เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop : ปัญหาสิ่งแวดล้อม ค่าฝุ่นพุ่ง ภารกิจสำคัญของภาคธุรกิจไทยที่ต้อง


นอกจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในยุคของ ทรัมป์ 2.0 แล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกยังทวีความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อมนุษย์ รวมถึงภาคธุรกิจอย่างยิ่งยวดในหลากหลายมิติ โดยในนามของภาคธุรกิจเอง ก็มีบทบาทสำคัญที่จำเป็นต้องเข้าไปแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง หากอยากให้ธุรกิจของตนยังคงดำรงอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
 
วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ภัยพิบัติที่รุนแรง รวมถึงค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน สร้างผล กระทบอย่างชัดเจนต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนทั่วโลกต่างตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ที่ไล่มาตั้งแต่การเริ่มจากในระดับบุคคล การรณรงค์ด้วย Movement ต่าง ๆ ในสังคม ไปจนถึงความคาดหวังที่สูงขึ้นในการรับผิดชอบสิ่งแวดล้อมของภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การเรียกร้องให้ลดการใช้แพคเกจจิ้งแบบพลาสติก การปรับเปลี่ยนสายการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การลดการปล่อยของเสีย และการดำเนินการเชิงรุกต่างๆ ที่สร้างผลลัพธ์ทางบวกแก่สิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากแรงกดดันของฝั่งผู้บริโภคและสังคมที่ย้ำเตือนถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจแล้ว การผันตัวให้องค์กรตัวเอง Go Green หรือการมีเป้าหมายที่จะดูแลรักษาโลก และส่งเสริมความยั่งยืนโดยนำมาปรับใช้ตลอดกระบวนการดำเนินงาน ก็ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจในแง่ของทั้งการประหยัดต้นทุน เช่น การลดต้นทุนจาก Carbon footprint เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่รวดเร็ว ให้ผลลัพธ์เชิงบวกมากขึ้น รวมถึงยกระดับภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ ที่ทำให้เกิดผลกำไรที่มากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการดึงดูดฐานตลาดใหญ่ (อ้างอิงจากจากผลสำรวจ SCB EIC Consumer Survey พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่กว่า 96% ให้ความสนใจและต้องการสนับสนุนสินค้าหรือแบรนด์ที่มีความยั่งยืน)
 
ทั้งนี้ การ Go Green ของภาคธุรกิจยังมีผลดีต่อการเติมเงินทุน เพราะหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงทางฝั่งประเทศไทย ได้มีเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 ซึ่งด้วยภาคการรณรงค์ทางสิ่งแวดล้อมในภาพใหญ่นี้เอง ทำให้เกิด Ecosystem ที่มีการผลิตเครื่องมือออกมาช่วยเหลือให้สังคมทุกภาคส่วน ดำเนินการไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วย โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจ ที่มีการพัฒนารูปแบบเศรษฐกิจให้รักษาสิ่งแวดล้อมและเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ Green Economy ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การสนับสนุนเงินทุนให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ของภาคธนาคาร ทั้งในรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) หรือกองทุนสีเขียว (Green Funding) เป็นต้น
 
โดยการสนับสนุนของภาคธนาคาร จะตอบโจทย์กับธุรกิจตรงที่การจะปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานให้มีความ Go Green แม้จะสร้างผลลัพธ์ในการลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไร แต่การปรับเปลี่ยนไปสู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งการมี Climate Finance เกิดขึ้น จะช่วยส่งเสริมการเติบโตให้กับธุรกิจขนาดเล็กให้เติบโตขึ้น รวมถึงยังได้ภาพลักษณ์ที่ดี ซึ่งเป็นมิตรกับแนวคิดหลักของสังคม ที่ท้ายที่สุดแล้วจะทำให้ธุรกิจสามารถยืนอยู่ได้อย่างยั่งยืน

เฉกเช่นเดียวกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ที่มีบทบาทอย่างแข็งขันในการสนับสนุน Climate Finance ของไทย โดย ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า EXIM BANK จะเดินหน้าต่อยอดความเชี่ยวชาญในฐานะ Green Development Bank เป็นผู้นำผู้ประกอบการไทยสยายปีกสู่ธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนภาคธุรกิจของไทยให้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ส่งผลให้ Portfolio ที่สนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนแตะระดับ 40% ของ Portfolio ทั้งหมด และมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2570

ทั้งนี้ ในปี 2568 EXIM BANK จะมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจไทยผ่านความเชี่ยวชาญและพันธมิตรสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Bank) โดยจะเร่งขยายฐานลูกค้าผ่านบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งด้านการสนับสนุนการส่งออกและการลงทุน เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานส่งออกสีเขียว (Green Export Supply Chain) โดยให้สิทธิประโยชน์และดอกเบี้ยพิเศษแก่ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG บริการใหม่ของ EXIM BANK อาทิ บริการค้ำประกันหุ้นกู้ให้แก่ลูกค้าที่ต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ แต่ยังมี Credit Rating ที่ไม่สูงพอที่จะทำให้ผู้ลงทุนสนใจและเชื่อมั่นที่จะลงทุนได้ โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน เพื่อทำให้ Credit Rating ของหุ้นกู้อยู่ในระดับเทียบเท่ากับของ EXIM BANK คือ AAA (กรณีค้ำประกัน 100%) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนมากยิ่งขึ้น มีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อยู่ในระดับต่ำ ผู้ออกหุ้นกู้มี Cost Saving เมื่อเทียบกับการออกหุ้นกู้ด้วย Credit Rating ของตนเอง ซึ่งช่วยให้สามารถออกหุ้นกู้ได้อายุยาวขึ้นและจำนวนที่มากขึ้น รวมถึงสามารถมีฐานผู้ลงทุนเป็นกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันได้ นอกจากนี้ EXIM BANK ยังเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้หรือตราสารทุน รวมถึงการเข้าซื้อกิจการการควบรวมกิจการ (M&A) เป็นต้น ปัจจุบัน EXIM BANK ได้รับความเห็นชอบเป็นที่ปรึกษาทางการเงินจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2567 เป็นต้นมา ในอนาคต EXIM BANK จะให้บริการจัดจำหน่ายหุ้นกู้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ ซึ่งถือเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบวงจร ช่วยให้ลูกค้ามีทางเลือกในการระดมทุนและจัดหาเงินทุนได้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน EXIM BANK กำลังอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (จัดจำหน่ายตราสารหนี้) 

โดยทาง Climate Policy Initiative ได้ประเมินว่า ความต้องการเม็ดเงินสีเขียว (Climate Finance) ของโลก ปี 2566 อยู่ที่ราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี แม้ว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 6 ปีที่ผ่านมา แต่ยังต่ำกว่าความต้องการที่ประเมินว่าสูงถึงราว 7.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปีในช่วงปี 2567-2573 เท่ากับว่าโลกยังต้องการ Climate Finance เพิ่มขึ้นอีกราว 5 เท่า ดังนั้นจึงสามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวออกมาอีกเรื่อย ๆ และภาคธุรกิจที่อยากอยู่รอด อย่างไรเสียก็ต้องมีภารกิจสำคัญที่ต้อง Go Green อย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยหากเริ่มได้เร็ว สามารถแก้ไขปัญหาเชิงรุกที่ทำให้ความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็จะเป็นแต้มต่อที่เราจะสามารถเข้าไปครองใจผู้บริโภคอย่างเหนียวแน่นมากขึ้นเท่านั้น

LastUpdate 16/02/2568 21:51:26 โดย : Admin
23-02-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ February 23, 2025, 4:27 am