การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การส่งเสริมการใช้น้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ เพื่อฟื้นฟูสวนยางพาราที่เป็นโรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletotrichum Saimese (ใบร่วงชนิดใหม่) ประจำปี 2568” โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบน้ำหมักปลาหมอคางดำ กว่า 500 ลิตร ถึงมือพี่น้องชาวสวนยาง จ.ตราด พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงฯ และรับฟังข้อคิดเห็นของเกษตรกรในพื้นที่ โดยมี คณะผู้บริหาร กยท. นำโดย ดร.เพิก เลิศวังพง (ประธานกรรมการ กยท.)และ นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านบริหาร เข้าร่วมกิจกรรม

นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านบริหาร กล่าวว่า กยท. ได้ให้ความสำคัญ และกำหนดแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องและช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร ลดการแพร่ระบาดและลดความรุนแรงของโรคใบร่วง ให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถยืนอยู่ได้กับอาชีพการทำสวนยาง โดย กยท. ได้มุ่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคฯ แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง การจัดหาสารเคมีที่ทดสอบแล้วมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเชื้อ การบำรุงรักษาต้นยางและการลดเชื้อในสวนยาง ผ่านโครงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตปุ๋ย ชีวภัณฑ์ รวมไปถึงการพัฒนาพันธุ์ยางต้านทานโรคฯ โดย กยท. ได้เริ่มบูรณการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและเกษตรกร ทดสอบและจัดหาปุ๋ย ชีวภัณฑ์ และสารอื่นๆ เพื่อให้ได้แนวทางการแก้ปัญหาการระบาดของโรคฯ ได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ การดำเนินโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการฯเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกรสามารถสำรวจต้นยางและประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดโรคระบาดในสวนยางพาราของตนเอง ตลอดจนเกษตรกรมีความรู้ที่จะป้องกันและแก้ปัญหาลดความรุนแรงจากโรคใบร่วงได้


นายโกศล กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ กยท. ได้สนับสนุนการใช้น้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ มอบแก่พี่น้องเกษตรกร จำนวน 500 ลิตร ซึ่งน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำถือเป็นปัจจัยในการบำรุงพืชที่มีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากอุดมไปด้วยธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของต้นยางได้ เหมาะกับการนำไปใช้ในสวนยางและพืชผลทางการเกษตรชนิดอื่นๆเช่น ทุเรียน ลำไย เป็นต้น นอกจากเกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนน้ำหมักแล้ว ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้น้ำหมักฯ อย่างถูกต้อง รวมถึงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหารือแนวทางแก้ไขปัญหาอื่นๆในสวนยางกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรง อันจะเป็นประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวนยางสามารถนำไปปรับใช้และถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรรายอื่นด้วย

“การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้น้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ เพื่อฟื้นฟูสวนยางพาราที่เป็นโรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletotrichum Siamese (ใบร่วงชนิดใหม่) ถือเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ควบคู่ไปกับการกำจัดและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่เป็นศัตรูต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย” รองผู้ว่าการด้านบริหาร กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น