การค้า-อุตสาหกรรม
ปี 2568 การลงทุนของต่างชาติในไทยส่งสัญญาณบวก เบิกฤกษ์!! ต้นปี....มกราคม 68 ต่างชาติลงทุน 23,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากมกราคม 67 ถึง 223% (15,990 ล้านบาท) ญี่ปุ่นลงทุนอันดับหนึ่ง 8,880 ล้านบาท จีน 3,925 ล้านบาท และเยอรมนีติด TOP 3 ลงทุน 3,048 ล้านบาท


  

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เปิดเผยว่า เดือนมกราคม 2568 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 103 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 21 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 82 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 23,160 ล้านบาท โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 7 อันดับแรกของเดือนมกราคม 2568 ได้แก่

 
1. ญี่ปุ่น 21 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 8,880 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

- ธุรกิจบริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การเปลี่ยนและทำการเชื่อมต่อท่อส่งใต้ทะเลระหว่างแท่นหลุมผลิตในโครงการขุดเจาะน้ำมัน

- ธุรกิจบริการตรวจสอบและสอบเทียบอุปกรณ์การตรวจจับการรั่วไหลของแก๊ส

- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ได้แก่ แม่พิมพ์ ไส้กรองน้ำมัน ชิ้นส่วนนาฬิกาข้อมือ

2. สหรัฐอเมริกา 14 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 971 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ได้แก่ อุปกรณ์โทรคมนาคม เครื่องแต่งกาย ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับการดูแลและรักษาความปลอดภัยทางระบบคอมพิวเตอร์

- ธุรกิจบริการสนับสนุนข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิต ได้แก่ สิ่งปรุงแต่งอาหาร โลหะผสมสำหรับผลิตเครื่องประดับ

3. จีน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 3,925 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

- ธุรกิจบริการอาคารโรงงานพร้อมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก

- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการอุตสาหกรรม ลูกกลิ้งพิมพ์ลายหรืออัดลาย สารสกัดจากเศษวัตถุดิบที่เหลือจากการแปรรูปสัตว์

4. สิงคโปร์ 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 2,178 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

- ธุรกิจบริการติดตั้ง บำรุงรักษา ซ่อมแซม และการปรับ (Calibration) เกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องกล

- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตภาพยนตร์ ละคร แอนิเมชัน และรายการบันเทิง

- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะ

5. ฮ่องกง 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,251 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การติดตั้งและบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ การให้คำปรึกษาทางเทคนิคในการแก้ไขปัญหาเครื่องจักรระหว่างการใช้งาน เป็นต้น

- ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย

- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ได้แก่ กระดาษลูกฟูก อะไหล่และส่วนประกอบรถยนต์ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม

6. ไต้หวัน 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 681 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

- ธุรกิจบริการออกแบบ ก่อสร้าง และติดตั้งโครงสร้างเหล็กของอาคารคลังสินค้า

- ธุรกิจบริการออกแบบระบบสถาปัตยกรรมทางด้านดิจิทัล (Digital Architecture Design Service) เช่น ระบบด่านเก็บค่าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบจัดการที่จอดรถ เป็นต้น

- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ได้แก่ สายไฟฟ้า ชุดสายไฟสำหรับรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม

7. เยอรมนี 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 3,048 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

- ธุรกิจบริการวิจัยและพัฒนาเครื่องปั๊มความร้อน (Heat pump)

- ธุรกิจบริการทำการตลาดและส่งเสริมการขายสิ่งทอเทคนิค

- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ได้แก่ เครื่องทำน้ำอุ่น Fatty Alcohol Ethoxylate

ถือได้ว่าการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้น มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยและการประเมินความเสี่ยงในโรงงานอุตสาหกรรม องค์ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการติดตั้งทางวิศวกรรมเกี่ยวกับระบบบำบัดและรีไซเคิลน้ำเสีย องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการท่าเทียบเรือและความปลอดภัยการขนถ่ายสินค้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของระบบเชื่อมต่อรถยนต์ผ่านเน็ตเวิร์ค เป็นต้น

เปรียบเทียบเดือนมกราคม 2567 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 49 ราย (91%) (เดือน ม.ค.68 อนุญาต 103 ราย / เดือน ม.ค.67 อนุญาต 54 ราย) และมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 15,990 ล้านบาท (223%) (เดือน ม.ค.68 ลงทุน 23,160 ล้านบาท / เดือน ม.ค.67 ลงทุน 7,170 ล้านบาท) รวมถึงมีการจ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเพิ่มขึ้น 55 ราย (32%) (เดือน ม.ค.68 จ้างงาน 227 คน / เดือน ม.ค.67 จ้างงาน 172 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน

อธิบดีอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม 2568 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 29 ราย คิดเป็นร้อยละ 28 ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2567 จำนวน 12 ราย (71%) (เดือน ม.ค.68 ลงทุน 29 ราย / เดือน ม.ค.67 ลงทุน 17 ราย) มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 12,329 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53 ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศ * ญี่ปุ่น 11 ราย ลงทุน 5,574 ล้านบาท * จีน 6 ราย ลงทุน 1,775 ล้านบาท * สิงคโปร์ 3 ราย ลงทุน 1,610 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 9 ราย ลงทุน 3,370 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ

- ธุรกิจค้าปลีกแม่พิมพ์โลหะและจิ๊ก (JIG) สำหรับใช้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า

- ธุรกิจบริการตรวจสอบและสอบเทียบอุปกรณ์การตรวจจับการรั่วไหลของแก๊ส

- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น แม่พิมพ์และชิ้นส่วนแม่พิมพ์ ชิ้นส่วนเหล็กขึ้นรูป อะไหล่ และส่วนประกอบรถยนต์ เป็นต้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2547 4443 อีเมล์ : foreign@dbd.go.th สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th

#SuperDBD #กรมพัฒนาธุรกิจการค้า #กระทรวงพาณิชย์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ก.พ. 2568 เวลา : 13:30:23
04-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 4, 2025, 10:19 pm