
เศรษฐกิจไทยในปี 2568 กำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีการประเมินจาก ทั้งกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3% ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่ทำสถิติสูงสุดถึง 10 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 5.4% ในปี 2567 และคาดว่าจะโตอีก 2-3% ในปี 2568 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7% ต่อปี จากการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ทางด้านยอดการขออนุมัติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในรูปแบบ Foreign Direct Investment (FDI) ทะลุกว่า 1.14 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี โดยมีโครงการอุตสาหกรรมใหม่อย่าง PCB (Printed Circuit Board) ที่กำลังทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก
โดย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงภาคการลงทุนของไทยในงาน Thailand’s SMEs and Startups for a Prosperous Thailand ว่า ประเทศไทยกำลังกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะในด้าน PCB ที่ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนด้าน Semiconductor, AI, Data Center และ Cloud Region ซึ่งจะผลักดันให้เกิดความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย โดยปีที่แล้วมีการลงทุนกว่า 6-7 พันล้านเหรียญสหรัฐในอุตสาหกรรมนี้
และประเทศไทยเราที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งทางสหรัฐและจีน ความเป็นกลางของสงครามทางการค้าในยุคทรัมป์ 2.0 ไทยจะมีส่วนได้รับผลประโยชน์ คือ ไทยจะมีโอกาสส่งออกของไทยทดแทนสินค้าจีน โดยเฉพาะอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และนักลงทุนจำนวนมากกำลังย้ายฐานการผลิตจากจีนมาที่ไทย จากประเด็นการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในกลุ่ม สมาร์ทโฟน, โทรทัศน์, รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุปกรณ์ดิจิทัลอื่น ๆ ทำให้ไทยมีโอกาสเป็นผู้ผลิต PCB รายใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสส่งออกสินค้า ที่กำลังเป็นที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก ทั้งหมวดสินค้าเกษตรและอาหาร ที่ไทยยังเป็นผู้นำในการส่งออกอาหารบรรจุภัณฑ์ อาทิ ทูน่ากระป๋อง ไก่แช่แข็ง เนื้อไก่แปรรูป ส่วนน้ำตาลทรายที่ตอนนี้ไทยกำลังเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และ หมวดสินค้า Lifestyle เช่น เครื่องสำอาง อาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงยังมีการบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) เป็นข้อตกลง FTA ฉบับแรกระหว่างไทยกับประเทศในยุโรป (สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) ซึ่งจะทำให้เป็นโอกาสในการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจไทย
แต่ปัญหาของเศรษฐกิจไทย คือ ธุรกิจรายใหญ่ในประเทศผูกขาดตลาด ทำให้ SME และสตาร์ทอัพเติบโตได้อย่างจำกัด ทั้ง ๆ ที่ธุรกิจรายเล็กเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคประเทศไทย และเป็นแหล่งจ้างงานกว่า 70% จากจำนวนการจ้างงานภาคธุรกิจทั้งหมด 18.07 ล้านคน
ฉะนั้น แท้จริงแล้ว SME และสตาร์ทอัพ ถือเป็นแหล่งการจ้างงานหลัก และมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ทำให้ทางกระทรวงพาณิชย์ มีการออกนโยบายสำคัญ คือ การลดการผูกขาดทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งออกสินค้า ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้นที่สามารถส่งออกได้ง่าย และหันมาให้การสนับสนุน SME และสตาร์ทอัพ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยจะมีการสลายทุนผูกขาด ปรับลดข้อจำกัดด้านสต๊อกและค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตส่งออก เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยแข่งขันได้มากขึ้น สนับสนุนด้วยเงินทุนและนวัตกรรม โดยมีการร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีศักยภาพขยายตลาดและยกระดับคุณภาพสินค้า รวมถึงการสร้างตราสัญลักษณ์ "Thailand Brand" รับรองคุณภาพสินค้าจากผู้ประกอบการ SME และสตาร์ทอัพที่ได้รับมาตรฐาน โดยจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าไทยในตลาดโลก
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้าข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) จะยิ่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงมีส่วนที่สามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน (จากผลบวกของการส่งเสริมการจ้างงานในธุรกิจรายย่อย) ซึ่งเมื่อรวมกับแผนขับเคลื่อนอื่น ๆ ของกระทรวงพาณิชย์ เช่น การขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยบางส่วน ก็จะช่วยเร่งให้ SME และสตาร์ทอัพ ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก่อนหน้านี้ และเคลื่อนตัวได้เร็วทัดเทียมกับโอกาสที่กำลังมาถึง
ข่าวเด่น