ผังน้ำ “ลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง” ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ล่าสุด กนช. เสนอประกาศผังน้ำเพิ่มอีก 3 ลุ่มน้ำ สทนช. เดินหน้าเร่งรัดจัดทำผังน้ำให้แล้วเสร็จครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำหลัก ภายในปี 2568 ยอมรับที่ผ่านมาล่าช้าเพราะสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะการระบาดของโรคโควิด-19 และต้องการให้ผังน้ำมีความสมบูรณ์ครอบคลุมทุกมิติ ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำผังน้ำว่า ล่าสุด ประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรื่อง ผังน้ำลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง พ.ศ. 2568 และประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรื่อง ผังน้ำลุ่มชี พ.ศ. 2568 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ในขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 ที่มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธาน กนช. มีมติเห็นชอบประกาศผังน้ำเพิ่มเติม จำนวน 3 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ผังน้ำลุ่มน้ำสะแกกรัง ผังน้ำลุ่มน้ำวัง และผังน้ำลุ่มน้ำน่าน ก่อนที่จะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ทำให้ขณะนี้ สทนช. ได้จัดทำผังน้ำเสร็จไปแล้ว 5 ลุ่มน้ำ จากทั้งหมด 22 ลุ่มน้ำหลักทั่วประเทศ อีก 17 ลุ่มน้ำที่เหลือจะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 ตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 อย่างแน่นอน
พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กำหนดให้ สทนช. ดำเนินการจัดทำผังน้ำเสนอ กนช. ภายใน 2 ปี แต่ด้วยการจัดทำผังน้ำว่าด้วยกฎหมายทรัพยากรน้ำ เป็นการดำเนินการครั้งแรกของประเทศไทย จึงได้ศึกษาจัดทำแผนหลักการจัดทำผังน้ำ เพื่อกำหนดกรอบแนวทาง วิธีการจัดทำผังน้ำ รูปแบบมาตรฐานของแผนที่ผังน้ำ และรายการประกอบผัง แล้วเสร็จในปี 2563จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการศึกษาจัดทำผังน้ำระดับลุ่มน้ำ ทั้ง 22 ลุ่มหลัก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 จำนวน 8 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำแม่กลอง ได้วางเป้าหมายจัดทำผังน้ำระหว่างปีงบประมาณ 2563 - 2564 ในกลุ่มที่ 2 จำนวน 6 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ได้วางเป้าหมายจัดทำผังน้ำระหว่างปีงบประมาณ 2564-2565 และกลุ่มที่ 3 จำนวน 8 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ได้วางเป้าหมายจัดทำผังน้ำระหว่างปีงบประมาณ 2566 – 2567 ซึ่งเกินระยะเวลาตามที่ พ.ร.บ ทรัพยากรน้ำ กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี
ทั้งนี้ การจัดทำผังน้ำอาจจะล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ แม้ สทนช. ได้มีการติดตามเร่งรัดอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม แต่การศึกษาเพื่อจัดทำผังน้ำมีรายละเอียดการดำเนินงานค่อนข้างมากและมีความซับซ้อน ตั้งแต่การสำรวจและเก็บข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง การรวบรวมจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิต่างๆ ผลการศึกษาที่ผ่านมาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อเสนอแนะ กฎหมาย และมาตรการต่างๆ ในการนำผังน้ำเพื่อไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ
นอกจากนี้ยังรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสภาพทางกายภาพ การใช้ประโยชน์ที่ดิน สภาพเศรษฐกิจ สังคม ประชากร การตั้งถิ่นฐาน การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ความเสียหายจากอุทกภัยที่ผ่านมาของพื้นที่ลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำสาขา ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะทำการลงพื้นที่เพื่อสำรวจเก็บข้อมูลและจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เนื่องจาก สทนช. ต้องการให้ผังน้ำมีความสมบูรณ์แบบครอบคลุมทุกมิติ โดยได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่เกี่ยวข้อง ในทุกรูปแบบ ทั้งการจัดเวทีการมีส่วนร่วม การประชุมออนไลน์ การออกประกาศทั้งผ่านสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง วิทยุชุมชนและเสียงตามสายในท้องถิ่นนั้นๆ ตลอดจนติดประกาศตามสถานที่ราชการ และที่สำคัญขอบเขตผังน้ำแต่ละลุ่มน้ำที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น สทนช. ยังได้ดำเนินการตรวจสอบผลการวิเคราะห์ด้านน้ำท่วมจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น เพื่อยืนยันความถูกต้องและสมบูรณ์ของขอบเขตพื้นที่ทางน้ำหลากอีกด้วย
“การจัดทำผังน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำหลัก สทนช. ต้องการให้มีความสมบูรณ์ ครอบคลุมทุกมิติ ตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 แต่จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ช่วงปี 2563–2565 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดทำผังน้ำ ทำให้เกิดความล่าช้า การลงพื้นที่ศึกษารายละเอียด การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะการจัดทำในกลุ่มที่ 1 (จำนวน 8 ลุ่มน้ำ) และกลุ่มที่ 2 (จำนวน 6 ลุ่มน้ำ) แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคคลี่คลาย สทนช. จึงได้เร่งรัดการจัดทำผังน้ำเพื่อให้การดำเนินการใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ให้ได้มากที่สุด” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า การจัดทำผังน้ำ เป็นการกำหนดเส้นทางการไหลของน้ำ ทั้งในฤดูแล้งและฤดูน้ำหลาก ครอบคลุมแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง กุด ป่าบุ่ง ป่าทาม พื้นที่ชุ่มน้ำ แก้มลิง คันกั้นน้ำ ตลิ่ง แหล่งกักเก็บน้ำ เป็นต้น ทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย แผนแม่บท และแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะนำไปเชื่อมโยงกับผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำในภาพรวมของประเทศให้เกิดการประสานสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบต่อไป
นอกจากนี้ ผังน้ำที่ สทนช. จัดทำขึ้น จะช่วยสนับสนุนแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำ ช่วยรักษาคุณภาพน้ำ เพราะจะไม่เกิดการรุกล้ำทางน้ำ รวมทั้งยังช่วยตัดสินใจในการสร้างที่อยู่อาศัย โรงงาน นิคมอุตสาหกรรมว่าอยู่ในพื้นที่น้ำหลากหรือไม่ หรือตั้งอยู่ในพื้นที่กีดขวางทางระบายน้ำหรือไม่ รวมถึงควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในขอบเขตพื้นที่ตามระบบทางน้ำที่ได้กำหนดแนวเขตไว้ โดยผังน้ำจะกำหนดขอบเขตชัดเจนว่า บริเวณใดเป็นพื้นที่สงวนไว้ให้ทางน้ำโดยเฉพาะ โดยไม่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
“อย่างไรก็ตามการจัดทำผังน้ำในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามผลการศึกษาแผนหลักการจัดทำผังน้ำ ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการในระดับลุ่มน้ำตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564 โดยยังไม่ครอบคลุมในระดับลุ่มน้ำย่อยและลำน้ำย่อยซึ่ง สทนช. จะต้องดำเนินการประเมินผลการประกาศใช้ผังน้ำ ประกอบการจัดทำผังน้ำในระดับลุ่มน้ำย่อย และลำน้ำย่อยเพื่อปรับปรุงผังน้ำตามกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำและครอบคลุมทุกลำน้ำในลุ่มน้ำย่อยต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าวเสริมในตอนท้าย
ข่าวเด่น