เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.สรุปภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 4 ปี 67 มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ เงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่อง อยู่ในระดับสูง


นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 4 ปี 2567 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากระยะเดียวกันปีก่อนลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 2.0 โดยขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัวลดลง ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและรายได้กลุ่มเปราะบางที่ฟื้นตัวช้า ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อ NPL  ไตรมาส 4 ปี 2567 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 552.1 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.78 โดยหลักจากสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งลูกหนี้บางส่วนสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ปรับชั้นดีขึ้นมาอยู่ที่ Stage 2  ประกอบกับมีการจัดชั้นเชิงคุณภาพของสินเชื่อธุรกิจ ส่งผลให้สินเชื่อ stage 2 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.98 สำหรับผลการดำเนินงาน ปี 2567 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน จากทั้งรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยตามการวัดมูลค่าตราสารทางการเงินเป็นสำคัญ และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองลดลงจากการตั้งสำรองสูงในปีก่อน

 
 
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวช้าและมีภาระหนี้สูง รวมถึงธุรกิจในกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันปรับลดลง ตลอดจนติดตามผลสำเร็จของการให้ความช่วยเหลือภายใต้โครงการคุณสู้เราช่วย โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 3 ปี 2567 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ปรับลดลงตามการหดตัวของสินเชื่อและตราสารหนี้ ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะภาคการผลิต แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว 
 
 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ก.พ. 2568 เวลา : 16:19:23
20-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2025, 1:41 am