จากการสำรวจประจำไตรมาส 4 ของปี 2567 ประชาชนมองเห็นโอกาสสำหรับการริเริ่มธุรกิจในอนาคตเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50.2 เป็นร้อยละ 53.4 แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.9 เห็นว่าสาเหตุที่ทำให้ไม่กล้าเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง เพราะว่ากลัวล้มเหลว ขาดทุน
กรุงเทพโพลล์ร่วมกับคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความเห็นประชาชนเรื่อง “คนไทยคิดอย่างไรกับโอกาสในการเป็นเจ้าของธุรกิจ ในปีงูเล็ก”โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,151 คน พบว่า
การสำรวจความเห็นเกี่ยวกับจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ (เจ้าของธุรกิจ) ประจำไตรมาส 4 ของปี 2567 โดยได้ทำการเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งที่ผ่านมา (ช่วงเดือน ก.ย. 2567) ในประเด็นต่างๆ พบว่า ประชาชนเห็นโอกาสหรือความพร้อมสำหรับการริเริ่มธุรกิจในอนาคตมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 53.4 (โดยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.2) รองลงมาคือ มีความรู้ความสามารถรวมถึงทักษะและประสบการณ์ที่จำเป็นในการที่จะเริ่มทำธุรกิจใหม่ คิดเป็นร้อยละ 45.2 (ลดลงร้อยละ 1.2) และมีความตั้งใจที่จะประกอบธุรกิจ ในอนาคตข้างหน้า คิดเป็นร้อยละ 42.0 (ลดลงร้อยละ 5.7) ขณะที่เห็นว่าไม่อยากลงทุนทำธุรกิจเพราะกลัวความล้มเหลว คิดเป็นร้อยละ 73.0 (ลดลง ร้อยละ 0.3)
ทั้งนี้สาเหตุที่ไม่กล้าเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.9 กลัวล้มเหลว กลัวขาดทุน
รองลงมาคือ ไม่มีเงินทุนมากพอ คิดเป็นร้อยละ 49.9 ปัญหาข้าวของราคาแพง ค่าครองชีพสูง คิดเป็นร้อยละ 48.8 หากไม่สำเร็จกลัวคนในครอบครัวจะเดือดร้อน แบกภาระหนี้ร่วมกันคิดเป็นร้อยละ 36.7 และน้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆ ราคาสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.5
โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
รายละเอียดในการสำรวจ
วัตถุประสงค์ในการสำรวจ
เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจของคนไทยประจำไตรมาส 4 ของปี 2567 ในประเด็นต่างๆ รวมถึงเหตุผลที่ทำให้ไม่กล้าเริ่มธุรกิจเป็นของตนเอง ทั้งนี้เพื่อสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของประชาชนให้สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
ประชากรที่สนใจศึกษา
การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ และลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนาม ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)
การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ± 3 ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
วิธีการรวบรวมข้อมูล
ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Enumeration by telephone) และลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนาม โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอนประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) จากนั้นจึงนำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล : 13 - 27 ธันวาคม 2567
วันที่เผยแพร่ผลการสำรวจ : 11 มกราคม 2568
ข่าวเด่น