.jpg)
สทนช. เปิดเวที 4 ภาค รับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษาการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ปี 2567 มุ่งพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการน้ำตามบริบทภูมิสังคมของพื้นที่ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2568) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษาการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ปี 2567 ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้เข้าประชุมประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 4 ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งประกอบด้วย 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก
(34).jpg)
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มีภารกิจหลักในการกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ กลั่นกรองแผนงานและโครงการด้านทรัพยากรน้ำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ การกำกับ ติดตาม ประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการและการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรน้ำบนหลักธรรมาภิบาล ซึ่งการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวดำเนินการผ่านกลไกขององค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3 ระดับ ประกอบด้วย 1. องค์กรผู้ใช้น้ำ 2. คณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำ และ 3.คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมี สทนช.ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเลขานุการ กนช.และคณะกรรมการลุ่มน้ำ
.jpg)
เนื่องจากคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำ เป็นกลไกหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ อีกทั้ง มาตรา 23 (8) แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กำหนดให้ สทนช. มีหน้าที่ในการติดตาม ประเมินผล และเสนอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรน้ำ และรายงานต่อ กนช. ดังนั้น สทนช. จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยดำเนินการภายใต้แนวคิดและหลักการทางวิชาการ ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อให้ได้ผลการประเมินที่ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ ผลที่ได้จากการประเมินจะทำให้เห็นถึงช่องว่าง และปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้บางภารกิจยังไม่สามารถดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้ นอกจากนั้นยังเป็นการค้นหาจุดเด่นหรือวิธีการที่มีประสิทธิภาพของคณะกรรมการลุ่มน้ำที่พบว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดี (best practice) ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบให้กับลุ่มน้ำอื่น ๆ ได้ และนำไปสู่การปรับปรุงการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ให้มีประสิทธิภาพตามหน้าที่และอำนาจ และมีแนวทางในการพัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามบริบทภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งนำไปสู่การเสริมศักยภาพการดำเนินงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติรายภาคในฐานะฝ่ายเลขานุการด้วย
.jpg)
อย่างไรก็ตาม สทนช.กำหนดเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่จากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ 4 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค เพื่อนำเสนอผลการศึกษา และรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมที่ครอบคลุมทั่วทุกลุ่มน้ำทั่วประเทศ ไปใช้พัฒนารายงานผลการศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป โดยก่อนหน้านี้ได้จัดมาแล้ว 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 พื้นที่ภาคกลาง จัดขึ้นที่กรุงเทพ มหานคร ในพื้นที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 2 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 ครั้งที่ 2 พื้นที่ภาคเหนือ จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 1 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 และครั้งที่ 3 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ในพื้นที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 3 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 โดยผลการศึกษาที่เสร็จสมบูรณ์จะได้นำเสนอต่อ กนช. เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย
อนึ่งผู้สนใจสามารถติดตามผลการศึกษาการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานคณะกรรมการลุ่มน้ำ ปี 2567 ทางออนไลน์ได้ที่ https://shorturl.asia/7N1Oj และสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ https://shorturl.asia/sx1N8 หรือ Scan QR Code ตั้งแต่วันนี้ ถึง 20 กุมภาพันธ์ 2568
ข่าวเด่น