ไอที
Scoop :"Second Brain" พลังแห่งสมองที่สอง ช่วยจัดระเบียบชีวิต เพิ่มพลังการทำงาน


สำหรับในยุคปัจจุบัน ที่เราได้สัมผัสกับข้อมูลในปริมาณมากมายมหาศาลในทุก ๆ วัน อาจทำให้เราเกิดความรู้สึกท่วมท้น หรือ Overwhelm กับข้อมูลต่าง ๆ ในหัวสมองของเราจนไม่สามารถประมวลผลออกมาใช้งานในชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นหากเราสามารถจัดการกับความรู้และข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเราอย่างมาก ทั้งการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการจัดการชีวิตให้มีระเบียบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่ง Second Brain หรือสมองที่สอง เป็นคำตอบที่จะช่วยให้เราทำเช่นนั้นได้
 
จริง ๆ แล้ว ในช่วงก่อนยุคดิจิทัล เรามักจะจัดการกับข้อมูลด้วย “การเขียน” ทั้งการจดรวบรวมไอเดียของตนเอง หรือจดบันทึกข้อมูลความรู้ใหม่ ๆ เอาไว้ เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถได้เห็นชุดข้อมูล และความสัมพันธ์ของข้อมูลแบบภาพรวม ซึ่งจะนำไปสู่การประมวลผล และ Generated ออกมาเป็นชิ้นงานและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ได้ต่อไป ตรงนี้จะเห็นได้เลยว่า แท้จริงแล้วสมองของมนุษย์เรา ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อการจดจำเป็นหลัก แต่ถูกสร้างมาเพื่อคิด หาทางแก้ไขปัญหา และสรรสร้างสรรพสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นมาต่างหาก ดังนั้นวิธีการนั่งนึกถึงข้อมูลที่เราได้รับมาเพียงอย่างเดียว จึงทั้งเสียเวลา และไม่สามารถประมวลผลข้อมูลออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็คืออาการเดียวกับ “ไอเดียตัน” หรือความรู้สึก “คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก” นั่นเอง
 
แล้วยิ่งไปกว่านั้น ในยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านมาจนถึงยุคดิจิทัล เราต้องรับมือกับข้อมูลในปริมาณมหาศาล การจดบันทึกผ่านสมุดโน้ตปกติอาจไม่สามารถรับมือได้ดีเท่าแต่ก่อน เพราะนอกจากจะมีพื้นที่ไม่พอให้เก็บข้อมูลแล้ว การจะสกัดจำแนกข้อมูลออกมาเป็นหมวดหมู่ก็สร้างความปั่นป่วนให้กับอารมณ์ของเราอย่างมาก ดังนั้นจึงได้เกิดไอเดียของ "Second brain" หรือ "สมองที่สอง" แนวคิดที่สร้างระบบสำหรับการจัดเก็บและเข้าถึงข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล หรือก็คือการย้ายข้อมูล ไอเดียที่เราทดเอาไว้มาอยู่ในระบบดิจิทัลของเรานั่นเอง
 
แนวคิด Second Brain นี้ ได้แนะนำถึงวิธีการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยใช้ CODE Method ทั้ง  4 หลักด้วยกัน ได้แก่
 
1. C – Capture (จดข้อมูล)

อันดับแรก คือ การเลือกเก็บข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งเน้นว่าเป็นข้อมูลที่เราสนใจ หรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องกับเป้าหมายของเรา เพราะจะสามารถกระตุ้นให้สมองจดจำสิ่งนั้นได้มากขึ้น เมื่อกลับมาดูอีกครั้ง ซึ่งจะสามารถทำให้เรานำข้อมูลตรงนี้มาประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทั้งนี้แนะนำว่าควรเลือกเครื่องมือในการจดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อป้องกันการกระจายของชุดข้อมูล โดยปัจจุบันมีแอปพลิเคชันสำหรับจด เช่น Notion, Microsoft OneNote, Google Keep และ Evernote เป็นต้น
 
2. O – Organise (จัดหมวดหมู่)

การจัดข้อมูลให้เป็นระเบียบโดยยึดหลักการ “การนำไปใช้” โดยจัดหมวดหมู่ของข้อมูลว่าจะเอาข้อมูลนี้ไปทำอะไรต่อ ซึ่งจะทำให้เราค้นหาง่าย และนำข้อมูลมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแนะนำการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบ PARA method ที่แบ่งข้อมูลเป็น 4 หมวดใหญ่ง่ายๆ ได้แก่

• Project: เรื่องที่กำลังทำอยู่ตอนนี้
เป็น Project ที่เฉพาะเจาะจงของเรา เช่นแผนการลดน้ำหนัก การทำสารนิพนธ์ เป็นต้น

• Areas: เรื่องในชีวิตประจำวันของตนเอง
มักจะเป็นพาร์ทหลักในชีวิตของเรา เช่นแผนการเงิน การเรียน หรือสุขภาพ เป็นต้น

• Resources: สิ่งที่สนใจ
เป็นหมวดเรื่องที่เราสนใจ หรือสิ่งที่อยากทำ เช่น เรียนชงชา การแต่งหน้าวันฮาโลวีน เป็นต้น

• Archives: สิ่งที่ทำเสร็จแล้ว
เป็นคลังที่เราเอาไว้เก็บเรื่องจาก 3 ข้อข้างบนเมื่อเราทำเสร็จแล้ว ซึ่งจะทำให้เราสามารถเรียกดูได้ในภายหลัง และจะทำให้เรื่องที่เราทำเสร็จแล้วไม่ปนกับของใหม่
 
3. D – Distill (กลั่นกรอง)

เป็นการกลั่นกรองข้อมูลในสิ่งที่เราพบเจอ นำมาปรับแต่งให้เป็นภาษาเราให้ง่ายต่อการใช้งานต่อไป เช่น การสรุปใจความสำคัญ หรือวิเคราะห์แจกแจงข้อมูลให้ตัวเองเข้าใจ เช่น การทำ Bullet Point
 
4. E – Express (ส่งออก)

การนำข้อมูลไปประยุกต์ต่อ จะเป็นรูปแบบไหนก็ได้ เช่น เขียนลงในโซเชียล สรุปเป็นชีต หรือแชร์ให้คนรอบตัวรู้ ซึ่งจะทำเราสามารถจดจำเนื้อหานั้นได้ระยะยาวมากขึ้น
 
และนี่ก็คือไอเดียหลักของ Second Brain เครื่องมือที่มีประโยชน์ในการจัดการชีวิตและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เป็นเสมือนสมองที่สอง ที่จะมาช่วยจัดระเบียบและบันทึกข้อมูล แบ่งเบาสมองหลักให้ทำหน้าที่วิเคราะห์และสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับการนึกหรือท่องจำหลาย ๆ ครั้ง หรือรับมือกับความยุ่งเหยิงในชีวิต ซึ่งลดทอนศักยภาพที่แท้จริงของสมองเราโดยเปล่าประโยชน์

LastUpdate 19/01/2568 20:52:33 โดย : Admin
22-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 22, 2025, 12:52 pm