เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยปีนี้ความไม่แน่นอนสูง ปัจจัยท้าทายถาโถม พร้อมดำเนินนโยบายการเงินยืดหยุ่น


 

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Monetary Policy Forum ว่า เศรษฐกิจในปีนี้มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งจากปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความรุนแรงขึ้น รวมถึงนโยบายของประเทศคู่ค้าหลักที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะนโยบายของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยในการประมาณการยังไม่ได้รวมเรื่องนี้ จากความไม่แน่นอนมีอยู่สูงด้วย ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ไตรมาส 4/67 จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3% และปัจจัยที่ขับเคลื่อนจะมาจากการส่งออกและภาคบริการยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

“ผลของนโยบายสหรัฐ ในแง่ของช่วงแรกอาจยังไม่ได้เห็นชัดเจน ต้องรอครึ่งหลังของปีที่นโยบายจะมีผลกระทบเริ่มเข้ามา และผลต่อไทยจะมีมากน้อยแค่ไหน”นายสักกะภพ กล่าว
 
ด้านนโยบายการเงิน ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้แต่ยังมีการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน และมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ยังสูงขึ้น โดยเฉพาะครึ่งหลังของปีนี้ ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินจะต้องมีความยืดหยุ่น และสามารถรองรับกับสถานการณ์ที่มีความหลากหลาย และให้ความสำคัญกับการรักษา Policy buffer ในแง่ต่างๆไว้ด้วย รวมถึงพิจารณาผสมผสานเครื่องมือในเชิงนโยบายให้เหมาะสมกับพัฒนาการที่จะเกิดขึ้น

ด้านทิศทางค่าเงินบาท ปีนี้ มองว่า ยังมีความผันผวน จากนโยบายเศรษฐกิจที่มีความท้าทายและคาดเดาได้ยาก ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงิน หรือ อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนไปด้วย

 
นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นความท้าทายไม่เฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น เพราะเป็นปัจจัยเฉพาะ ทั้งนี้ต้องมองข้างนอกและข้างในพร้อมกัน โดยในระยะต่อไป มีความท้าทายค่อนข้างมาก โดยประเด็นที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย คือ มูลค่าเพิ่มอาจไม่เยอะมากแต่ในแง่ของแรงงานค่อนข้างสูง ซึ่งถือเป็นความท้าทายเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมหนึ่ง

 
นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.9% โดยแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่การท่องเที่ยวปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 39.5 ล้านคน ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับระดับศักยภาพ โดยแรงส่งสำคัญมาจากการส่งออกสินค้า ที่ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% ด้านการนำเข้าขยายตัวได้ 1.7% การท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยปี้ ยังมีปัจจัยบวกจาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น มาตรการเงินโอนเฟส 2 และ เฟส 3 มาตรการ Easy e-receipt ที่จะต้องติดตามว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ขณะที่ปัจจัยลบต้องติดตาม ความรุนแรงของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

“ครึ่งแรกของปีจะเห็นการเร่งส่งออกสินค้า แต่ในระยะต่อไปจะมีความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ที่จะทำให้ครึ่งปีหลังแผ่วลง แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ใกล้เคียงระดับศักยภาพ แต่การฟื้นตัวยังมีความแตกต่างกัน โดยกลุ่มที่ฟื้นตัวดีคือ ภาคการท่องเที่ยวและบริการอื่นๆ ขณะที่กลุ่มที่ฟื้นตัวช้า คือ อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ยังเป็นกลุ่มที่มีพัฒนาการแย่ลง โดยการผลิตยานยนต์ปีที่ผ่านมาลดลง จากวัฏจักรเชิงโครงสร้าง เป็นต้น”นางปราณี กล่าว

นางปราณี กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทรัมป์ ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อาจเกิดได้ 3 ช่องทาง คือ

1.ช่องทางการค้า ที่ไทยส่งออกไปจีนได้น้อยลง - สินค้าไทยต้องแข่งขันกับจีนมากขึ้น (China flooding) ไทยส่งออกไปสหรัฐแทนจีน

2.ช่องทางการลงทุน อาจมีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมาไทย หรือ อาเซียน แต่ทั้งนี้ อาจเกิดการชะลอการลงทุนได้จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

3.ช่องทางความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีน โดยเศรษฐกิจจีนชะลอผลกระทบอาจเกิดกับการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย

ทั้งนี้ มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ยังอาจทำให้มีการทะลักของสินค้าจีนเข้ามาไทยมากขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่เดิมช้าอยู่แล้ว

 
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับขอบล่าง ซึ่งปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.1% ด้านภาวะการเงินโดยรวมสามารถทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยแม้ว่าจะเห็นสินเชื่อชะลอลงเป็นผลจากความต้องการสินเชื่อลดลง ส่วนหนึ่งจากธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพึ่งพาสินเชื่อน้อยลง ความเสี่ยงด้านเครดิตอยู่ในระดับสูง และการชำระคืนนี้ที่กู้ยืมไปในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยธุรกิจที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เช่น โรงแรมและร้านอาหาร และการขนส่ง สินเชื่อใหม่ชะลอลงตามความต้องการกู้ที่ลดลง ด้านธุรกิจที่เผชิญการแข่งขันสูง เช่น เอสเอ็มอี ในภาคการค้า ธุรกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง สินเชื่อใหม่ลดลง จากความเสี่ยงด้านเครดิต และธุรกิจที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ภาคยานยนต์ โดยสินเชื่อใหม่หดตัว ตามความต้องการกู้ที่ลดลง จากความแน่นอนของทิศทางอุตสาหกรรม

ด้านหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน โดยไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 89% จากการขยายตัวของหนี้ที่น้อยกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยการก่อหนี้ใหม่ลดลงส่วนหนึ่งจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

ทั้งนี้ ภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น นโยบายการเงินต้องสามารถพร้อมรองรับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ที่อาจเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว ที่อาจมีผลมากหรือน้อยได้ โดยการคงดอกเบี้ยนโยบาย เห็นว่าดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงศักยภาพ เงินเฟ้อที่โน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน ในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ปรับสูงขึ้น

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ม.ค. 2568 เวลา : 18:15:28
21-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 21, 2025, 1:09 am