หลังประกาศความพร้อมลงสนามชิงไลเซนส์ Virtual Bank ในประเทศไทย ล่าสุด Lightnet-WeLab จับมือร่วมกันเผยวิสัยทัศน์ เน้นส่งเสริมลูกค้า Unserved และ Underserved ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน พร้อมมีส่วนร่วมในการสร้างความเติบโตให้แก่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมประกาศแต่งตั้ง ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม ประธานบริษัท ไลท์เน็ท กรุ๊ป (Lightnet Group) เป็นที่ปรึกษาอาวุโสของกลุ่ม Lightnet-WeLab ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน Virtual Banking ในเชิงลึก ประกอบกับประสบการณ์ในฐานะผู้นำองค์กรสำคัญ ๆ ในประเทศของดร.ชาลี เพื่อยกระดับศักยภาพของกลุ่ม Lightnet-WeLab ที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างและดำเนินธุรกิจธนาคารไร้สาขาหรือ Virtual Bank ทั่วทั้งตลาดเอเชีย โดยเฉพาะบริการสินเชื่อดิจิทัลและการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิต
Virtual Banks บริการที่พลิกโฉมแวดวงการเงินโลกตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า Virtual Bank กำลังเปลี่ยนแปลงและกำหนดทิศทางใหม่ให้กับอุตสาหกรรมธนาคารทั่วโลก ด้วยการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับหลากหลายบริการทางการเงิน และขับเคลื่อนการเติบโตที่ก้าวไปไกลกว่ามาตรฐานและความคาดหวังแบบเดิมๆ กลุ่ม Lightnet-WeLab เชื่อมั่นว่า การเพิ่มขึ้นของ Virtual Bank ในประเทศไทยจะช่วยกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมการเงินใหม่ ๆ อีกทั้งขยายบริการด้านการเงินให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่มได้อย่างครอบคลุม
อินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดที่ใกล้เคียงกับไทย มีจำนวนผู้ให้บริการ Virtual Bank เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยขยายการเข้าถึงเครดิตให้กับลูกค้าในกลุ่ม Unserved และ Underserved ผ่าน Virtual Banks ทั้ง 15 แห่งมียอดบัญชีผู้ใช้กว่า 70 ล้านราย และมียอดการปล่อยสินเชื่อจากกลุ่ม Virtual Banks สูงกว่าแหล่งสินเชื่ออื่น ๆ รวมถึงธนาคารทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงกว่าร้อยละ 22
ส่วนฮ่องกง ธนาคาร Virtual Bank 8 แห่ง ที่ได้รับใบอนุญาตในปี 2019 มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้จะต้องแข่งในตลาดที่ประชากรส่วนใหญ่มีบัญชีธนาคารอยู่แล้ว โดยร้อยละ 30 ของชาวฮ่องกงได้เปิดบัญชีออนไลน์กับธนาคาร Virtual Bank แบบเต็มตัว โดยตลอดสามปีที่ผ่านมา ยอดเงินฝากและยอดการปล่อยสินเชื่อทั้งหมดมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าร้อยละ 77 ต่อปีและร้อยละ 147 ต่อปีตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยได้รับประโยชน์อย่างมาก ด้วยประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นหลังใช้บริการโซลูชั่นด้าน Virtual Banking อีกด้วย
ธนาคาร Virtual Bank หลายแห่งทั่วโลกมีการเติบโตเป็นอย่างมากทั้งในแง่ขนาดและความสำคัญ เช่น NuBank ธนาคาร Virtual Bank ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากบราซิล ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์อยู่ที่ 70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท) ซึ่งมากกว่ามูลค่าหลักทรัพย์ของธนาคารรายใหญ่ระดับท็อปสี่แห่งของไทยรวมกัน
ด้วยความสำเร็จในการเปิดตัว Virtual Banks สองแห่งทั้งในอินโดนีเซียและฮ่องกง กลุ่ม Lightnet-WeLab จึงช่วยตอบโจทย์ความต้องการด้านการเงินของคนไทย และมีส่วนช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการเงินของประเทศสู่ความสำเร็จและสร้างการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจของประเทศไทย
บรรลุเป้าหมายการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่ลูกค้าทุกกลุ่มด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการ
