ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์นโยบายทรัมป์ 2.0 จะยังคงใช้ภาษีนำเข้า (Tariff) เป็นเครื่องมือในการทำสงครามการค้า รวมถึงแนวคิดในการขยายดินแดนไปยังกรีนแลนด์ และคลองปานามา จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่ประเทศไทย คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 10 ของโลก แนะไทยใช้กลยุทธ์เปิดตลาดให้กับธุรกิจสหรัฐฯ มากขึ้น หรือเพิ่มการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพื่อเป็นการลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่าหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง ความชัดเจนต่อนโยบายการค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็เริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบาย America First ที่สหรัฐฯ จะนำผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นที่ตั้ง โดยในนโยบาย Trump 2.0 มีทั้งความต้องการที่จะขยายดินแดนและอิทธิพลไปนอกสหรัฐฯ อาทิ กรีนแลนด์ คลองปานามา และแคนาดา การบรรลุเป้าหมายด้านการเมืองและความมั่นคง ในประเด็นเรื่องคนลักลอบเข้าเมืองและปัญหายาเสพติด รวมไปถึงการจะยังสานต่อการใช้ภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสหรัฐฯ

โดยมองว่า ทรัมป์อาจได้รับอิทธิพลทางความคิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการใช้เงินซื้อดินแดนไปจนถึงการใช้กำลังทางทหาร เพื่อขยายอิทธิพลครอบคลุมกรีนแลนด์ ซึ่งปัจจุบันเป็นดินแดนปกครองตนเองของประเทศเดนมาร์ก เนื่องจากเป็นจุดยุทธศาสตร์สมัยช่วงสงครามเย็น ที่เคยเป็นที่ตั้งของฐานทัพลับสหรัฐฯ ที่ชื่อว่า Camp Century นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย และจากผลกระทบของ Global Warming ที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย ส่งผลให้กรีนแลนด์เป็นจุดที่มีเส้นทางการเดินเรือใหม่ในแถบอาร์กติก ที่ทำให้ระยะเวลาการเดินเรือนับจากยุโรปไปประเทศจีนซึ่งใช้เวลาประมาณ 48 วันในเส้นทางเดินเรือเดิม ลดเหลือเพียงระยะเวลาประมาณ 2 อาทิตย์ในบริเวณ Arctic Circle

และในส่วนของคลองปานามา ที่แต่เดิมเคยเป็นของสหรัฐฯ ก่อนสูญเสียอำนจการปกครองไปเมื่อปี 1999 การก้าวขึ้นมาของผู้นำทรัมป์ ก็มีเจตจำนงที่จะอยากได้คลองปานามากลับคืนมา เนื่องจากต้องการเชื่อมต่อเส้นทางเดินเรือจากตะวันออกสู่ตะวันตก โดยจะเห็นได้ว่า ระยะเวลาการเดินทางจากนิวยอร์กไปซานฟรานซิสโกโดยตัดผ่านคลองปานามาจะใช้เวลาเพียงแค่ 11 วัน จากแต่เดิมที่ต้องอ้อมอเมริกาใต้ที่ใช้เวลาอย่างน้อย 27 วัน
“เราจะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ กำลังจัดทำนโยบายเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ โดยกรณีหากเกิดสงครามขึ้น ถ้าได้ดินแดนดังกล่าวมาครอบครอง สหรัฐฯ จะไม่โดนบล็อกเส้นทาง” นายบุรินทร์ กล่าว
นอกจากนี้ ทรัมป์ ยังมีการสานต่อนโยบายสมัยแรก ที่จะมีการขึ้นภาษีนำเข้า หรือ Tariff โดยทรัมป์อ้างว่าการ Tariff จะทำให้สหรัฐฯ กลับไปรุ่งเรืองเหมือนเดิม และจะทำให้ประชาชนมีความมั่งคั่งร่ำรวยมากขึ้น เพราะช่วงปี 1880-1913 สหรัฐฯมีอำนาจมากที่สุดในโลก ซึ่งก็เป็นผลมาจากการเก็บภาษีนำเข้า ที่จัดเป็นรายได้ของรัฐบาลถึง 80% และนโยบายการเก็บภาษีของนโยบาย Trump 2.0 เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของการทำสงครามทางการค้า โดยจะมีเครื่องมือในการจัดการการค้าต่างประเทศอีกหนึ่งรูปแบบเรียกว่า “Non-Tariff” โดยจะเป็นการจำกัดการนำเข้าสินค้า (Import Quota) การใช้อำนาจไม่ให้ประเทศหนึ่งส่งสินค้าหรือวัตถุดิบให้อีกประเทศหนึ่ง (Export Control) และการไม่ให้ลงทุน (Limit Investment)

