SCB Wealth ยกทีมวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลก เผยขยายตัวชะลอลงจากปีก่อน ปรับประมาณการลงจาก 2.8% เป็น 2.5% เนื่องจากนโยบาย Trump 2.0 กระทบต่อภาคการค้า การลงทุน และกดดันเฟดลดดอกเบี้ยต่ำลงเหลือ 50 BPS เพื่อรองรับเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ด้านจีนพึ่งพาอาเซียนมากขึ้น กดดันเศรษฐกิจไทยชะลอตัวเหลือ 2.4%
นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Wealth & Investment Product ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB WEALTH จัดงาน SCB WEALTH Holistic Experts ในหัวข้อ “Tomorrow’s Wealth: Key Investment Trends Defining 2025” เพื่อมุ่งเน้นให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และการลงทุน รวมถึงโอกาสและความเสี่ยงที่นักลงทุนจะต้องจับตามองในปี 2568 พร้อมโซลูชั่นการลงทุนที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดทุนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ และการลงทุน ที่สามารถให้คำแนะนำครบทุกองค์รวมของ SCB WEALTH Holistic เพื่อให้นักลงทุนสามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ SCB WEALTH ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) โดยมุ่งให้คำปรึกษาเพื่อคัดสรรผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละรายในทุกช่วง State of life เพื่อสะสมความมั่งคั่งอย่างต่อเนื่อง และมีอนาคตทางการเงินที่แข็งแกร่งเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ พร้อมส่งต่อมรดก และความมั่งคั่งให้กับสมาชิกในครอบครัวรุ่นต่อไปได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเด็นของเศรษฐกิจโลกและไทยในปี 2568 ประกอบไปด้วย ย.ยักษ์ 2 ตัวด้วยกัน ได้แก่ 1. ย.ยาก เป็นความยากที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ และ 2.ย.แย่ เป็นภาพของเศรษฐกิจไทยที่มีความเปราะบางในภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และปัญหาหนี้สิน โดยทาง SCB EIC มีการประเมินว่า การก้าวขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโดนัล ทรัมป์ ในสมัยที่ 2 เป็นปัจจัยกดดันที่เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวชะลอลงจากปีก่อน โดยทาง SCB EIC ได้ปรับลดประมาณการ GDP เศรษฐกิจโลกลง จาก 2.8% ลดลงเป็น 2.5% เนื่องจากนโยบายในสมัย Trump 2.0 จะเร่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันการค้าโลกให้รุนแรงขึ้น กระทบเศรษฐกิจโลกผ่านช่องทางการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นหลัก อย่างไรก็ดี หลายประเทศหลักได้เตรียมชุดมาตรการลดผลกระทบเชิงลบจาก Trump 2.0 ไว้บ้างแล้ว ทำให้ผลกระทบอาจไม่มากเท่าไหร่นัก แต่ปัญหาการเมืองในบางประเทศอาจเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้แนวทางการรับมือของภาครัฐขาดประสิทธิภาพ
“แม้จะมีความกังวลว่าการที่ทรัมป์กลับเข้ามากุมอำนาจอีกครั้ง จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากผ่านนโยบายกำแพงภาษี แต่ SCB EIC ประเมินว่า ผลกระทบอาจไม่ได้เป็นไปในเชิง Downside Risk เสมอไป เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ผลกระทบทางลบของนโยบายในสมัย Trump 2.0 จะเปลี่ยนให้โลกไม่เหมือนเดิม เพราะในยุคนี้เศรษฐกิจของจีนพึ่งพาสหรัฐฯ น้อยลง แต่จีนพึ่งพาประเทศอื่น ๆ เช่นประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น ดังนั้นจึงอาจมีผลกระทบกับประเทศโลกที่ 3 มากขึ้น ทำให้เรามองว่า นโยบายใหม่ของทรัมป์น่าจะออกมาแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา แต่นโยบายที่มองว่าจะส่งผลกระทบมากที่สุดคือ การขึ้นภาษี ที่คาดว่าจะดำเนินนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะชัดมากขึ้นหลังจากไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป
