
ชาเขียว หรือ มัทฉะ เครื่องดื่มสุดฮิตในกลุ่มคนรักสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่ชอบดูแลตัวเอง (Self Love) ซึ่งมีภาพจำในโลกออนไลน์ที่มักจะถ่ายรูปเครื่องดื่มมัทฉะคู่ใจ พร้อมกับการออกกำลังกาย การออกไปพักผ่อนที่คาเฟ่ หรือในกิจกรรมอื่น ๆ ที่ดูเป็นไลฟ์สไตล์ของคนสุขภาพดี จนมัทฉะได้กลายเป็นกระแสนิยมที่ทำเอาแหล่งผลิตต้นทางในญี่ปุ่นมีไม่พอขาย จนเกิดสภาวะมัทฉะขาดตลาดทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยก็หากินได้ยากในช่วงต้นปี 2025 ที่ผ่านมานี้
เป็นที่ทราบกันดีว่าหลังการเกิดไวรัสโควิด-19 ระบาดเมื่อปี 2020 New Normal ของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไปในหลายแง่มุม โดยเฉพาะเรื่องของการใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยรายงานที่อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์สุขภาพของไทยปี 2023 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 1 พันล้านบาท ขณะที่กองด่าน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยว่า ในปีเดียวกัน ประเทศไทยได้นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพกว่า 4 แสนล้านบาท จำนวนรายการเพิ่มจากปีที่แล้วราว 13% นอกจากนี้ ทางเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ยังกล่าวว่า เมกะ เทรนด์ ในปี 2025 เรื่อง Health ,Wellness และ Well- being จะเป็นเรื่องที่มีความโดดเด่นอย่างยิ่ง สอดคล้องกับทางสถาบันด้านสุขภาพสากล (Global Wellness Institute: GWI) คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดสินค้าและบริการด้านสุขภาพมีแนวโน้มขยายตัวสูง 8.6% ต่อปีจนถึงปี 2027 คิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 8.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 306 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปี 2020 ที่อยู่ในช่วงวิกฤตโควิด-19
นอกจากนี้ ปัจจัยที่บ่งบอกถึงเทรนด์สุขภาพที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยังสะท้อนให้เห็นจากการที่ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ช่วงสังคมผู้สูงอายุ และวัดได้จาก Medical Inflation หรือ เงินเฟ้อทางการแพทย์ ที่เพิ่มสูงขึ้น 8-10% ต่อปี ซึ่งเป็นที่มาจากทั้งธุรกิจการดูแลสุขภาพที่มีการขยายตัวมากขึ้น สอดรับกับสังคมที่ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพตนเอง และจากการพัฒนาและนวัตกรรมการรักษาที่ก้าวหน้ามากขึ้นที่ทำให้ต้นทุนการรักษาสูงขึ้นไปอีก แต่ด้วยเหตุนี้เองที่ผู้คนสามารถตรวจสอบสุขภาพตนเองได้มากกว่าเมื่อก่อน เรื่องของ Health Conscious ที่จะลงทุนกับการดูแลสุขภาพตนเองก็มีเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกินที่เป็นเรื่องใกล้ตัวมากที่สุด ก็มีการเลือกบริโภคของที่มีคุณภาพดีแม้จะมีราคาที่แพงกว่า ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีตลาดที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงเครื่องดื่มที่เป็นกระแสนิยม อย่าง มัทฉะ ที่ทาง The Business Research รายงานว่า เครื่องดื่มดังกล่าวมีการเติบโตในอัตราทบต้นที่ 10.93% ต่อปี และคาดว่าจะทำรายได้สูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2028
โดยสาเหตุที่มัทฉะเป็นที่นิยมทั่วโลก เริ่มต้นจากถิ่นกำเนิดอย่างประเทศญี่ปุ่น ที่มีความเลื่องลือเกี่ยวกับทั้งการใช้ชีวิตที่มีความละเอียดอ่อน และสุขภาพดีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ผลิตภัณฑ์และอาหารจากประเทศนี้มีภาพลักษณ์ที่เรียกได้ว่าดีที่สุดในแถบเอเชีย และได้รับความนิยมจากต่างชาติมาเป็นเวลายาวนาน รวมถึงมัทฉะ เครื่องดื่มประจำชาติที่ดีต่อสุขภาพด้วยสารพัดประโยชน์ และรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ แต่ความโด่งดังจนเป็นกระแสที่ทำให้ของขาดตลาดทั่วโลกนั้น ได้แรงเสริมหลักมาจากโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ TikTok และ Instragram ที่อินฟลูเอ็นเซอร์สายสุขภาพรวมถึงด้านความสวยความงาม มีการนำเสนอเครื่องดื่มมัทฉะเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนไปทำงาน ตอนออกกำลังกาย ไปจนถึงการพักผ่อนสบาย ๆ โดยเผยให้เห็นถึงผลทางด้านสุขภาพทั้งทางกาย และเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก เช่น คนที่สวย มีรูปร่างที่ดี รักตัวเอง มักนิยมสั่งมัทฉะในร้านคาเฟ่ หรือ ชงดื่มเองที่บ้าน ซึ่ง User ของโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ที่อยู่ใน Gen Z มักจะได้รับอิทธิพลจากอินฟลูเอ็นเซอร์เป็นอันดับ 1 และมีความสนใจในการดูแลรูปร่างหน้าตาของตัวเองอยู่แล้ว (จากพฤติกรรมที่อยู่ในโลกออนไลน์และมักเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เองเสียส่วนใหญ่) รวมถึงยังเป็นวัยที่กล้าใช้จ่ายกล้าใช้ชีวิต ดังนั้นเครื่องดื่มมัทฉะ จึงเป็นตัวสะท้อนได้อย่างดีในการเป็น Iconic ของไลฟ์สไตล์การรักสุขภาพในยุคปัจจุบันที่แพร่หลายไปทั่วโลก
โดยในระดับราคาของมัทฉะของแบรนด์ใหญ่ในประเทศไทย จะตกอยู่ที่แก้วละประมาณ 50 - 185 บาท เป็นระดับราคาที่แพงแต่กลับยอมจ่าย เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อหัวในสังคมไทย สอดคล้องกับข้อมูลของทาง GWI ที่เผยว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมสุขภาพนั้น คาดการณ์อัตราการเติบโตอยู่ที่ 7.3% สูงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP ทั่วโลกที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.8% อย่างมาก (ช่วงปี 2023-2028) และจากความต้องการที่มากกว่าปริมาณการผลิตของมัทฉะนี้ ก็อาจจะส่งผลให้ต้นทุนของมัทฉะยิ่งพุ่งสูงขึ้นไปอีกในอนาคต
ข่าวเด่น