เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คลังเผยความคืบหน้าการจ่ายเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ รอบการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567


นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผย 
ความคืบหน้าการจ่ายเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ (โครงการฯ) ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายโครงการรวมประมาณ 14.55 ล้านคน ว่า กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้จ่ายเงิน 10,000 บาทต่อราย ให้แก่กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 ถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2567 โดยมียอดรวมที่จ่ายเงินสำเร็จแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 14,450,168 ราย 
 
ทั้งนี้ ในรอบการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 กรมบัญชีกลางได้สั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการที่มีสิทธิจำนวน 50,228 ราย โดยประกอบด้วยการจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิที่ยังจ่ายเงินไม่สำเร็จในรอบการจ่ายเงินที่ผ่านมา และการจ่ายเงินให้แก่คนพิการที่ได้ดำเนินการต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการหรือทำบัตรประจำตัวคนพิการหรือแก้ไขข้อมูลบัตรประจำตัวคนพิการเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี พบว่าในรอบการจ่ายเงินซ้ำดังกล่าว ยังมีการจ่ายเงินไม่สำเร็จจำนวน 37,685 ราย เนื่องจากสาเหตุดังนี้
 
1. ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จ่ายเงินไม่สำเร็จจำนวน 33,767 ราย มีสาเหตุหลักเนื่องจากยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนจำนวน 30,842 ราย รองลงมาคือ บัญชีเงินฝากธนาคารไม่มีการเคลื่อนไหว บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด ไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคาร และเลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้องรวมกัน 2,925 ราย 
 
2. คนพิการ จ่ายเงินไม่สำเร็จจำนวน 3,918 ราย มีสาเหตุหลักเนื่องจากยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนจำนวน 3,834 ราย รองลงมาคือ บัญชีเงินฝากธนาคารไม่มีการเคลื่อนไหว บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด เลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง และไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคารรวมกัน 84 ราย 
 
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า ภายหลังจากการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ถือได้ว่ากระทรวงการคลังได้ดำเนินการจ่ายเงินให้กลุ่มเป้าหมายเสร็จสิ้นแล้วตามเงื่อนไขของโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ กล่าวคือ “เมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว จะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการฯ”
 
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินโครงการฯ ภาครัฐได้จ่ายเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเป้าหมายแล้วรวมทั้งสิ้น 14,450,168 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.19 ของกลุ่มเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ ทำให้มีเม็ดเงินจากโครงการฯ หมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 144,501.68 ล้านบาท และจากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับสิทธิในโครงการฯ จำนวนตัวอย่าง 31,500 ราย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีการแบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายเงิน 10,000 บาท ไปกับการใช้จ่ายของครัวเรือนเป็นหลักกว่าร้อยละ 75 โดยมีการใช้จ่าย 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ซื้ออาหารและเครื่องดื่ม 2) ซื้อของใช้ในครัวเรือน และ 3) ชำระค่าสาธารณูปโภค ในขณะที่สถานที่ที่นำเงิน 10,000 บาท ไปใช้จ่าย 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ร้านค้าในชุมชน/ร้านขายของชำ 2) หาบเร่ แผงลอยทั่วไป/ในตลาด และ 3) ร้านสะดวกซื้อ/มินิมาร์ททั่วไป สะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ของการดำเนินโครงการฯ ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มการบริโภคที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในช่วงปลายปี 2567 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ธ.ค. 2567 เวลา : 17:33:04
23-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 23, 2024, 2:10 pm