ดังนั้น จึงมีการประเมินว่าสภาวะเงินเฟ้อ มีโอกาสปรับสูงขึ้นในสหรัฐฯ ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดดอกเบี้ยรวม 50 BPS ซึ่งน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ เพื่อรองรับความเสี่ยงดังกล่าว ที่จะเพิ่มขึ้นจากการขึ้นภาษีนำเข้าและการกระตุ้นการลงทุนในประเทศ แตกต่างจากทางธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางจีนที่มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยทั้งปี 125 BPS และ 50 BPS ตามลำดับ มากกว่าคาดการณ์เดิม เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวลงจากนโยบาย Trump 2.0 ที่เป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติม สำหรับแรงกดดันเงินเฟ้อโลกอาจไม่เร่งตัวมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจโลกแย่ลง ราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มต่ำลงตามอุปสงค์โลกชะลอตัวและการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ จากนโยบายสนับสนุนของ Trump
แต่เศรษฐกิจโลกที่ว่ายากแล้ว สำหรับเศรษฐกิจไทย เรียกได้ว่าแย่ ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เปรียบได้กับงูเล็กท่ามกลางงูใหญ่ที่กำลังต่อสู้กันอยู่ ซึ่งผลกระทบจากนโยบาย Trump 2.0 ทำให้มีแนวโน้มของเศรษฐกิจขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ 2.4% เนื่องจากสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ ตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้าและต้องการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานในประเทศทดแทน นอกจากนี้ สงครามการค้ารอบใหม่จะทำให้ไทยมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจีนมากขึ้น ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยทั้งตลาดในและนอกประเทศจะมีปัจจัยกดดันมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกไทยเติบโตชะลอลง โดยเฉพาะช่วงหลังไตรมาส 2 ที่นโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐฯ จะเริ่มกระทบหลายประเทศ
ส่วนโอกาสของเศรษฐกิจไทย จะยังคงเป็นในส่วนของการท่องเที่ยวที่กลับมาเติบโตใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งในปี 2568 คาดการณ์นักท่องเที่ยวอยู่ที่ 38.8-39 ล้านคน และการลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีหน้า แต่ฟื้นไม่แรงมากนักจากความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดและอุปสงค์ในประเทศซบเซา ในช่วงปีนี้ เศรษฐกิจไทยโดยรวมมีความเสี่ยงหลายด้าน ขณะที่รายได้ครัวเรือนยังฟื้นตัวจำกัด ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงน่าจะใช้เวลาคลี่คลายส่งผลกดดันการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบที่ยังเปราะบาง ท่ามกลางความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน” ดร.ปุณยวัจน์ กล่าว
SCB EIC ประเมินอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยจะปรับลดลงอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี อยู่ที่ 2% จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ และลดผลกระทบภาวะการเงินตึงตัวต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจะขึ้นกับความจำเป็นในการเตรียมรองรับความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าที่จะเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากความเปราะบางภายในและความท้าทายภายนอก
น.ส.เกษรี อายุตตะกะ CFP ผู้อำนวยการ Investment Research, SCB Chief Investment Office (SCB CIO ) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2568 นี้ SCB CIO มองว่า การลงทุนในตลาดหุ้น มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น ท่ามกลาง 3 ประเด็นสำคัญ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การลงทุนโลก ได้แก่
1) ความไม่แน่นอนด้านนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการลงทุนในตลาดการเงินโลก นโยบายที่สำคัญของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แก่ นโยบายกีดกันผู้อพยพ การผ่อนคลายกฎระเบียบ การขึ้นภาษีสินค้านำเข้า และการลดภาษีเงินได้ ซึ่งนโยบายที่เป็นมิตรต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ เช่น การผ่อนคลายกฎระเบียบและคุมการขาดดุลงบประมาณ อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาสในสินทรัพย์เสี่ยง ส่วนนโยบายที่ไม่เป็นมิตรต่อตลาดฯ เช่น ยืดอายุการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร่วมกับการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้ากับประเทศคู่ค้าอย่างมาก อาจทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มสูงขึ้นและกระตุ้นเงินเฟ้อ นอกจากนี้ การปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับทุกประเทศ อาจผลักดันสกุลเงินดอลลาร์ สรอ.ให้แข็งค่ามากขึ้น ซึ่งขัดแย้งกับเป้าหมายของ Trump ที่ต้องการให้เงินดอลลาร์ สรอ.อ่อนค่า เพื่อสนับสนุนภาคการผลิต
2) ความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ยังหนืด จากผลกระทบของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ ส่งผลต่อทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ทำให้อาจปรับลดดอกเบี้ยได้ช้าลง และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ของสหรัฐฯ ตัวสั้นมีโอกาสปรับลดได้น้อยลง ขณะที่ Bond Yield ตัวยาว มีโอกาสเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (UST Yield Curve) ชันมากขึ้น ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ตัวสั้น ได้รับผลกระทบจาก Bond Yield ที่ปรับเพิ่มขึ้น น้อยกว่าตราสารหนี้ตัวยาว อย่างไรก็ตาม หากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเพิ่มสูงขึ้น เช่น กรณีที่มีการตอบโต้ทางการค้ากันรุนแรงมากขึ้น อาจทำให้ตลาดปรับเพิ่มคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของ Fed มากขึ้น และส่งผลให้ Bond Yield สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวลงได้
3) กระแสปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะยังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทิศทางการเงินการลงทุน AI กำลังสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI เช่น ศูนย์ข้อมูล ระบบประมวลผล และแหล่งพลังงานที่สนับสนุน AI จะมีความสำคัญอย่างมาก โดยการลงทุนใน AI ไม่เพียงแต่จะสร้างโอกาสสำหรับบริษัทเทคโนโลยี เช่น กลุ่ม Software แต่ยังครอบคลุมถึงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น กลุ่ม Utilities และการใช้งานในระดับอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ เมื่อเรียงลำดับความน่าสนใจของตลาดหุ้นทั่วโลก พบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความโดดเด่นที่สุด มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนเหนือตลาดหุ้นโลก จากกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี และกระจายเป็นวงกว้างขึ้น แต่ด้วย Valuation ที่ค่อนข้างแพง จึงแนะนำให้ลงทุนระยะยาว โดยคัดเลือกหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่เกาะกระแส AI ผสมผสานกับกลุ่ม Defensive ที่รายได้และกำไรของบริษัท มีความอ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจต่ำ ขณะเดียวกัน ก็สามารถหาโอกาสจากการลงทุนระยะสั้น ในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กของสหรัฐฯ ที่ได้อานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ ทางด้าน ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชีย เผชิญปัจจัยกดดันจาก Bond Yield สหรัฐฯ 10 ปี ที่เพิ่มสูงขึ้น เงินดอลลาร์ สรอ. ที่แข็งค่า และความไม่แน่นอนบนนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ จึงอาจยังไม่น่าสนใจลงทุนในระยะสั้น แต่สามารถลงทุนระยะยาวได้ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะตัว เช่น ตลาดหุ้นจีน A-Share ตลาดหุ้นอินเดีย ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย และตลาดหุ้นไทย ในส่วนของ ตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดหุ้นชายขอบที่มีโอกาสถูกยกระดับเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ สามารถหาโอกาสลงทุนในระยะสั้นได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยท้าทายที่ทำให้ตลาดหุ้นมีโอกาสผันผวนได้มากขึ้น SCB CIO จึงแนะนำให้ ลดความเสี่ยงให้พอร์ต โดยลงทุนระยะยาวในหุ้นกู้ Investment Grade ของสหรัฐฯ ที่มี Duration สั้น yield ยังน่าสนใจ พร้อมแบ่งเงินส่วนหนึ่งลงทุนใน REITs / สินทรัพย์ผสม เพื่อสร้างกระแสเงินสด นอกจากนี้ แนะนำลงทุน ทองคำ ด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ และสงคราม
