โครงการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จของระบบเครื่องกลและไฟฟ้าในโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีส้ม ครอบคลุมการส่งมอบขบวนรถไฟฟ้าขนาด 3 ตู้จำนวน 32 ขบวน รวมถึงการบูรณาการระบบเครื่องกลและไฟฟ้า พร้อมสัญญาซ่อมบำรุง
โครงการปรับปรุงรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ครอบคลุมการส่งมอบรถไฟฟ้าขนาด 3 ตู้เพิ่มเติมจำนวน 21 ขบวน รวมถึงการปรับปรุงระบบเครื่องกลและไฟฟ้าเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความถี่การเดินรถพร้อมสัญญาซ่อมบำรุง
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญาฉบับที่ 2 และ 3 ครอบคลุมการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมขั้นสูงเพื่อเสริมการเชื่อมต่อระหว่างเมืองสำหรับระบบรถไฟภาคเหนือของประเทศไทย
เมื่อไม่นานนี้ กลุ่มบริษัทซีเมนส์ โมบิลิตี้ และกลุ่มบริษัทพันธมิตร บริษัท โบซานคายาและบริษัท เอสที เอ็นจิเนียริ่ง เออร์เบิน โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินงานภายใต้สัญญาหลายฉบับในหลายโครงการสำคัญ ประกอบด้วยโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีส้มและสายสีน้ำเงินในกรุงเทพมหานคร สัญญาดังกล่าวครอบคลุมถึงการส่งมอบขบวนรถใหม่ทั้งหมด 53 ขบวน รวมถึงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณและการซ่อมบำรุง นอกจากนี้ ซีเมนส์ โมบิลิตี้ ยังได้รับมอบหมายให้ขยายการเชื่อมต่อระหว่างเมืองในภาคเหนือของประเทศไทยด้วยระบบอาณัติสัญญาณและระบบโทรคมนาคมผ่านโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ถือว่าเป็นอีกก้าวสำคัญสำหรับซีเมนส์ โมบิลิตี้ในประเทศไทย โดยโครงการดังกล่าวได้รับการว่าจ้างจาก บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ปี 2567 ถึงปี 2582 ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและสร้างความยั่งยืนให้กับเครือข่ายการขนส่งสาธารณะทั้งในเมืองและระหว่างเมือง
นายไมเคิล ปีเตอร์ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า "ในฐานะพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในประเทศไทยมายาวนานกว่า 30 ปี เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของกรุงเทพฯ และมีบทบาทในการสร้างสรรค์การเดินทางในประเทศไทยเพื่อคนรุ่นต่อไป เทคโนโลยีของเราในปัจจุบันได้ให้บริการแก่ผู้โดยสารมากกว่า 1 ล้านคนในกรุงเทพฯ ทุกวัน ช่วยลดปัญหาความแออัดและเวลาการเดินทางในกรุงเทพฯ เป็นอย่างดี และด้วยขบวนรถไฟใหม่จำนวน 53 ขบวน ระบบสัญญาณและโทรคมนาคมที่ทันสมัย การบริการบำรุงรักษาระยะยาวสำหรับสายสีส้ม สายสีน้ำเงิน รวมถึงการเชื่อมต่อสายหลักทางตอนเหนือของประเทศ จะทำให้ผู้คนสามารถเดินทางถึงจุดหมายได้อย่างรวดเร็วและไร้การปล่อยก๊าซมลพิษมากขึ้น"
ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จะส่งมอบรถไฟฟ้าใหม่ 32 ขบวนและระบบบูรณาการให้กับรถไฟฟ้า MRT สายสีส้ม พร้อมดูแลการซ่อมบำรุง
กลุ่มบริษัทซีเมนส์ โมบิลิตี้ และกลุ่มบริษัทพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เอสที เอ็นจิเนียริ่ง เออร์เบิน โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทผู้ผลิตรถไฟ จากประเทศตุรกี บริษัท โบซานคายา ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินงานภายใต้สัญญาโครงการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey) รถไฟฟ้า MRT สายสีส้ม โดยสัญญาดังกล่าวครอบคลุมการส่งมอบขบวนรถไฟ 32 ขบวน 3 ตู้ รวมไปถึงการออกแบบ ติดตั้ง และบูรณาการระบบกลไกและไฟฟ้าที่ครอบคลุมเส้นทาง 35.9 กิโลเมตร โดยขบวนรถไฟฟ้าจะให้บริการทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของเส้นทาง ซึ่งมีระยะทางทั้งใต้ดินและทางยกระดับ ขอบเขตความรับผิดชอบในสัญญาฉบับนี้ครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาตัวรถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ประตูอัตโนมัติกั้นชานชาลา และระบบแสดงผลข้อมูลโดยสารรถไฟฟ้า เพื่อความมั่นใจว่าจะมอบโซลูชันการขนส่งจะที่มีประสิทธิภาพสูงและบูรณาการครบวงจร โดยขบวนรถไฟฟ้ารุ่นใหม่นี้มาพร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ??ภายในกว้างขวาง ระบบปรับอากาศประสิทธิภาพสูง พร้อมระบบแสดงผลข้อมูลทันสมัย เพื่อให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายของผู้โดยสาร นอกจากนี้ โซลูชันประหยัดพลังงานของ ซีเมนส์ โมบิลิตี้ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของกรุงเทพฯ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ โดยรวมของระบบรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยิ่งไปกว่านั้นซีเมนส์ โมบิลิตี้ยังได้รับสัญญาบำรุงรักษาระยะยาวเพื่อการดำเนินงานของรถไฟฟ้าที่เชื่อถือได้และราบรื่นต่อไป
