(30).jpg)
รองนายกฯ ประเสริฐ จันทรรวงทอง นั่งหัวโต๊ะประชุม กนช. มอบหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง 67/68 ต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำช่วงปลายฤดูแล้ง พร้อมเห็นชอบ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 กำชับวางแผนรองรับฤดูฝนที่อาจจะมาถึงเร็วขึ้นในปีนี้ ย้ำเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัย ช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด
(35).jpg)
วันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2568) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2568 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ปัจจุบันแม้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูแล้งมาเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว แต่ยังเหลือระยะเวลาอีก 2 เดือนที่เป็นช่วงปลายฤดูแล้ง คือช่วงเดือนมีนาคม - เมษายนที่จะถึงนี้ ซึ่งยังเป็นช่วงที่ต้องติดตามสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือกับประชาชนอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยในวันนี้ได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 และได้มอบหมายให้กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และจังหวัด ประชาสัมพันธ์แผนการจัดสรรปริมาณน้ำให้เกษตรกรทราบ เพื่อให้สามารถวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังและการเกษตรอื่น ๆ ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้ให้หน่วยงานเร่งสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานที่เกิดแล้งซ้ำซาก และหาทางแก้ไขปัญหาล่วงหน้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงเตรียมเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำไว้ให้พร้อมสำหรับช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างทันท่วงที รวมทั้งให้ติดตามและเฝ้าระวังปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำด้วย และยังได้มอบหมายกรมประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชน ภาคเอกชน และภาคราชการ ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า

สำหรับการเตรียมวางแผนรับมือฤดูฝนซึ่งในปีนี้อาจจะมาถึงเร็วขึ้นนั้น ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำมาตรการเตรียมรองรับทั้งก่อน ระหว่าง จนถึงสิ้นสุดฤดูฝน เพื่อให้มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา โดยที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2568 และส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2568/2569 และให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนในแต่ละมาตรการ พร้อมทั้งติดตามและรายงานผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของกลไกการแจ้งเตือนอุทกภัย ซึ่ง สทนช. ได้ถอดบทเรียนจากการดำเนินงานในช่วงฤดูฝนปี 2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคประชาชน ที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยตามที่ สทนช. เสนอ พร้อมทั้งให้ซักซ้อมความเข้าใจในกระบวนการการแจ้งเตือนกับประชาชนในพื้นที่ที่เกิดปัญหาอุทกภัยอยู่เป็นประจำ โดยไม่ต้องรอให้ถึงฤดูฝน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือช่วยลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด
.jpg)
ด้าน เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กนช. ในวันนี้ ยังได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จำนวน 55,003 รายการ โดยให้ สทนช. นำแผนปฏิบัติการที่ปรับปรุงแล้วดังกล่าว เสนอ ครม. เพื่อพิจารณาในการจัดทำงบประมาณประจำปี ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และได้มีมติเห็นชอบผังน้ำเพิ่มเติมอีก จำนวน 7 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำเพชรบุรี – ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำต่อไป อีกทั้งได้เห็นชอบการขอขยายระยะเวลาและขยายกรอบวงเงินโครงการ โครงการปรับปรุงคลองยม - น่าน จังหวัดสุโขทัย จากเดิม 5 ปี เป็น 8 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2570) และขยายกรอบวงเงินงบประมาณจากเดิม 2,875 ล้านบาท เป็น 3,069 ล้านบาท รวมถึงรับทราบการขอขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี จากเดิม 15 ปี เป็น 18 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 - 2570) โดยให้ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และกำชับให้กรมชลประทานเร่งดำเนินงานทั้ง 2 โครงการ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยรายงานความก้าวหน้าให้ กนช. ทราบทุก 6 เดือน
ข่าวเด่น