ธนาคาร Virtual Banks จะช่วยส่งเสริมให้คนไทยทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการด้านการเงินได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มคนในเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Economy) ซึ่งเป็นกลุ่มที่คิดเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และคิดเป็นร้อยละ 52.7 ของแรงงานไทย คนกลุ่มนี้ต้องประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก โดยมีมูลค่าหนี้นอกระบบรวมกันอยู่ที่ประมาณ 16.3 ล้านล้านบาท
เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว กลุ่ม Lightnet-WeLab มุ่งเน้นย้ำบทบาทความสำคัญของกลุ่ม Unserved และ Underserved เช่น ลูกค้าที่มีรายได้ไม่แน่นอนหรือมีรายได้ที่ไม่ถูกบันทึก รวมถึงคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากสาขาธนาคาร ด้วยความรู้ความเข้าใจตลาดไทยอย่างชัดเจน กลุ่มทุน Lightnet-WeLab ได้ตั้งเป้าหมายที่จะนำประเทศไทยให้บรรลุความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุม ด้วย 3 แนวทางสำคัญ ดังนี้
Financial Inclusion สร้างมาตรฐานใหม่ของบริการธนาคาร การลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการด้านการเงินจะเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยกลุ่ม Unserved และ Underserved เช่น การกำหนดยอดเงินฝากขั้นต่ำที่ 500 บาทในการเปิดบัญชีธนาคารทั่วไปอาจกลายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการด้านการเงินสำหรับลูกค้าบางกลุ่ม การมีธนาคาร Virtual Bank จะช่วยเพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันเพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคโดยรวม เห็นได้จากที่ฮ่องกงที่ประกาศมอบใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจให้แก่ธนาคาร Virtual Bank ตั้งแต่ปี 2019 ธนาคารขณะนั้นหลายแห่งได้ประกาศยกเลิกอัตราเงินฝากขั้นต่ำทันทีเพื่อให้สอดคล้องกับ “มาตรฐานใหม่” ของตลาด ด้วยระบบนิเวศที่กว้างขวางของกลุ่ม Lightnet-WeLab ที่ประกอบด้วยลูกค้าถึง 46 ล้านรายในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งเกษตรกรรม อาหารและเครื่องดื่ม และอีคอมเมิร์ซ รวมถึงช่องทางบริการลูกค้าแบบออฟไลน์กว่า 150,000 แห่ง จะช่วยลดการพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ และสร้างโลกการเงินที่คนทุกกลุ่มและทุกระดับในไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้
Innovative products ชูนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเงิน เพื่อสร้างความแตกต่างจากการให้บริการของธนาคารแบบดั้งเดิมที่เน้นให้บริการแบบเดียวกับลูกค้าทุกกลุ่ม (One size fits all) โดยกลุ่ม Lightnet-WeLab มุ่งออกแบบผลิตภัณฑ์การเงินที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า Unserved และ Underserved โดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น ธนาคาร Saqu ซึ่งเป็น Virtual Bank ของ WeLab ที่อินโดนีเซีย ได้นำเสนอบริการ “กระเป๋าออมเงิน” หรือ “Saving Pockets” ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้าและอยู่รวมกันในบัญชีธนาคารเดียว ช่วยให้ผู้ใช้ที่ถือบัญชีสามารถบริหารจัดการรายรับรายจ่ายในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นวัตกรรมฟีเจอร์นี้มียอดการใช้งานรายเดือนสูงถึงร้อยละ 60 และมีผู้สมัครใช้งานเกือบ 2 ล้านรายในระยะเวลา 12 เดือน โดยร้อยละ 40 เป็นลูกค้าที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ ผลลัพธ์ที่ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพของการออกแบบผลิตภัณฑ์การเงินที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่ม Unserved และ Underserved ซึ่งประเทศไทยสามารถนำไปปรับใช้สร้างกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการด้านการเงินของประเทศได้
