
ธนาคารกสิกรไทยและบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) ร่วมลงทุน 1,000 ล้านบาท จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ อรุณ จำกัด (ARUN AMC) เพื่อช่วยพลิกฟื้นสถานะลูกหนี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคาร โดยตั้งเป้าขายหนี้ 5-6 หมื่นล้านบาทภายในปี 2569 เพื่อลด NPL หวังดัน ROE แตะ 2 หลัก
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังคงมีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่อง และเป็นปัญหาที่กระทบเศรษฐกิจไทยมายาวนาน รวมถึงในปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอน อีกทั้งยังมีการฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไทยปี 2567 คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 88.6% ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้มีมาตรการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมลงทุนกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ในรูปแบบของ Joint Venture เพื่อร่วมแก้ปัญหาหนี้เสีย โดยธนาคารกสิกรไทย และบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน รวมถึง BAM เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด การร่วมกันจัดตั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์ อรุณ จำกัด (ARUN AMC) ในครั้งนี้ จึงส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ และลูกค้าของธนาคาร ที่จะร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาหนี้เสีย เพื่อช่วยพลิกฟื้นลูกหนี้ ให้มีการจัดการหนี้ที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นางทองอุไร ลิ้มปิติ
นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 25 ปี BAM มีบทบาทหลักในการแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ ในระบบสถาบันการเงินและบริหารสินทรัพย์ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาหนี้เสียสำเร็จได้มากกว่า 158,000 ราย คิดเป็นมูลค่าภาระหนี้กว่า 492,000 ล้านบาท สามารถจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายได้กว่า 53,000 รายการ มูลค่าประเมินรวม 126,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการแก้ไขสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ทั้งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และทรัพย์สินด้อยคุณภาพที่รอการขาย (NPA) นั้น ทาง BAM ตระหนักดีว่ามีแนวทางต่าง ๆ ที่จะสามารถเอามาใช้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในการร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์ อรุณ จำกัด (ARUN AMC) กับธนาคารกสิกรไทย โดยให้บริการเกี่ยวกับการรับจ้างบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่บริษัทรับซื้อ หรือรับโอนมาจากธนาคารกสิกรไทย ตลอดจนให้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ และบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะเป็นในรูปแบบของ Telemeter เป็นเทคโนโลยีทื่ BAM พัฒนาขึ้นมา โดย BAM มีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการสานต่อนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน โดยจะร่วมผลักดันกิจกรรมร่วมทุน รวมทั้งวางนโยบายในการบริหารจัดการที่เหมาะสมในรูปแบบต่าง ๆ อย่างดีที่สุด มุ่งเน้นช่วยเหลือลูกหนี้สุจริตให้ผ่านพ้นปัญหาหนี้สินไปได้อย่างราบรื่น ส่งผลให้สามารถแก้ไขหนี้เสียกลายเป็นหนี้ดีกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจปกติต่อไป

ซ้าย-นายบรรยง วิเศษมงคลชัย, กลาง-นายจงรัก รัตนเพียร, ขวา-นายสมชาย ธนุรักษ์
ไฟโรจน์
นายจงรัก รัตนเพียร ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนจากตัวเลข GDP ที่เติบโตไม่ได้สูงมากนักมาหลายปี และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงมีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยที่ส่งเสริมการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เสีย และผลักดันให้เศรษฐกิจไทยกลับมาโตอีกครั้ง จึงเป็นที่มาของโอกาสอันดีในการร่วมลงทุนระหว่างธนาคารกสิกรไทย และบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ อรุณ จำกัด (ARUN AMC) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับธนาคาร