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2568 นี้คือปีแห่งความเร็วของข้อมูลข่าวสาร ภาพรวมการลงทุนจะมี ความผันผวนสูง ผลตอบแทนต่ำ การลงทุนจะมีความยาก ถ้าไม่มีการปรับพอร์ตเป็นระยะ ๆ จนกว่าจะเห็นภาพที่เป็นเทรนด์ใหญ่ เนื่องจากมีความท้าทายของนโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ จึงประเมินว่ากลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมสำหรับปีนี้คือ การลงทุนแบบเก็งกำไร (Trading)
“นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ผมมองว่าเขาให้น้ำหนักไปที่ประโยชน์ของเศรษฐกิจสหรัฐเป็นหลัก ดังนั้น Net ของนโยบายทั้งหมดจะไม่ต้องไม่ทำลายธุรกิจในประเทศ การลงทุนในตลาดสหรัฐจึงมีแนวโน้มค่อนข้างดีในภาพรวม และการขับเคลื่อนนโยบายกับต่างประเทศจะเป็นไปในลักษณะที่เพิ่มอำนาจในการต่อรอง เช่น แคนาดา ยุโรป เม็กซิโก และจีน ที่กำลังถูกต่อรองเรื่องสินค้านำเข้า รวมถึงการยกเลิกแบน TikTok เป็นเวลา 75 วัน ที่คาดว่าเป็นระยะเวลาที่ทรัมป์อาจใช้เจรจากับทางจีน เห็นได้เลยว่าสหรัฐมีบทบาทการเป็นผู้กำหนดการโจมตี ส่วนประเทศอื่น ๆ ล้วนเป็นฝ่ายตั้งรับ ดังนั้นการดำเนินนโยบายภายในประเทศเพื่อตั้งรับนโยบายจากสหรัฐ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญต่อตลาดลงทุน
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นเอเชีย ถือได้ว่าเป็นตลาดหุ้นอันดับ 2 ที่มีศักยภาพรองจากสหรัฐ หุ้นไทยจึงมีโอกาส แม้จะได้รับผลด้านความเชื่อมั่น จากสาเหตุที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและปัญหาทางโครงสร้าง สังเกตได้จาก Performance ของหุ้นไทยเทียบ 2 ปี ที่ติดลบเกือบถ้วนหน้า เช่นกลุ่มหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากจีน ที่มีแนวโน้มว่าจะติดลบต่อไป ส่วนหุ้นในกลุ่ม Healthcare ได้รับผลกระทบจากนโยบายเรื่องของประกันก่อนหน้านี้ ด้านหุ้นกลุ่มพลังงานก็ลดลงจากผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน แต่หุ้นในหมวดท่องเที่ยว การเงิน ค้าปลีก กลุ่มอาหาร เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวแล้ว” คุณสุกิจ กล่าว
ซึ่งในปี 2568 ไทยจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของผลการดำเนินงาน และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงประเมินเป้าหมาย SET Index ที่ 1,550 จุด โดยอุตสาหกรรมที่จะพลิกฟื้นกลับมา อาทิ กลุ่มขนส่งค้าปลีกอาหารเครื่องดื่ม ที่มีโมเมนตัมผลประกอบการในปีนี้ต่อจากปีที่แล้ว มีระดับการเติบโตที่10%-15% กลุ่มการแพทย์ที่เป็นเทรนด์การลงทุนในปีนี้ และกลุ่มพาณิชย์ โดยสำหรับหุ้นแนะนำแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1) Value stock หุ้นมูลค่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน แต่ปลอดภัยและมีศักยภาพโตต่อเนื่อง ได้แก่หุ้น AOT,BBL และ CPALL 2) Dividend stock หุ้นปันผลสูงเพื่อสร้างกระแสเงินสดในพอร์ต ได้แก่หุ้น AP,BCP และ LHHOTEL 3) Laggard stock หุ้นที่ราคาปรับขึ้นช้า แต่ผลประกอบการส่งสัญญาณบวก ได้แก่หุ้น BCH,GPSC และ HMPRO และ 4) Mid-small cap growth หุ้นที่กำไรจะเติบโตดี และมี Upside Risk ได้แก่ หุ้น AMATA , AU และ INSET
ดร.นิติ เนื่องจำนงค์ ผู้อำนวยการอาวุโส Wealth Planning and Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2024 ต่อเนื่องมายังปี 2025 ทางลูกค้ากลุ่ม Wealth และ Family Business ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารจัดการและการส่งต่อทรัพย์สินทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการวางแผนการส่งต่อธุรกิจครอบครัว (กงสี) การวางโครงสร้างและการลงทุนการขยายกิจการในธุรกิจใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านการสะสมความมั่งคั่งและการวางแผนเพื่อการส่งต่อไปยังรุ่นถัดไปทั้งในด้านความมั่งคั่งของครอบครัวและธุรกิจครอบครัว ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในรูปแบบ Holistic Solutions ที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกๆ ช่วงอายุไม่ว่าจะในด้านการลงทุนเพื่อสะสมความมั่งคั่ง (Wealth Accumulation) การดูแลให้คำแนะนำในด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินเพื่อการส่งต่อของธุรกิจครอบครัวและมรดก (Wealth Planning and Wealth Transfer)