ซีเมนส์ โมบิลิตี้ เพิ่มศักยภาพ MRT รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ด้วยขบวนรถใหม่ 21 ขบวน พร้อมปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณและขยายบริการซ่อมบำรุงรักษาให้ยาวนานยิ่งขึ้น
ซีเมนส์ โมบิลิตี้ ยังได้รับสัญญาสำหรับโครงการปรับปรุงรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน จัดหาขบวนรถไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติมจำนวน 21 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ และการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณและระบบตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real-time (SCADA) ที่มีอยู่เดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ระยะห่างระหว่างขบวนรถ สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีระยะทางรวม 48 กิโลเมตร และสถานีทั้งหมด 38 สถานี ถือเป็นส่วนสำคัญของเครือข่ายการขนส่งในกรุงเทพฯ ซึ่งซีเมนส์ โมบิลิตี้ มีบทบาทสำคัญพัฒนารถไฟฟ้าสายนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 โดยให้การสนับสนุนทั้งการขยายและปรับปรุงให้มีความทันสมัยมาโดยตลอด นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เซ็นสัญญาการบำรุงรักษาครบวงจรสำหรับขบวนรถไฟใหม่ที่เพิ่มเติมมา รวมถึงการขยายสัญญาการบำรุงรักษาครบวงจรที่มีอยู่เดิม โดยมีขอบเขตการบริการครอบคลุมระบบสำคัญทั้งหมด ประกอบด้วยตัวรถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ประตูอัตโนมัติกั้นชานชาลา ระบบจ่ายไฟ และระบบตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real-time (SCADA) รวมถึงระบบแสดงข้อมูลโดยสารรถไฟฟ้าระบบการจัดการคลังสินค้า และศูนย์รับรายงานความบกพร่อง หรือ Fault Reporting Center ทั้งหมดนี้เพื่อตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการรับประกันว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะยังคงเป็นส่วนสำคัญที่มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือของโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ไปจนถึงปี พ.ศ.2582
ขยายการเชื่อมต่อขนส่งระบบรางของประเทศไทยในเส้นทางเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ
นอกเหนือจากโครงการรถไฟฟ้า MRT ในกรุงเทพฯ ซีเมนส์ โมบิลิตี้ยังได้รับสัญญาในการพัฒนาการเชื่อมต่อรถไฟระหว่างเมืองผ่านโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ โดยได้รับสัญญาในสองส่วน คือสัญญาที่ 2 (งาว - เชียงราย ระยะทาง 132 กิโลเมตร มี 11 สถานี) และในสัญญาที่ 3 (เชียงราย - เชียงของ ระยะทาง 87 กิโลเมตร มี 7 สถานี) บริษัทฯ จะติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและระบบโทรคมนาคมที่ทันสมัยตลอดทั้งสาย ซึ่งรวมถึงระบบควบคุมอาณัติสัญญาณจากศูนย์กลาง (CTC) และระบบควบคุมรถไฟฟ้าอัตโนมัติ ที่เป็นไปตามมาตรฐานยุโรป ระดับที่ 1 (ETCS Level 1)
ระบบอาณัติสัญญาณและระบบโทรคมนาคมนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาก่อสร้างทางรถไฟหลัก องค์ประกอบสำคัญในสัญญานี้ได้แก่ ระบบบังคับสัมพันธ์ Trackguard Westrace MKII, ระบบควบคุมอาณัติสัญญาณจากศูนย์กลาง (CTC) Controlguide Rail9000, จอควบคุมอาณัติสัญญาณจราจรโดยนายสถานี, ระบบ ETCS L1, ประแจสับราง, ระบบตรวจสอบตำแหน่งรถไฟโดยใช้วงจรไฟตอน, และเครื่องนับเพลา Clearguard ACM250 และมีอุปกรณ์ระบบอาณัติสัญญาณเพิ่มเติมที่จัดหาจากในประเทศ สำหรับงานวิศวกรรมส่วนใหญ่จะดำเนินการในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญของซีเมนส์จากสเปน ออสเตรเลีย และเยอรมนี
การพัฒนาระบบขนส่งเพื่อทุกคนในประเทศไทย
ซีเมนส์ โมบิลิตี้ ในฐานะผู้นำระดับโลกด้านโซลูชันคมนาคมขนส่งทางราง ได้รับความไว้วางใจอย่างต่อเนื่องมายาวนานกว่า 30 ปี ผ่านการดำเนินโครงการสำคัญต่าง ๆ และการเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในประเทศไทย ตั้งแต่โครงการระบบขนส่งมวลชนยกระดับแห่งแรกของกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2537 จนถึงรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก (สายสีน้ำเงิน หรือสายเฉลิมรัชมงคล) ในปี พ.ศ.2547 นายโธมัสค์ มาซัวร์ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด ประเทศไทย กล่าวว่า "โครงการที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ทำให้บริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ ได้รับความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากพันธมิตร ส่งผลให้เกิดความร่วมมือในระยะยาว บริษัทฯ มีความภาคภูมิใจที่ได้รับเลือกให้เป็นพันธมิตรในการขยายเครือข่ายรถไฟของประเทศไทย และจะยังคงมุ่งมั่นที่จะนำเสนอโซลูชันการขนส่งอย่างยั่งยืนแบบไร้รอยต่อ ที่เชื่อถือได้ กับประเทศไทยต่อไป”
ข่าวเด่น