ผู้ประกอบการวิทยุระดับท้องถิ่นยืนยันเดินหน้าเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบใบอนุญาต 3,014 สถานี จาก 3,675 สถานี คิดเป็น 82.01% และมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าร่วมอีก 590 จาก 3,233 คำขอ คิดเป็น 18.25%
วันอังคารที่ 14 มกราคม 2568 พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง
กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้สรุปผลการยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่วิทยุระบบ FM สำหรับให้บริการกระจายเสียงในระดับท้องถิ่นทั้งประเภทสาธารณะ ชุมชน และ ธุรกิจ ตามที่ได้มีประกาศเชิญชวนจำนวน 3,346 คลื่นความถี่ โดยแยกเป็นวิทยุกระจายเสียงในระดับท้องถิ่นประเภทสาธารณะจำนวน 554 คลื่นความถี่ ชุมชน 148 คลื่นความถี่ สาธารณะ/ชุมชน 137 คลื่นความถี่ และ ธุรกิจ 2,507 คลื่นความถี่ และเมื่อครบกำหนดวันสิ้นสุดการยื่นมีผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่ยื่นคำขออนุญาต สรุปได้ ดังนี้
มีผู้ประสงค์ยื่นคำขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ รวม 2,645 คลื่นความถี่ จาก 3,346 คลื่นความถี่ คงเหลือ 701 คลื่นความถี่ คิดเป็น 20.95% โดยแยกเป็นผู้ประกอบการรายเดิมยื่นคำขอ 2,643 คลื่นความถี่ (สถานี) จาก 2,177 นิติบุคคล และมีรายใหม่ 590 คลื่นความถี่ (สถานี) จาก 479 นิติบุคคล โดยมีรายละเอียดแยกแต่ละประเภท ตามตารางที่ 1
จากข้อมูลการยื่นคำขออนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงในระดับท้องถิ่นในครั้งนี้ เป็นผู้ประสงค์ขอประกอบการสถานีรายใหม่ถึง 590 จาก 2,643 สถานี คิดเป็น 18.25 % โดยเฉพาะประเภทธุรกิจมีรายใหม่ 538 จาก 2,481 สถานี คิดเป็น 21.68 % ในขณะที่สาธารณะ/ชุมชน มีรายใหม่เพียง 52 จาก 752 สถานี คิดเป็น 6.91 %
สำหรับกรณีของผู้ประกอบการรายเดิมนั้น ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีจำนวนสถานีวิทยุทดลองออกอากาศรวมทั้งสิ้น 3,675 สถานี (จาก 2,773 นิติบุคคล) และได้มายื่นคำขอ 2,996 สถานี (จาก 2,166 นิติบุคคล) คิดเป็น 81.52 % (78.11 %) ทำให้มีสถานีที่ไม่มายื่นคำขอและต้องยุติการออกอากาศหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2567 นี้ จำนวน 679 สถานี (จาก 607 นิติบุคคล) โดยมีรายละเอียดแยกแต่ละประเภท ตามตารางที่ 2
“การยื่นขอรับการอนุญาตในครั้งนี้ ผมถือว่าประสบความสำเร็จ จากเดิมที่มีสถานีวิทยุในระดับท้องถิ่นนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นเวลากว่า 30 ปี ที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบใบอนุญาตได้ ซึ่งจากแนวทางที่ได้ดำเนินการพบว่ามีผู้ประกอบการรายเดิมต้องการไปต่อเพื่อเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนถึง 3,014 สถานี คิดเป็น 82.01% โดยมี 661 สถานีที่ไม่มายื่นคำขอซึ่งต้องยุติการออกอากาศ อย่างไรก็ตามแม้ว่า 3,014 สถานีนี้จะได้รับสิทธิตามบทเฉพาะการในการทดลองออกอากาศต่อไป แต่ยังคงต้องเปลี่ยนผ่านเพื่อเข้าสู่ระบบใบอนุญาตแบบเป็นทางการ ซึ่งในขั้นตอนต่อไป สำนักงาน กสทช. ต้องดำเนินการตรวจสอบคำขอทั้งหมดที่ยื่นมาในครั้งนี้ จำนวน 3,233 คำขอ ที่ขอใช้คลื่นความถี่จำนวน 2,645 คลื่นความถี่ (สถานี) ว่าผู้ขอมีคุณสมบัติถูกต้องตามประกาศฯ หรือไม่ จากนั้นหากเป็นประเภทสาธารณะหรือชุมชนจะต้องพิจารณาคำขอจาก 752 เพื่ออนุญาตให้ได้ 623 สถานี ด้วยวิธีการเปรียบเทียบคุณสมบัติ (Beauty Contest) สำหรับประเภทธุรกิจที่ต้องใช้วิธีการประมูล (auction) จาก 2,481 เพื่อให้ได้ผู้ชนะและอนุญาตได้ 2,022 สถานี โดยมีราคาเริ่มต้น 25,000 บาท ซึ่งคงมีการแข่งขันในบางพื้นที่เท่านั้น สำหรับคลื่นความถี่ที่เหลืออีก 701 คลื่นความถี่ (สถานี) ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ทำการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ไม่มีผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่ต้องการ ทั้งที่ตอนแรกมีการเรียกร้องให้จัดสรรคลื่นความถี่ให้ได้มากกว่าที่เสนอมาโดยตลอด แต่ถึงเวลาจริงกลับไม่มีผู้ประสงค์ขออนุญาตใช้งานซึ่ง กสทช. คงจะต้องนำมาพิจารณาดำเนินการต่อไป” พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ฯ กสทช. กล่าวปิดท้าย
ข่าวเด่น