การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
"สวนดุสิตโพล" สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง "ปัญหาเร่งด่วนของ คนไทย ณ วันนี้"


“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ปัญหาเร่งด่วนของ คนไทย ณ วันนี้” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,264 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 11-14 มีนาคม 2568 สรุปผลได้ ดังนี้

1. “5 ปัญหาเร่งด่วน” ณ วันนี้ ที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลแก้ไขมากที่สุด

อันดับ 1 ค่าครองชีพ/ราคาสินค้า 72.55%

อันดับ 2 รายได้/หนี้สิน 69.09%

อันดับ 3 การเมือง 65.28%

อันดับ 4 กระบวนการยุติธรรม 64.58%

อันดับ 5 ปัญหาภาคการเกษตร 62.30%

2. ประชาชนคิดว่ารัฐบาลจะแก้ไข “ปัญหาเร่งด่วน” ได้สำเร็จหรือไม่

อันดับ ปัญหาเร่งด่วน ไม่น่าจะสำเร็จ น่าจะสำเร็จ

1 ค่าครองชีพ/ราคาสินค้า 68.80% 31.20%
 
 
2 รายได้/หนี้สิน 74.33% 25.67%

3 การเมือง 72.18% 27.82%

4 กระบวนการยุติธรรม 71.61% 28.39%

5 ปัญหาภาคการเกษตร 76.30% 23.70%

3. ปัญหาที่พบในช่วงรัฐบาลแพทองธาร เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ประชาชนคิดว่าเป็นอย่างไรบ้าง

อันดับ 1 ปัญหายังมีเหมือนเดิม ยังไม่เห็นการแก้ไขที่ชัดเจน เช่น ทุจริตคอร์รัปชัน การเมือง 43.75%

อันดับ 2 หลายปัญหาแย่ลง กระทบต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น ค่าครองชีพ หนี้สิน 29.19%

อันดับ 3 หลายปัญหามีแนวโน้มดีขึ้น เช่น กระตุ้นการท่องเที่ยว ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 27.06%

4. ประชาชนคิดว่ามาตรการแจกเงิน 10,000 บาท ในกลุ่มวัยรุ่นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้มากน้อยเพียงใด

อันดับ 1 พอจะช่วยได้บ้าง อาจกระตุ้นในช่วงสั้น ๆ แต่ไม่ส่งผลระยะยาว 34.18%

อันดับ 2 ช่วยได้เล็กน้อย วัยรุ่นอาจใช้เงินกับสินค้าและบริการเฉพาะกลุ่ม 28.80%

อันดับ 3 ไม่ช่วยเลย ไม่ได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง เพิ่มภาระงบประมาณของรัฐ 23.65%

อันดับ 4 ช่วยได้มาก เพราะการใช้จ่ายของวัยรุ่นก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม 13.37%

* หมายเหตุ ข้อ 1 ผู้ตอบสามารถระบุความคิดเห็นได้มากกว่า 1 เรื่อง (ค่าร้อยละจึงคำนวณในแต่ละข้อ)

สรุปวิเคราะห์ผลโพล : ปัญหาเร่งด่วนของคนไทย ณ วันนี้

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ปัญหาเร่งด่วนของคนไทย ณ วันนี้” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,264 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 11 - 14 มีนาคม 2568 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่าปัญหาเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขมากที่สุด คือ ปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้า ร้อยละ 72.55แต่ก็ไม่คิดว่าจะแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ ร้อยละ 68.80 ปัญหาที่พบในช่วงรัฐบาลแพทองธาร เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ มองว่าปัญหายังมีเหมือนเดิม ยังไม่เห็นการแก้ไขที่ชัดเจน เช่น ทุจริตคอร์รัปชัน การเมือง ร้อยละ 43.75 ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท ในกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.18 มองว่าพอจะช่วยได้บ้าง อาจกระตุ้นในช่วงสั้น ๆ แต่ไม่ส่งผลระยะยาว

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลโพลสะท้อนชัดว่า “ปัญหาปากท้อง” ยังคงเป็นความกังวลหลักของประชาชน แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลแต่หลายปัญหายังคงเดิมโดยยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ทั้งปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน ปัญหาการเมือง หรือค่าครองชีพที่พุ่งไม่หยุด ด้านมาตรการแจกเงินหมื่นก็ยังถกเถียงกันถึงเรื่องประสิทธิภาพ เมื่อรวมทุกปัจจัยเข้าด้วยกันประชาชนจึงรู้สึกว่า “รัฐบาลก็ใหม่..แต่ทำไมยังไม่แตกต่าง?”

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โทร 086-3766533

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิริมา บุญมาเลิศ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า จากผลโพลสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ประชาชนคาดหวังให้รัฐบาลแก้ไขให้ดีขึ้น แต่เสียงของประชาชนกลับสะท้อนออกมาว่า รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องปากท้องให้ดีขึ้นได้ แม้ว่ารัฐบาลได้ผลักดันนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาแล้วก็ตาม แต่ประชาชนยังมองว่า การแก้ปัญหายังไม่ตรงจุด เพราะตัวเลขจีดีพีที่รัฐบาลแถลงออกมาว่าขยับตัวดีขึ้นและจะโตมากขึ้นไปอีก กลับสวนทางกับ สภาพเศรษฐกิจที่หดตัวและซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ประชาชนมองว่านโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ช่วยแก้ปัญหา ปากท้องได้เพียงเล็กน้อยระยะสั้น แต่ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญเร่งด่วน อาทิ ค่าครองชีพ ราคาสินค้า และหนี้สิน ได้ในระยะยาว เมื่อนำผลงานของรัฐบาลปัจจุบันไปเปรียบเทียบกับรัฐบาลชุดที่แล้ว จึงทำให้ประชาชนมองว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ดีกว่า ซ้ำร้ายปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันยังมีมากกว่ารัฐบาลชุดก่อนที่ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศมากขึ้น ไปอีก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิริมา บุญมาเลิศ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 มี.ค. 2568 เวลา : 20:16:19
06-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 6, 2025, 11:20 pm