เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "โจทย์ท้าทาย 5 เรื่องของธุรกิจแบงก์ปี 2568"


• งบการเงินปี 2567 ของกลุ่มแบงก์ (9 แห่ง) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สะท้อนประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีทิศทางดีขึ้น แม้รายได้หลักของกลุ่มแบงก์จะยังมาจากรายได้ดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม 2) ระดับหนี้เสียยังบริหารจัดการได้ แต่สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมยังขยับขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 และ 3) ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ เริ่มทยอยลดลง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี


• สำหรับในปี 2568 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มีโจทย์ท้าทาย 5 เรื่องที่ธุรกิจแบงก์ต้องเตรียมรับมือท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศ ประกอบด้วย 1) รายได้จากธุรกิจหลักจะยังมีกรอบการฟื้นตัวที่จำกัด 2) การดูแลจัดการประสิทธิภาพของค่าใช้จ่ายและต้นทุนต่างๆ 3) การติดตามดูแลให้ระดับค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ สอดคล้องกับสภาวะความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อ 4) การจัดการปัญหาคุณภาพสินเชื่อในเชิงรุกต่อเนื่อง และ 5) ติดตามเกณฑ์ของทางการที่อาจออกมาเพิ่มเติมและเตรียมกลยุทธ์รับมือกับสภาพการแข่งขันที่อาจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจาก Virtual Bank

โจทย์ที่ต้องเตรียมรับมือ 5 เรื่องของธุรกิจแบงก์ในปี 2568 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจ
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความเปราะบางของแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังคงเป็นหนึ่งในโจทย์ท้าทายความสามารถในการประคองรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำให้คาดว่า ภาพในอีกด้านหนึ่งจะเห็นธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ให้ความสำคัญกับการดูแลจัดการประสิทธิภาพด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย ควบคู่ไปกับการเตรียมปรับตัวรับมาตรการที่ทางการอาจทยอยประกาศออกมาเพิ่มเติม เช่น แนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ ตลอดจนเตรียมวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการแข่งขันกับผู้เล่นหน้าใหม่ โดยเฉพาะ Virtual Bank ในช่วงหลังจากนี้
 
1) รายได้จากธุรกิจหลักอาจมีกรอบการฟื้นตัวที่จำกัด โดยในส่วนของผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อ (Yield on Loans) ปี 2568 อาจประคองตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่า 5.30% ในปี 2567 ตามภาพการเติบโตในกรอบจำกัดของสินเชื่อโดยเฉพาะพอร์ตสินเชื่อ High Yields รวมถึงความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจปรับตัวลดลง นอกจากนี้ แรงหนุนต่อรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในปี 2568 โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมฯ กำไรจาก FVTPL และเงินลงทุน อาจมีความท้าทายกว่าปี 2567 เพราะจะขึ้นอยู่กับสภาวะความผันผวนของตลาดการเงินภายหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์  
 
2) ธนาคารส่วนใหญ่จะใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นในการดูแลบริหารจัดการประสิทธิภาพของค่าใช้จ่ายและต้นทุนต่างๆ ซึ่งทำให้คาดว่าสัดส่วนต้นทุนต่อค่าใช้จ่าย (Cost to Income Ratio) ในปี 2568 จะลดลงต่ำกว่าระดับ 45% ในปี 2567 อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศน่าจะยังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอื่นๆ 
 
3) ระดับค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ ปี 2568 มีแนวโน้มชะลอลง (หลังจากที่กันสำรองฯ ในระดับสูงตลอดหลายปีที่ผ่านมา) แต่คาดว่า สัดส่วนสำรองฯ ต่อ NPLs (Coverage ratio) ในปี 2568 จะลดลงจาก 182% ณ สิ้นปี 2567 ไม่มาก เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่ยังน่าจะมีแนวทางการกันสำรองฯ แบบระมัดระวังท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยและผลจากนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะมีผลทั้งในเชิงบวกและลบกับภาคธุรกิจซึ่งทำให้ธนาคารต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยอาจมีการปรับแนวทางการกันสำรองฯ ให้สมดุลกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและปัญหาคุณภาพหนี้ที่ยังเป็นโจทย์ต่อเนื่องระหว่างปี 
 
 
4) ปัญหาคุณภาพสินเชื่อยังต้องดูแลต่อเนื่องในปี 2568 เพื่อรักษาระดับ NPLs ให้ใกล้เคียงหรือขยับขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับ 3.04% ณ สิ้นปี 2567 โดยในปี 2568 ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีภารกิจต่อเนื่องในการให้ความช่วยเหลือและปรับโครงสร้างลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ตามกรอบ Responsible Lending ซึ่งจะต้องดำเนินการไปพร้อมกับการเร่งบริหารจัดการคุณภาพหนี้ในเชิงรุก และการประเมินและทบทวนความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้โดยคำนึงถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอย่างระมัดระวัง 
 
5) ประเด็นติดตามเพิ่มเติมจะอยู่ที่เกณฑ์ของทางการและสภาพการแข่งขัน โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ การดูแลความปลอดภัยทางด้านการเงิน และการวางกลยุทธ์เตรียมรับมือกับการแข่งขันจากคู่แข่งที่จะเข้มข้นขึ้น โดยคงจะเห็นแผนและรูปแบบการทำธุรกิจของผู้สมัคร Virtual Bank ที่ชัดเจนขึ้น หลังการประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ในช่วงกลางปี 2568

LastUpdate 27/01/2568 13:30:42 โดย : Admin
20-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2025, 10:33 am