เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กนง. ลดดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดัน ส่งออก ม.ค. ฟื้นตัวชั่วคราว


คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ถูกกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันจากสินค้าต่างประเทศ กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าควรลดดอกเบี้ยเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่กรรมการ 1 ท่านเห็นควรคงดอกเบี้ยเพื่อรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต

กนง. ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมาย แต่ไม่มีสัญญาณนำไปสู่ภาวะเงินฝืดหรือภาวะที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะการเงินยังตึงตัว แม้การขยายตัวและคุณภาพของสินเชื่อในภาพรวมเริ่มมีสัญญาณทรงตัว แต่สินเชื่อ SMEs โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างยังหดตัวต่อเนื่อง และสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งจากครัวเรือนที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้สูง

เรามองว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการยอมโอนอ่อนผ่อนตามหลังจากที่ ธปท. คาดการณ์เศรษฐกิจดีกว่าที่ควรจะเป็น โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้อย่างมีนัยสำคัญ (จาก 2.9% เป็นประมาณ 2.5%)

นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ยังเป็นผลมาจากแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากหลายฝ่าย ทั้งรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคเอกชนที่เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่อง และข้อเสนอแนะจาก IMF ที่มองว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยอาจเข้มงวดเกินไป

อย่างไรก็ตาม เรามองว่าการลดดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวจะไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงจากนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ

เรามองว่า ความเสี่ยงหลักของการส่งออกไทยคือมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ที่อาจจะประกาศใช้ในเดือนเมษายน 2568 ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวกว่า 0.5% และการส่งออกไทยปี 2568 อาจหดตัวกว่าคาดการณ์เดิมที่ 1.0% แม้ว่าตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคม 2568 จะขยายตัวสูงถึง 13.6% แต่ส่วนใหญ่เป็นผลจากปัจจัยพิเศษที่ไม่ยั่งยืน

เราจึงมองว่า ธปท. จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการประชุมเดือนตุลาคม เมื่อข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังยืนยันแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์ 
หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. InnovestX บริษัทการเงินการลงทุนในกลุ่ม SCBX
piyasak.manason@scb.co.th
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ก.พ. 2568 เวลา : 12:17:42
19-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2025, 5:17 pm