การค้า-อุตสาหกรรม
รัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดสัมมนาปลายปีครั้งใหญ่ "ปลดล็อกเกษตรไทย ทุกปัจจัยคือโอกาส" ด้าน สศก. แถลง GDP เกษตร ปี 67 หดตัวร้อยละ 1.1 คาด ปี 68 ขยายตัวร้อยละ 1.8 - 2.8


ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษงานสัมมนาใหญ่ประจำปีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) “ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2567 และแนวโน้มปี 2568 Unbox & Unlock Thai Agriculture : ปลดล็อกเกษตรไทย ทุกปัจจัยคือโอกาส” ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ โดย เลขาธิการ สศก. แถลงตัวเลข GDP ภาคเกษตรไทย ปี 2567 หดตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยสาขาพืช สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัว ขณะที่สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ยังคงขยายตัวได้ ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8 – 2.8

 
ปัจจุบันไทยมีเนื้อที่ทางการเกษตรรวม 147.73 ล้านไร่ หรือร้อยละ 46.7 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ มีประชากรอยู่ในภาคเกษตรกว่า 30 ล้านคน เป็นแรงงานเกษตร 19.72 ล้านคน และมีจำนวนครัวเรือนเกษตรประมาณ 7.9 ล้านครัวเรือนในปี 2566 GDP ภาคเกษตร มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 8.58 ของ GDP ทั้งประเทศ ลดลงจาก 10 ปีที่แล้ว ซึ่ง GDP ภาคเกษตรมีสัดส่วนที่ร้อยละ 11.32 แม้ว่าสัดส่วนของภาคเกษตรจะลดลง แต่มูลค่า GDP ภาคเกษตรยังคงเพิ่มขึ้นจาก 660,365 ล้านบาท ในปี 2556 เป็น 693,834 ล้านบาท ในปี 2566 ขณะที่ภาคเกษตรไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย อาทิการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคทั่วโลกที่เร่งตัวขึ้น การเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายของสหรัฐอเมริกา อาจทำให้สงครามทางการค้ากลับมามีความรุนแรงอีกครั้ง ขณะที่ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย ยังเผชิญกับปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนกฎกติกาด้านการค้าและการลงทุนของโลก รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ
 

 
สำหรับแนวทางการปลดล็อกและพัฒนาภาคเกษตร จะต้องใช้ทั้งความรู้ ทักษะ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวทาง ดังนี้ 1) การรับมือกับภัยธรรมชาติ มีการวางแผนและดำเนินมาตรการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การป้องกัน แก้ไขปัญหา และฟื้นฟู เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ 2) การประกันภัยสินค้าเกษตร โดยการส่งเสริมการประกันภัยพืชผล เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน 3) การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม เพื่อลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และต่อยอดสู่เกษตรและบริการมูลค่าสูง 4) การทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวทางของ BCG โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น EUDR  CBAM และ Carbon Credit การแก้ปัญหา PM 2.5 ส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ และส่งเสริมการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน 5) การยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง การสร้าง Brand หรือ Story ของจังหวัด/อำเภอโดยเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร 6) การพัฒนาเครื่องมือในการติดตามสถานการณ์ภาคเกษตรในระดับโลก โดยอาศัยข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้วิเคราะห์ เตือนภัย และเฝ้าระวังปัจจัยที่ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อการทำการเกษตร และ 7) การปรับปรุงกฎระเบียบ/กฎหมาย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการศึกษากฎระเบียบและกฎหมายของประเทศคู่ค้าที่จะมีผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรของไทย เพื่อการปรับตัวและเตรียมการให้ทันต่อสถานการณ์

