การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
"รองนายกฯ ประเสริฐ" มอบ สทนช. จัดเวทีให้ข้อมูลโครงการฯ เขื่อนสานะคาม สปป.ลาว รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน 8 จังหวัดริมน้ำโขง ย้ำต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง


“รองนายกฯ ประเสริฐ” นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย หารือการดำเนินการตามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป. ลาว มอบ สทนช. ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จัดเวทีให้ข้อมูลโครงการฯ แก่ภาคประชาชน 8 จังหวัดริมน้ำโขง เพื่อรับฟังและรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อห่วงกังวล ย้ำต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งและรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 
วันนี้ (17 ธ.ค. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 2/2567 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 109 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล

 
โดยรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าของงานที่สำคัญภายใต้การดําเนินงานของคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้แก่ การจัดเตรียมเอกสารโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูงอย ของ สปป.ลาว เพื่อยื่นเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PC) ตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) และข้อตกลงแม่น้ำโขง โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ สทนช. รวบรวมความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีต่อโครงการฯ เขื่อนภูงอย ส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) เพื่อปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อมูลให้เพียงพอในรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น พร้อมกันนี้ ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วม (JAP) โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ปากลาย และหลวงพระบาง ของ สปป.ลาว ทั้ง 3 โครงการ โดยมอบหมายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะคู่สัญญาให้กำกับติดตามการดำเนินงานของผู้พัฒนาโครงการให้เป็นไปตาม JAP ที่ประเทศสมาชิกได้ตกลงกันและตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟอย่างเคร่งครัด และรายงาน สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขาฯ เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

 
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินการตามกระบวนการ PC ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว ภายใต้ PNPCA และข้อตกลงแม่น้ำโขง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ สทนช. ร่วมกับ MRCS ดำเนินการจัดเวทีให้ข้อมูลโครงการฯ แก่ภาคประชาชน 8 จังหวัดริมน้ำโขง ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ ซึ่งเวทีแรกมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมพิจารณาให้ความเห็นและข้อห่วงกังวลจากผลกระทบข้ามพรมแดนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากโครงการเขื่อนสานะคาม พร้อมทั้งได้มอบหมาย สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย รวบรวม สรุปและวิเคราะห์ความเห็นต่อโครงการฯ ดังกล่าว จากทุกภาคส่วน เพื่อนำมายกร่างเป็นแบบตอบกลับความคิดเห็น (Reply Form) อย่างเป็นทางการของประเทศไทย ให้ชัดเจนและครอบคลุม และเสนอคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยต่อไป ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานได้เน้นย้ำให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งและรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
 
 
ด้าน เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเวทีให้ข้อมูลภายในประเทศของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว สทนช. ได้เชิญผู้พัฒนาโครงการ ผู้แทน MRCS ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทย ร่วมให้ข้อมูลแก่ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงและเครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ โดยจะนำเสนอผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจจะเกิดขึ้นทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านอุทกวิทยา/ชลศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพลำน้ำและการไหล ด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและการประมง ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดย สทนช. จะเร่งดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย พร้อมทั้งนำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากที่ประชุมมาใช้ในการขับเคลื่อนงานเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ธ.ค. 2567 เวลา : 17:12:31
23-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 23, 2024, 11:03 am