สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
· เงินบาทพลิกแข็งค่า ขณะที่ ตลาดกลับมาประเมินจังหวะเวลาที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยใหม่อีกครั้ง หลังตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่คาด
เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือนที่ 34.83 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนธ.ค. 2567 ของสหรัฐฯ ยังมีทิศทางค่อนข้างดี ซึ่งหนุนการคาดการณ์ว่า เฟดไม่น่าจะรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่ากลับมาในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ แต่ยังคงสอดคล้องกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชียที่ฟื้นตัวกลับมาเช่นกันตามทิศทางเงินหยวน (หลังทางการจีนส่งสัญญาณและออกมาตรการดูแลเพื่อประคองทิศทางเงินหยวน อาทิ การเพิ่มเพดานการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศสำหรับบริษัทต่างๆ และตัวเลขจีดีพีของจีน ซึ่งสะท้อนว่า จีนสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ 5% ในปี 2567 ที่ผ่านมา) และเงินเยน (ซึ่งตลาดเริ่มมีมุมมองว่า BOJ อาจคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนม.ค.นี้)
ด้านเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง หลังจากมีรายงานข่าวที่ระบุว่า ทีมเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์อาจจะพิจารณาทยอยปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าแทนการปรับขึ้นในคราวเดียว นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด (อาทิ PPI, Core CPI, ยอดค้าปลีก และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์) และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งกระตุ้นให้ตลาดกลับมาประเมินว่ามีโอกาสที่จะเห็นเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนช่วงกลางปีนี้
· ในวันศุกร์ที่ 17 ม.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 ม.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 13-17 ม.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,539 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 10,393 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 10,386 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 6 ล้านบาท)
· สัปดาห์ระหว่างวันที่ 20-24 ม.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.05-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศหลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ สถานการณ์เงินทุนต่างชาติ ค่าเงินหยวนและราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค. ดัชนี PMI (เบื้องต้น) และดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOJ (23-24 ม.ค.) การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
· ตลาดหุ้นไทยร่วงลงเกือบตลอดสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายหลักจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ
ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งกระตุ้นการคาดการณ์เกี่ยวกับการชะลอการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากแรงขายหุ้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวจากกรณีการหายตัวของนักแสดงจีนซึ่งกระทบความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว รวมถึงแรงขายหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งจากประเด็นเฉพาะตัว
ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงสั้น ๆ กลางสัปดาห์ ขานรับรายงานข่าวที่ว่าทีมเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อยู่ระหว่างพิจารณาแผนการปรับขึ้นภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์ก่อนการประกาศผลประกอบการและพลังงานรับอานิสงส์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยย่อตัวลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ท่ามกลางสัญญาณระมัดระวังของนักลงทุน ระหว่างรอติดตามนโยบายต่าง ๆ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ หลังเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า
· ในวันศุกร์ที่ 17 ม.ค. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,340.63 จุด ร่วงลง 2.00% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 44,347.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.08% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 6.39% มาปิดที่ระดับ 275.57 จุด
· สัปดาห์ถัดไป (20-24 ม.ค. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,330 และ 1,320 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,345 และ 1,355 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายต่างๆของนายโดนัลด์ ทรัมป์หลังเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ผลประกอบการไตรมาส 4/2567 ของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนม.ค. 2568 (เบื้องต้น) ยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค. 2567 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. 2567 ของญี่ปุ่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนม.ค. 2568 ของจีน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนม.ค. 2568 (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ
ข่าวเด่น