สำหรับบริการของ Wealth Planning and Family Office เรามุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของลูกค้าทำหน้าที่เป็น Family Office เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า (Customer Centric) ในแต่ละช่วงวัยและแต่ละบริบทชีวิตในด้านการดูแลให้คำแนะนำที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินการส่งต่อธุรกิจครอบครัวและมรดกในรูปแบบการแนะแนวทาง (Navigate) การดูแลอำนวยความสะดวก (Facilitate) และให้คำแนะนำในเบื้องต้น (Initial Advice) ให้กับสมาชิกในครอบครัวโดยครอบคลุมในทุกๆ รุ่น อาทิ การวางรากฐานแนวความคิดของครอบครัว แนวการดำเนินการธุรกิจครอบครัวและการเชื่อมต่อจากรุ่นสู่รุ่น ธรรมนูญครอบครัว สัญญาก่อนสมรส บัญชีทรัพย์สิน พินัยกรรม พินัยกรรมชีวิต กลไกการขจัดความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัวโดยคนกลางผ่านกระบวนการประนีประนอม (Mediation) หรือการระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) ในด้านธุรกิจครอบครัว (Family Business) จะเป็นการให้คำแนะนำในด้านการวางแผนจัดตั้งบริษัท Holding การจัดตั้งบริษัทเพื่อการลงทุน การต่อยอดในธุรกิจเดิมและการขยายในธุรกิจใหม่ (New S-Curve) การวางแผนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (IPO : Initial Public Offering) การควบรวมกิจการ (M&A) การวางแผนเพื่อการปกป้องกันธุรกิจครอบครัวไม่ให้ตกเป็นของบุคคลภายนอก หรือการวางกลยุทธ์สำหรับการออกจากธุรกิจเดิมไปยังธุรกิจใหม่ การวางแผนประกันชีวิตและภาษีเพื่อการส่งต่อความมั่งคั่ง และภาษีรับมรดก รวมถึงภาษีที่เกี่ยวกับการลงทุนต่างประเทศ เป็นต้น
“ลองมองภาพในครอบครัวขนาดใหญ่ ที่มี Network เชื่อมกันเต็มไปหมด อีกทั้งยังมีพาร์ทใหญ่อย่างธุรกิจของครอบครัวที่มีการเชื่อมโยงเข้ากับสินทรัพย์และทรัพย์สินของครอบครัวทั้งหมด การบริหารจัดการจึงต้องเกิดขึ้นอย่างจริงจังเพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งเหยิง ซึ่งเราต้องพิจารณาจากสมาชิกในครอบครัว ต้องดูบทบาทของแต่ละคนในครอบครัว และความต้องการของแต่ละคน เช่นคนรุ่นพ่ออยากส่งต่อธุรกิจทุกอย่างให้กับลูก แต่อยากส่งสินทรัพย์ข้ามไปให้ยังรุ่นหลานเลย ก็ต้องทำให้แน่ใจว่าธุรกิจและสินทรัพย์เหล่านั้นจะตกถึงมือผู้ที่อยากส่งต่อให้จริง ๆ อีกทั้งยังต้องจัดการเรื่องของภาระภาษี ที่อาจจะมีการแนะนำให้ส่งมอบเลยบางส่วน เพื่อลดภาษีบางส่วนของมรดกลงเป็นภาษีการให้แทน หรือใช้เรื่องของประกันชีวิตเข้ามาช่วยส่งผ่านทรัพย์สินโดยที่ไม่มีภาระภาษีทางมรดกตามมา ตรงนี้เป็นตัวอย่างของ Solution ที่เราให้กับลูกค้าได้”ดร.นิติ กล่าว
ในด้านบริการของ Wealth Planning and Family Office ได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับสมาชิกในครอบครัวของลูกค้า (Family Members Resource) ทุกๆ ท่านเพื่อช่วยในการวางรากฐานและการส่งต่อให้กับสมาชิกในครอบครัวในทุกๆ รุ่น โดยเฉพาะการตระเตรียมสำหรับทายาทในกลุ่ม Gen Alpha และ กลุ่ม Gen Beta เพื่อรองรับการส่งต่อในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นหลักการพื้นฐานของครอบครัวทั้งทางความคิด วัฒนธรรม ค่านิยม หลักคุณธรรม จริยธรรม ความเชื่อที่ครอบครัวยึดถือสำหรับปฏิบัติระหว่างสมาชิกครอบครัวและต่อสังคมตามหลัก ESG (Environment, Social, และ Governance) การกำหนดนโยบายและแผนการส่งต่อทรัพย์สินและสืบทอดตำแหน่งสำคัญๆ ของธุรกิจครอบครัว การกำหนดหน้าที่สมาชิกในครอบครัว รวมทั้งข้อกำหนดว่าห้ามสมาชิกในครอบครัวทำเรื่องใดบ้าง สวัสดิการของสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น ซึ่งธรรมนูญครอบครัว สัญญาผู้ถือหุ้น พินัยกรรม หรือเอกสารใดๆ เป็นเครื่องมือช่วยในการวางกฎระเบียบการส่งต่อเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คือการวางรากฐานทางความคิดจิตวิญญาณและการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างสมาชิกในครอบครัวจนมีการหล่อหลอมกลายเป็นเสาหลักที่เข้มแข็งจนกลายเป็นความมั่งคั่งทางความคิดของสมาชิกในครอบครัว เพื่อก่อให้เกิดความสามัคคีของสมาชิกในครอบครัวทุกๆ รุ่นที่จะช่วยกันดูแลความมั่งคั่ง ทรัพย์สินและธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นอย่างยั่งยืน
ข่าวเด่น