การศึกษาในอัฟกานิสถาน บังกลาเทศ โมซัมบิก ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากคลื่นความร้อน พายุไซโคลน น้ำท่วม และพายุ
นิวยอร์ก, 24 มกราคม 2568 – รายงานวิเคราะห์ฉบับใหม่ของยูนิเซฟ เปิดเผยวันนี้ว่า นักเรียนอย่างน้อย 242 ล้านคนใน 85 ประเทศได้รับผลกระทบต่อการศึกษาเนื่องจากวิกฤตสภาพอากาศรุนแรงในปี 2567 เช่น คลื่นความร้อน พายุหมุนเขตร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วม และภัยแล้ง ซึ่งยิ่งซ้ำเติมวิกฤตการเรียนรู้ของเด็กที่มีอยู่เดิม
รายงาน Learning Interrupted: Global Snapshot of Climate-Related School Disruptions in 2024 ที่เผยแพร่เป็นครั้งแรกในวันการศึกษาสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 24 มกราคม ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบทางการศึกษาที่เกิดจากวิกฤตสภาพอากาศ ทั้งในด้านการปิดโรงเรียน หรือการเปลี่ยนแปลงตารางการเรียนการสอนอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อเด็ก ๆ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมปลาย
เมื่อปีที่แล้ว คลื่นความร้อนคือภัยพิบัติทางสภาพอากาศหลักที่ทำให้โรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอน โดยในเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว มีนักเรียนกว่า 118 ล้านคนได้รับผลกระทบดังกล่าว โรงเรียนจำนวนมากในบังกลาเทศและฟิลิปปินส์ต้องปิดโรงเรียนในเดือนเมษายน ขณะที่กัมพูชาปรับเวลาเรียนให้สั้นลง 2 ชั่วโมงต่อวัน ในเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิที่สูงถึง 47 องศาเซลเซียสในหลายพื้นที่ของภูมิภาคเอเชียใต้ทำให้เด็ก ๆ เสี่ยงเป็นโรคลมแดด
แคทเธอรีน รัสเซลล์ ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า “เด็กเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางและได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศมากกว่าผู้ใหญ่ เช่น คลื่นความร้อนที่รุนแรงและถี่ขึ้น พายุ ภัยแล้ง และน้ำท่วม อีกทั้งร่างกายของเด็กมีความเปราะบางเป็นพิเศษ ร่างกายของพวกเขาร้อนขึ้นเร็วกว่าและเย็นลงช้ากว่าผู้ใหญ่ อีกทั้งระบายเหงื่อได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ เด็ก ๆ ขาดสมาธิในห้องเรียนที่ร้อนแผดเผาหรือขาดการระบายอากาศ น้ำท่วมถนนหรือโรงเรียนทำให้พวกเขาไม่ได้เรียนหนังสือ เมื่อปีที่แล้ว สภาพอากาศสุดขั้วทำให้นักเรียน 1 ใน 7 คนไปโรงเรียนไม่ได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของพวกเขา รวมถึงการศึกษาระยะยาวของพวกเขา”
บางประเทศต้องประสบกับภัยพิบัติทางสภาพอากาศหลากหลาย เช่น ในอัฟกานิสถาน นอกจากจะเผชิญกับคลื่นความร้อนแล้ว ยังเกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรงในเดือนพฤษภาคม ทำให้โรงเรียนมากกว่า 110 แห่งเสียหาย ส่งผลให้การศึกษาของนักเรียนหลายพันคนต้องหยุดชะงัก
ในขณะเดียวกัน เดือนกันยายนซึ่งเป็นการเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ในหลายประเทศทั่วโลก แต่อย่างน้อย 16 ประเทศต้องระงับการเรียนการสอนเพราะสภาพอากาศสุดขั้วรุนแรง ซึ่งรวมถึงพายุไต้ฝุ่นยางิที่ส่งผลกระทบต่อเด็กถึง 16 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
รายงานระบุว่า เอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเมื่อปีที่แล้วมีนักเรียน 128 ล้านคนต้องหยุดเรียนเนื่องจากสภาพอากาศ ขณะที่การศึกษาของนักเรียน 50 ล้านคนในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เอลนีโญยังคงมีผลกระทบร้ายแรงต่อแอฟริกา โดยมีฝนตกหนักและน้ำท่วมบ่อยครั้งในแอฟริกาตะวันออก และภัยแล้งรุนแรงในหลายพื้นที่ของแอฟริกาตอนใต้
อุณหภูมิที่สูงขึ้น พายุ น้ำท่วม และภัยพิบัติทางสภาพอากาศอื่น ๆ ก่อความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์การเรียนของโรงเรียน กีดขวางเส้นทาง ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ไม่ปลอดภัย และส่งผลกระทบต่อสมาธิ ความจำ รวมถึงสุขภาพกายและใจของนักเรียน
ในบริบทที่เปราะบาง การปิดโรงเรียนเป็นเวลานานทำให้นักเรียนมีแนวโน้มที่จะไม่กลับมาเรียนต่อ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการแต่งงานในวัยเด็กและใช้แรงงานเด็ก หลักฐานชี้ให้เห็นว่าเด็กผู้หญิงมักได้รับผลกระทบในสัดส่วนที่สูงกว่า และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน และการเผชิญความรุนแรงทางเพศระหว่างและหลังการเกิดภัยพิบัติ