“ในส่วนคุณค่าที่ทางธนาคารกสิกรไทยจะได้รับจากการร่วมมือกันก่อตั้ง ARUN AMC ในครั้งนี้ เนื่องด้วยการทำธุรกิจหลักในการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ย่อมเกิดหนี้เสีย หรือ NPL เกิดขึ้นเป็นธรรมดา การได้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญของการบริหารหนี้อย่าง BAM มาผนึกกำลังกับความสามารถของทางเรา โดยการโอนขายขาดหนี้ด้อยคุณภาพให้กับทาง ARUN AMC ที่เบื้องต้นคาดว่าจะโอนไป 2.5-3 หมื่นล้านบาท ธนาคารกสิกรไทยจะได้เงินทุนกลับมาเพื่อใช้ในการปล่อยสินเชื่อใหม่ สร้างธุรกิจใหม่ได้ ฉะนั้น NPL จะมีการปรับลดลง และจะทำให้อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.02-0.04% ต่อการโอนขายหนี้เสียออก 10,000 ล้านบาท ธนาคารจึงวางเป้าขายหนี้เสียภายใน 2 ปีที่วงเงิน 6 หมื่นล้าน ซึ่งจะทำให้ ROE ก้าวไปสู่ระดับ 2 หลักในปี 2569 จากปัจจุบัน ณ สิ้นปี 2567 ที่ 9%” นายจงรัก กล่าว
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย รองประธานกรรมการ และรักษาการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) เปิดเผยว่า การร่วมกันจัดตั้ง ARUN AMC โดยธนาคารกสิกรไทย และ BAM นั้น ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 เท่ากัน มีเงินทุนเริ่มต้นในการจัดตั้งบริษัทจำนวน 1,000 ล้านบาท ซึ่งการเกิดขึ้นของ ARUN AMC นอกจากจะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และ พันธกิจของ BAM ในการพลิกฟื้นสินทรัพย์ ช่วยเหลือลูกหนี้ให้กลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจ และฟื้นฟูธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มือสองให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยส่งเสริมศักยภาพให้ทั้งธนาคารกสิกรไทยและ BAM มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จ และเป็นการร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้เกิดมูลค่าเพิ่มของธุรกิจบริหารสินทรัพย์ได้อย่างแท้จริง
“ด้วยวัตถุประสงค์ของ BAM ต้องการช่วยลูกหนี้ให้ยืนอยู่ได้ด้วยขาของตัวเอง จึงเป็นโอกาสอันดีที่ ARUN AMC จะสนับสนุนพันธกิจของเราให้สำเร็จลุล่วงมากกว่าเดิม โดยมีกำลังในการรับซื้อรับโอนหนี้ด้อยคุณภาพได้เพิ่มมากขึ้น ช่วยลูกค้าและสังคมได้เพิ่มมากขึ้น” นายบรรยง กล่าวเพิ่มเติม
นายสมชาย ธนุรักษ์ไพโรจน์ กรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ อรุณ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ARUN AMC ตั้งเป้าในการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพจากธนาคารกสิกรไทย มูลค่าหนี้รวมประมาณ 50,000 – 60,000 ล้านบาท เพื่อมาบริหารจัดการภายใต้ทีมงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อพลิกฟื้นสถานะลูกหนี้ รวมถึงให้โอกาสลูกหนี้ฟื้นตัว และสามารถรักษาทรัพย์สินเพื่อใช้ในการดำรงชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดย ARUN AMC มีแนวทางที่จะดำเนินงานเบื้องต้น ที่จะตอบรับนโยบายการแก้หนี้เสียของภาครัฐ เช่น โครงการคุณสู้ เราช่วย เพราะฉะนั้น ลูกหนี้ธนาคารกสิกรไทยที่ถูกโอนขายหนี้มาที่ ARUN AMC ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2567 ก็จะยังคงได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการแก้ไขหนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เสียสิทธิ์แต่อย่างใด
“ในการดำเนินกิจการของ ARUN AMC ได้กำหนดกลไกที่เป็นหลักสำคัญในการดำเนินธุรกิจ อยู่ 3 กลไกหลัก ได้แก่ 1.ความร่วมมือ Covenant Form Reasonable Financial Solution โดยอาศัยความร่วมมือผู้ที่เกี่ยวข้องทุก ๆ ฝ่ายเพื่อช่วยให้ลูกหนี้พ้นจากวิกฤตทางการเงินได้เร็วที่สุด 2.Productivity โดยอาศัยจุดแข็งของผู้ถือหุ้นทั้งจากธนาคารกสิกรไทยและ BAM เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ 3. Agility ด้วยโครงสร้างที่ไม่สลับซับซ้อนมากของบริษัทที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมา จะมีความคล่องตัวในการดำเนินงานต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว” นายสมชาย กล่าว
โดย ARUN AMC มีการรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพล็อตแรกจากธนาคารกสิกรไทยมาแล้วอยู่ที่มูลค่า 10,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าพยายามช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้มากที่สุดภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นแสงสว่างให้ลูกหนี้พ้นจากวิกฤตทางการเงิน” โดยช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเต็มที่ ด้วยการผสานจุดแข็งของธนาคารกสิกรไทยและ BAM เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ มีต้นทุนการดำเนินงานที่เหมาะสม และสร้างรายได้และกำไรที่ตอบโจทย์ผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ARUN AMC ได้รับใบทะเบียนบริษัทบริหารสินทรัพย์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา
ข่าวเด่น