โดยรายได้จากภาษีศุลกากร ณ ปัจจุบันทางรัฐบาลสหรัฐฯ เก็บได้ไม่ถึง 2% ของรายรับจากการเก็บภาษีทั้งหมด จาก 1.1% ในช่วงปี 2001-2017 และช่วง Trade War ครั้งแรก 1.8% ในช่วงปี 2019-2024 ซึ่งทรัมป์กล่าวว่าไม่เพียงพอ ทำให้คาดว่าต่อไปรัฐบาลสหรัฐฯ จะเปลี่ยนไปใช้ External Revenue Service (ERS) หรือการหันมาเก็บภาษีจากต่างประเทศ แทนการเก็บภาษีจากประชาชนในประเทศ หรือ Internal revenue Service (IRS) เหมือนแต่ก่อน ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงมาก โดยจะส่งผลกระทบต่อคู่ค้าอย่างจีน แคนาดา เม็กซิโก กลุ่มประเทศใน EU รวมถึงประเทศในอาเซียน

ทรัมป์ต้องการ Reverse Trend ให้การขาดดุลทางการค้าน้อยลงเรื่อย ๆ จนเหลือเป็น 0 และมุ่งมั่นให้งานด้านการผลิตกลับมาจากที่หายไปตั้งแต่การเข้าร่วมสนธิสัญญาความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA (North American Free Trade Agreement) ที่ทรัมป์มองว่าเป็นการเพิ่มความมั่งคั่งให้กับประเทศอื่นและทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลทางการค้ามายาวนานกว่า 30 ปี ไม่ว่าจะเป็นการย้ายฐานผลิตโรงงานรถยนต์ไปยังเม็กซิโก แคนาดา สหภาพยุโรป และที่สำคัญคือการขาดดุลการค้ากับจีนเพราะฉะนั้นนโยบายต่างๆ จึงต้องการบรรลุเป้าการลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจีน และลดการขาดดุลการค้า
สำหรับประเทศไทย นายบุรินทร์ มองว่า ประเทศไทยน่าจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการที่ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 10 ของโลก ดังนั้น กลยุทธ์ของไทยในการรับมือ คงต้องเปิดตลาดให้กับธุรกิจสหรัฐฯ มากขึ้น หรือเพิ่มการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพื่อลดการได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง เนื้อ รวมถึงอาวุธและเครื่องบินโบอิ้ง นอกจากนี้ หากผลกระทบจากสงครามการค้าขยายวงกว้าง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก จากที่คาดว่าจะลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้
สหรัฐฯ มีความต้องการที่จะดึงการผลิตกลับไปยังประเทศตัวเอง ส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้าในอุตสาหกรรมที่สหรัฐมีความสามารถในการผลิต โดยจะส่งผลกระทบกับไทยในกลุ่มโซล่าร์เซลล์, Power Adapter,Machinery, ส่วนประกอบรถยนต์ และ มือถือ เป็นต้น ส่วนประเภทสินค้าส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะไม่โดนผลกระทบเท่าไรนัก ได้แก่ ธุรกิจยางล้อ ที่เราเป็นประเทศต้นน้ำ สหรัฐฯ ผลิตเองไม่ได้ หรือสินค้าประเภท Jewelry ที่ไม่มีธุรกิจรองรับในประเทศ เป็นต้น
“นโยบายทรัมป์ 2.0 จะเน้นการสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร ให้กับสหรัฐฯ เป็นหลัก เราจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่สหรัฐฯ จะใช้ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของตนเองเป็นเครื่องมือต่อรอง ให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อย่างมากที่สุด ซึ่งอาจทำให้ GDP ของไทยหายไป 0.5% และการอ่อนค่าของค่าเงินบาท” นายบุรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น