ก้าวนำตลาดด้วยการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม มาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มเศรษฐกิจนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบได้ WeLab ให้สินเชื่อแล้วรวมกว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.12 แสนล้านบาท) ในตลาดต่าง ๆ ทั่วเอเชียตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ด้วยเทคโนโลยีบริการด้านเครดิตที่ WeLab เป็นเจ้าของสิทธิบัตร การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามระดับความเสี่ยงจากความน่าเชื่อถือและพฤติกรรมของผู้ใช้แต่ละรายโดยเฉพาะ (Risk-based Pricing) ทำให้มียอดอัตราค้างชำระหนี้ที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด ทำให้ Welab มีอัตราหนี้เสียที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยตลาดสินเชื่อของฮ่องกงถึง 6 เท่าในปีที่ผ่านมา กลุ่มทุน Lightnet-WeLab เดินหน้าในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านเครดิตที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของ WeLab และโมเดลการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงให้เหมาะสมกับตลาดไทย ด้วยการประมวลผลข้อมูลในหลากหลายมิติและเทคโนโลยี Edge Computing เพื่อประเมินความเสี่ยง จึงสามารถขยายการให้สินเชื่อให้แก่ผู้กู้ยืมที่อาจเคยถูกมองว่าความเสี่ยงสูงภายในโมเดลสินเชื่อแบบปัจจุบันได้ เช่น เทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาพด้วยโดรนผ่านข้อมูลจากจานดาวเทียม ช่วยให้ธนาคารสามารถระบุผู้กู้ยืมในกลุ่มเกษตรกรรมที่มีผลผลิตสูงและมีคะแนนเครดิตดี และเสริมสร้างประสิทธิภาพของการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง
ประกาศแต่งตั้ง ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม เป็นที่ปรึกษาอาวุโสกลุ่มทุน Lightnet-WeLab
กลุ่มทุน Lightnet-WeLab ได้ประกาศแต่งตั้ง ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม ผู้บริหารผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเงินและการธนาคารในตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโส ก่อนที่จะเข้าร่วมกับ Lightnet Group ดร.ชาลี ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ของธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ทำหน้าที่ดูแลด้านบิ๊กดาต้าและการพัฒนาโซลูชั่นปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านดิจิทัลแบงก์กิ้งของ SCB ให้เติบโต ด้วยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในสายการเงินและเทคโนโลยีมากกว่า 25 ปี ดร.ชาลี จะช่วยนำพากลุ่มทุน Lightnet-WeLab ในการขอใบอนุญาต Virtual Banking ในไทย พร้อมผลักดันเป้าหมายในการปฏิวัติบริการด้านการเงินและธนาคารเพื่อช่วยสร้างการเข้าถึงบริการเหล่านี้แก่ลูกค้าทุกกลุ่มอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมด้วยนวัตกรรมโซลูชั่นอันทันสมัย
ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม ประธานบริษัท ไลท์เน็ท กรุ๊ป (Lightnet Group) และที่ปรึกษาอาวุโสกลุ่มทุน Lightnet-WeLab กล่าวว่า “ความฝันของผมคืออยากเห็นคนไทยทุกคนสามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้ มีอิสรภาพและเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งบริการธนาคารที่ดีจะสามารถพาเราไปสู่จุดนั้นได้ โดยเฉพาะ Virtual Bank ที่มีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยี ด้วยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการสร้าง Virtual Bank ทั่วเอเชีย หากเราได้รับเกียรติได้ใบอนุญาต เรามั่นใจว่าเราจะสามารถส่งมอบการให้บริการแก่ลูกค้าภายใน 12 เดือน โดยมีผลิตภัณฑ์ด้านการเงินอย่างเหมาะสม รวมถึงโซลูชั่นที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อลดช่องว่างด้านการเงินของกลุ่ม Unserved และ Underserved โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมค้าปลีกและกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดย่อยในไทย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะนำพากลุ่ม Lightnet-WeLab เข้าสู่ตลาดไทยและทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยสร้างอนาคตที่สดใสให้กับอุตสาหกรรมการเงินของประเทศ”
ข่าวเด่น