กน้อยเทียบกับ อีก  4 ประเทศติด Top ที่เหลือ ที่กำลังเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซมลพิษดังกล่าว ดังนั้นในมุมของ Green Financing  โลกยังมีความต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้นอีก 6 เท่า EXIM BANK จึงยังคงเดินหน้าบทบาท Green Development Bank นำทัพผู้ประกอบการไทยขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำและสร้างโลกที่ยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) เป็น 40% ภายในปี 2568 พร้อมเปิดตัวบริการใหม่ด้านวาณิชธนกิจ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ จัดหาเงินทุนสำหรับโครงการ รวมถึงค้ำประกันหุ้นกู้ (Bond Guarantee) แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่คำนึงถึง ESG ขณะเดียวกัน EXIM BANK สนับสนุนธุรกิจส่งออกและการลงทุนที่ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำพาธุรกิจไทยทุกขนาดเข้าสู่ Green Export Supply Chain และมุ่งสู่เป้าหมายธนาคารด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2570 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 โดยสอดคล้องกับความต้องการของโลกในการสนับสนุนทางการเงินเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ซึ่งประเมินว่าสูงถึง 8.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ตัวเลข Climate Finance ปี 2565 มีอยู่เพียง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เท่ากับว่ายังขาดเม็ดเงินอีกมูลค่ามหาศาลในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว

ในการดำเนินบทบาท Green Development Bank ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 EXIM BANK มียอดสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพัน 179,316 ล้านบาท และคาดว่าจะสูงกว่า 190,000 ล้านบาทภายในสิ้นปี 2567 เพิ่มขึ้น 6.8% จาก 177,932 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) คาดว่าจะอยู่ที่ 3.49% ลดลงถึง 1.2% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน เป็นผลจากการติดตามคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิดของธนาคาร ทำให้คาดว่า ณ สิ้นปี 2567 EXIM BANK จะสามารถทำกำไรสุทธิได้สูงกว่า 1,000 ล้านบาท

“ปี 2568 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบคู่ที่ทำงานพร้อมกันทั้งจากอุปสงค์ภายในและภายนอกประเทศ ขณะที่โอกาสของธุรกิจไทยยังมีอยู่อีกมากในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจที่สามารถพัฒนาสินค้าหรือบริการตอบโจทย์เทรนด์ของตลาดโลกได้ EXIM BANK จึงเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการส่งออก ด้วยนวัตกรรมทางการเงินที่จะช่วยเสริมหรือติดอาวุธให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้มากขึ้นในเวทีโลก นำพาธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน ท่ามกลางความไม่แน่นอนในตลาดการค้าโลกปัจจุบัน”  ดร.รักษ์ กล่าวทิ้งท้าย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ธ.ค. 2567 เวลา : 15:59:46
22-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 22, 2025, 5:13 pm