ระบบการศึกษาทั่วโลกกำลังล้มเหลวต่อการตอบสนองความต้องการของเด็กหลายล้านคน การขาดแคลนครูผู้เชี่ยวชาญ ห้องเรียนแออัด และความแตกต่างด้านคุณภาพและการเข้าถึงการศึกษา ก่อให้เกิดวิกฤตการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยิ่งเลวร้ายขึ้นอีกด้วยภัยพิบัติทางสภาพอากาศ
การวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นว่า เกือบร้อยละ 74 ของนักเรียนที่ได้รับผลกระทบเมื่อปีที่แล้วอาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางระดับล่าง แต่ไม่มีภูมิภาคใดรอดพ้นจากผลกระทบนี้ได้ ในเดือนกันยายน ฝนตกหนักและน้ำท่วมส่งผลให้การเรียนในอิตาลีต้องชะงักลง ทำให้นักเรียนกว่า 900,000 คนต้องหยุดเรียน และในเดือนตุลาคม สเปนก็ประสบปัญหาคล้ายคลึงกันส่งผลต่อเด็ก 13,000 คน
รายงานระบุว่า โรงเรียนและระบบการศึกษาส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมในการปกป้องนักเรียนจากผลกระทบเหล่านี้ เนื่องจากงบประมาณที่ลงทุนด้านสภาพอากาศในภาคการศึกษายังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างน่าเป็นห่วง อีกทั้งข้อมูลระดับโลกเกี่ยวกับผลกระทบด้านการศึกษาอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางสภาพอากาศยังมีอยู่อย่างจำกัด
ยูนิเซฟทำงานร่วมกับรัฐบาลและพันธมิตรเพื่อปรับปรุงและสร้างห้องเรียนที่ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ และปกป้องเด็กจากภัยพิบัติที่รุนแรง ยกตัวอย่างเช่น ในโมซัมบิก เด็กนักเรียนต้องเผชิญพายุไซโคลนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพียงสองเดือนที่ผ่านมา
มีนักเรียนกว่า 150,000 คนได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนชิโดและดีเคเลดี ยูนิเซฟจึงสนับสนุนการสร้างห้องเรียนที่ทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศมากกว่า 1,150 ห้อง ใน 230 โรงเรียนทั่วประเทศ
ในเดือนพฤศจิกายน ยูนิเซฟได้เผยแพร่รายงาน State of the World’s Children ซึ่งชี้ว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศจะขยายวงกว้างมากขึ้นในช่วงปี 2593 – 2602 โดยจะมีเด็กที่ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า และเผชิญกับน้ำท่วมรุนแรงเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษ 2543 – 2552
ยูนิเซฟเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกและภาคเอกชนดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องเด็ก ๆ จากผลกระทบที่รุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย:
· ผลักดันให้เกิดแผนระดับชาติ – รวมถึงการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ Nationally Determined Contributions และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ หรือ National Adaptation Plans – เสริมสร้างบริการทางสังคมที่สำคัญต่อเด็ก เช่น การศึกษา ให้มีความสอดคล้องกับสภาพอากาศและสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้ และรักษาคำมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อป้องกันผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
· ลงทุนในสถานศึกษาที่ทนทานต่อภัยพิบัติและสภาพอากาศ เพื่อการเรียนรู้ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
· เร่งจัดหาเงินทุน เพื่อพัฒนาความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศในภาคการศึกษา รวมถึงลงทุนในวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว
· บูรณาการการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคำมั่นที่ตอบสนองความต้องการของเด็กในทุกภาคส่วน
รัสเซลล์กล่าวเพิ่มเติมว่า “การศึกษาเป็นหนึ่งในบริการที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางสภาพอากาศบ่อยที่สุด แต่กลับถูกมองข้ามในเชิงนโยบาย ทั้งที่การศึกษามีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้เด็ก ๆ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อนาคตของเด็กต้องเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกในทุกแผนงานและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ”
ข่าวเด่น