 
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ทาง สศก. ได้จัดงานสัมมนาภาวะเศรษฐกิจการเกษตรเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานและปาฐกถาพิเศษ และยังได้รับเกียรติจาก นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษในหัวข้อ “แนวโน้มและโอกาสสินค้าเกษตรไทย” ส่วนในช่วงบ่าย เป็นการเสวนาในหัวข้อ “ปรับเกษตรไทยรับเทรนด์โลก ก้าวกระโดดสู่อนาคต” มีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดร.จงรักษ์ ฐินะกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมและเผยแพร่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นายวีระ สรแสดง เจ้าของศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่กรุงเทพมหานคร และเรสคิวฟาร์ม ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ดร.รัชดา เจียสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี นางสาววิภาพร วัฒนวิทย์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เกษตรกร ประชาชนทั่วไป และผู้สื่อข่าว รวมประมาณ 500 คน และผู้ร่วมรับชมการสัมมนาผ่านการถ่ายทอดสดทาง Facebook live “เศรษฐกิจการเกษตรเพื่อประชาชน”

 
สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2567 พบว่า หดตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยสาขาพืช สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัว ขณะที่สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ยังคงขยายตัวได้ โดย สาขาพืช หดตัวร้อยละ 1.7 เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี 2567 ทำให้ปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา สภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชสำคัญหลายชนิด เกษตรกรบางส่วนงดหรือปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชบางชนิด และการเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญาในเดือนกันยายน 2567  ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับมรสุมและมีฝนตกหนัก ส่งผลให้มีปริมาณน้ำสะสมจำนวนมาก เกิดอุทกภัยและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรบางส่วนได้รับความเสียหาย พืชสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สับปะรดปัตตาเวีย ยางพารา ทุเรียน และเงาะ อย่างไรตาม พืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ปาล์มน้ำมัน ลำไย และมังคุด

 
สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 3.2 เป็นผลจากความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน มีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ทำให้สินค้าปศุสัตว์เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ โคเนื้อ สำหรับสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง คือ น้ำนมดิบ

 
สาขาประมง หดตัวร้อยละ 2.8 โดยผลผลิตกุ้งลดลง เนื่องจากราคากุ้งตกต่ำ และต้นทุนการผลิตหลักทั้งค่าอาหารสัตว์และค่าพลังงานอยู่ในระดับสูง ประกอบกับความต้องการซื้อจากต่างประเทศชะลอตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนปรับลดการเพาะเลี้ยงและชะลอการปล่อยลูกกุ้ง ขณะที่สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักของการทำประมงทะเลยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น สภาพอากาศ  ที่แปรปรวน และพายุฝนที่รุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการเรือประมงลดรอบการออกเรือจับสัตว์น้ำ ส่วนผลผลิตปลานิลและปลาดุก ลดลง เนื่องจากต้นทุนอาหารปลายังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีไม่เพียงพอต่อการเลี้ยง ทำให้เกษตรกรลดรอบการเลี้ยงและพื้นที่เลี้ยง รวมทั้งลดปริมาณการปล่อยลูกพันธุ์ปลา

 
สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 0.5 เนื่องจากผลกระทบของปรากฎการณ์เอลนีโญตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงปี 2567 ทำให้อากาศร้อนจัดและมีปริมาณฝนน้อย ส่งผลให้น้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อการผลิตทางการเกษตรในบางพื้นที่ เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่เพาะปลูกให้ว่าง ประกอบกับการเข้าสู่สภาวะลานีญาในเดือนกันยายน 2567 ทำให้มีฝนตกหนักและเกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดความเสียหายต่อผลผลิตพืชและเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลให้กิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่สำคัญลดลง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สับปะรดปัตตาเวีย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

 
สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.2 โดยไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ขณะที่ญี่ปุ่นยังมีความต้องการใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับการผลิตไฟฟ้า ส่วนรังนก ยังมีความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ถ่านไม้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม ไม้ยางพาราลดลงตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่นของการยางแห่งประเทศไทย ประกอบกับราคายางพาราที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรมีการตัดโค่นไม้ยางพาราลดลง และผลผลิตครั่งลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและร้อนจัด
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ธ.ค. 2567 เวลา : 15:41:09
23-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 23, 2024, 10:49 am