
อธิบดีอรมน นำคณะผู้บริหารพบปะผู้ประกอบการชุมชน จ.สระบุรี และ จ.นครราชสีมา 3 กลุ่มธุรกิจ : ESG, Wellness และ ร้านอาหาร Thai SELECT เก็บรายละเอียด..นำมาจัดทำแผนพัฒนาผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับบริบทการค้าปัจจุบันและอนาคต ช่วยขยายตลาด ขจัดอุปสรรคทางการค้า อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ ส่งเสริมให้นำนวัตกรรมมาใช้เป็นเครื่องมือเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจและประชากรในชุมชน หลังลงพื้นที่กล่าวชื่นชมภาคธุรกิจในจังหวัดมีความแข็งแกร่ง แสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือของคนในพื้นที่ที่พร้อมเชิญชวนให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุน เนื่องจากมีความพร้อมทั้งศักยภาพของผู้คนในชุมชน แหล่งทรัพยากรในพื้นที่ที่สมบูรณ์ ภาคีเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็ง สิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ภารกิจสำคัญของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) คือ การลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการทุกกลุ่ม เพื่อเข้าถึงความต้องการของภาคธุรกิจแต่ละพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ส่งผลถึงรูปแบบและแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอย่างตรงจุด ช่วยขยายช่องทางการตลาดให้หลากหลาย ขจัดปัญหาอุปสรรคทางการค้า อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ รวมทั้ง สร้างความสมดุลธุรกิจผ่านการจ้างงานคนในพื้นที่ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เกิดการหมุนเวียน สร้างความเข้มแข็งธุรกิจท้องถิ่นระยะยาว

โดยระหว่างวันที่ 21 - 23 มีนาคม 2568 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่ จ.สระบุรี และ จ.นครราชสีมา พบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการ 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจ ESG ธุรกิจ Wellness และ ธุรกิจร้านอาหาร Thai SELECT เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมสร้างความยั่งยืนแก่ภาคธุรกิจ รับฟังปัญหา/อุปสรรค ข้อเสนอแนะด้านต่างๆ รวมทั้ง ความต้องการได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐ สาเหตุที่เลือก 3 กลุ่มธุรกิจข้างต้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่อยู่ในการส่งเสริมสนับสนุนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นธุรกิจเป้าหมายที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสามารถจ้างงานคนในท้องถิ่นเพื่อเข้ามาทำงานในธุรกิจได้ ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์ของการลงพื้นที่ อีกทั้ง เป็นธุรกิจที่ศักยภาพสูงสามารถพัฒนาให้เป็นหน่วยเศรษฐกิจหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจแรกที่ตรวจเยี่ยม คือ วิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์ Silk COCOON Group อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี เป็นธุรกิจ ESG จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันมีนายกิติศักดิ์ ขจรภัย รองประธานวิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์ เป็นผู้นำ ทั้งนี้ วิสาหกิจฯ อยู่ใกล้กับศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สระบุรี จึงได้นำรังไหมมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และกลุ่มวิสาหกิจฯ มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบนพื้นที่ 5 ไร่ ในพื้นที่ อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี เลี้ยงสายพันธุ์เหลืองไพโรจน์สระบุรี ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 30 วัน ต่อ 1 รุ่น ปัจจุบัน ใช้แรงงานคนในพื้นที่ตำบลตลาดน้อย 30 คน (ผู้สูงอายุ แม่บ้าน นักเรียนนักศึกษาที่ต้องการหารายได้) โดยเริ่มต้นศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สระบุรี มาสอนทำพวงกุญแจรังไหม และดอกทิวลิปรังไหม

ต่อมากระทรวงพาณิชย์ ได้ลงพื้นที่นำนักออกแบบมาทำการสอนเย็บรังไหมด้วยมือ และออกแบบเป็นของใช้ ของตกแต่ง และเครื่องประดับ โดยนำรังไหมมาผ่าครึ่งขึ้นรูปเป็นโคมไฟรังไหมที่มีความสวยงาม ซึ่งสามารถจำหน่ายได้ในราคาชิ้นละ 10,000 บาท เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น และกระทรวงพาณิชย์ได้คัดเลือกโดยนำสินค้าไปทดสอบตลาดที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 ครั้ง และนำสินค้าไปจัดแสดงในงานเอเปค ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทำให้สามารถขยายสินค้าไปตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ส่วนตลาดในประเทศ ได้นำสินค้าไปจัดแสดง ณ เมืองทองธานี ภายในงานโอทอป ปัจจุบันกลุ่มฯ มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น สบู่รังไหม โลชั่นรังไหม ครีมทามือรังไหม โดยสบู่รังไหมส่งออกประเทศกัมพูชา และมีการแปรรูป โคมไฟรังไหม กระเป๋ารังไหม ปัจจุบันส่งโคมไฟรังไหม ส่งออกไปที่ประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ผ่านผู้ส่งออกต่างประเทศ




สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ คือ 1) ขยายช่องทางการตลาดในประเทศ เช่น สนามบิน ร้านขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว องค์กรที่จัดประชุม และใช้ของที่ระลึกในการแจกลูกค้า 2) ขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ ที่นำสินค้าไปขายในประเทศ และต่างประเทศ 3) ช่องทางการตลาดในต่างประเทศ พาออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ หรือ เจรจาจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าต่างประเทศ เพื่อขยายช่องทางการตลาดและจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศ


ธุรกิจที่ 2 ธุรกิจ Wellness โดยได้พบปะพูดคุยกับ นางสาวชวนัสถ์ สินธุเขียว ประธานสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย และเจ้าของ TUSCAN Senses Spa ตั้งอยู่ภายใน Toscana Valley เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา พบว่า ธุรกิจสปาแอน์เวลเนสของไทยมีการปรับตัวเป็นอย่างมากหลังสถานการณ์การเผยแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเน้นตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคมากขึ้น และเน้นการสร้างประสบการณ์ใหม่ตามเทรนด์การดูแลสุขภาพและสังคมผู้สูงอายุ ชูจดขายด้าน Healthcare & Wellness ที่กำลังเติบโตและได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ทั้งนี้ TUSCAN Senses Spa กำลังพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นศูนย์กลาง Wellness ที่ให้บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวม เช่น สปา อาหารออแกนิกส์ ดนตรีบำบัด ฟิตเนส โยคะ คลินิกความงามและการชะลอวัย (Anti-Aging) ที่มีการแพทย์และสิ่งอำนวยความสะดวก ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ TUSCAN Senses Spa และบริษัทในเครือยังมีส่วนช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชน โดยการจ้างงานคนในพื้นที่ และอุดหนุนผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาลทั้ง สมุนไพร พืชผัก ผลไม้ ฯลฯ มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบที่เกี่ยวข้อองกับบริการสปาและร้านอาหาร รวมทั้งใส่ใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจ Wellness โดย Global Wellness Institute ได้คาดการณ์มูลค่าธุรกิจ Wellness ของโลกปี 2568 อยู่ที่ 251 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 เฉลี่ยร้อยละ 7.5% ต่อปี สาขาที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ ดูแลสุขภาพ-ความงาม ร้อยละ 20 โภชนาการ-ลดน้ำหนัก ร้อยละ 17 ออกกำลังกาย ร้อยละ 16.9 ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ร้อยละ 15.9
ขณะที่ธุรกิจ Wellness ของไทย ปี 2567 มีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่าปี 2570 จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร CEO World Magazine ให้เป็นจุดหมายอันดับหนึ่งของโลกด้านการพักผ่อนเพื่อสุขภาพ เป็นโอกาสที่ช่วยผลักดันธุรกิจ Wellness ของไทยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยไทยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.08 ซึ่งตลาดโลกโตประมาณร้อยละ 10.2 มีมูลค่ารวมทั้งหมด 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับข้อมูลจาก Booking.com เว็บไซต์จองเครื่องบินและที่พัก พบว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยมีจุดมุ่งหมายในการดูแลตัวเองและฟื้นฟูร่างกายมากขึ้นเพื่อผ่อนคลายรักษาสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจ

เฉพาะจังหวัดนครราชสีมา เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายที่สำคัญสำหรับธุรกิจ Wellness โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 14,895 ล้านบาท ในปี 2566 ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีสถานประกอบการผ่านการรับรองมาตรฐานศูนย์เวลเนสจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 26 แห่ง ได้แก่ ประเภทที่พักนักท่องเที่ยว 3 แห่ง ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 5 แห่ง ร้านนวดเพื่อสุขภาพ 5 แห่ง สปาเพื่อสุขภาพ 3 แห่ง และสถานพยาบาล 10 แห่ง ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวชาวไทย


จากสถิตินิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธุรกิจ Wellness กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 มีนิติบุคคลธุรกิจ Wellness ครอบคลุมสาขาบริการสปาและนวดเพื่อสุขภาพ ความงาม บริการทางการแพทย์ บริการดูแลผู้สูงอายุ และค้าส่ง-ค้าปลีกเภสัชภัณฑ์ทางการแพทย์ ทั่วประเทศ 28,807 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 362,195.26 ล้านบาท รายได้รวมปี 2566 จำนวน 1,135,827.76 ล้านบาท โดยเป็นนิติบุคคลใน จ.นครราชสีมา ดำเนินกิจการอยู่ 369 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1,907.32 ล้านบาท และปี 2566 ธุรกิจฯ มีรายได้รวม 6,409 ล้านบาท ประกอบกับนโยบายการพัฒนาเป็นระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ด้วยการพัฒนาศูนย์เวลเนสและแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวกับภูมิปัญญาสมุนไพรไทย จังหวัดนครราชสีมาจึงเป็นอีกพื้นที่ศักยภาพที่จะผลักดันสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวสุขภาพที่สร้างมูลค่าเพิ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนได้อย่างยั่งยืน


ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้บูรณาการความร่วมมือกับสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทยมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภารกิจร่วมกันที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจสปาและเวลเนสของไทยมีศักยภาพได้มาตรฐานและมีโอกาสเติบโตต่อไป เช่น ปี 2566 กรมฯ ได้จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาให้มีนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าจาก Smart Local ของกรมฯ และ Innovative house ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มานำเสนอผลิตภัณฑ์กับสมาชิกของสมาพันธ์สมาคมสปา 20 สมาคมทั่วประเทศ ช่วยส่งเสริมและสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์เชิญชวนสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรม DBD WELLNESS 2024-2025 นอกจากนี้ สมาพันธ์ฯ ยังได้มีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยการลงพื้นที่ให้ความรู้กับเกษตรกร ผู้ปลูกสมุนไพร เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างมูลค่าเพิ่ม และการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ให้การส่งเสริมธุรกิจสปาและสุขภาพ การสนับสนุนร้านสปาเข้าประกวดต่างๆ การร่วมออกบูธในงานแสดงสินค้า
ธุรกิจที่ 3 ธุรกิจร้านอาหาร Thai SELECT ร้านเป็นลาว
ร้านอาหาร ‘เป็นลาว เขาใหญ่’ เป็นร้านอาหารอีสานชื่อดังที่ตั้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของเขาใหญ่ จุดเด่นของร้าน คือ รสชาติอาหารที่จัดจ้านแบบอีสานแท้ๆ พร้อมวัตถุดิบสดใหม่ เมนูยอดนิยม ได้แก่ ส้มตำปูปลาร้าไก่ย่างสูตรพิเศษ และลาบหมู นอกจากนี้ การตกแต่งร้านจะเป็นสไตล์บ้านไม้แบบเรียบง่าย รับกับบรรยากาศการรับประทานอาหารแบบบ้าน ๆ ได้เป็นอย่างดี
นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ก่อตั้ง เชฟแห่งความสุข และ บริษัท ออน เดอะ พลาโต จำกัด ดำเนินธุรกิจร้านเป็นลาว เขาใหญ่ หัวหิน และ พระราม 2 รวมถึง ร้าน ‘อันหยังก็ได้ บาย เป็นลาว’ ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ปัจจุบันร้านเป็นลาวมีทั้งหมด 3 สาขา โดย 2 สาขา คือ สาขาเขาใหญ่และหัวหินได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2566 ขณะที่สาขาพระราม 2 อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมสมัครเพื่อขอรับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT
ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ไม่เพียงแต่เป็นการการันตีคุณภาพมาตรฐานของร้านอาหารไทยที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ทั้งด้านรสชาติไทยแท้ และการบริการที่ได้มาตรฐาน ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจในการขยายตลาดและเพิ่มยอดขาย นอกจากนี้ ร้านอาหารยังได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐในการส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาด เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่และยังสามารถใช้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ในสื่อโฆษณาของร้าน เพื่อเพิ่มความโดดเด่นและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารของประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุน
จากการเติบโตของภาคท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยคาดว่าปี 2568 มีอัตราการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารไทยโตขึ้น 5% สะท้อนถึงความต้องการบริโภคอาหารไทยที่ยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพมาแรง อาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพร อาหารฟิวชั่น ผลิตภัณฑ์จากพืช (Plant-Based) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน อิ่มท้องแล้ว ต้องสุขภาพดีด้วย แต่อย่างไรก็ตามร้านอาหารยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน การแข่งขันที่รุนแรง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น อยากให้หน่วยงานภาครัฐเพิ่มนโยบายการสนับสนุนผู้ประกอบการร้านอาหาร และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ และเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมการใช้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการยกระดับมาตรฐานร้านอาหารไทย และช่วยให้ธุรกิจร้านอาหารไทยสามารถแข่งขันในตลาดได้
อย่างแข็งแกร่ง
โอกาสนี้ ได้มอบป้ายตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ให้แก่ร้านเป็นลาว เขาใหญ่ เพื่อสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ร้านอาหารให้ผู้ที่เดินทางผ่านบริเวณร้านอาหารได้เห็นและเข้ามาใช้บริการ
ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 มีนิติบุคคลในธุรกิจร้านอาหารทั่วประเทศดำเนินกิจการอยู่ 24,285 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 136,378.80 ล้านบาท ปี 2566 ธุรกิจฯ มีรายได้รวม 313,672.75 ล้านบาท โดยเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ใน จ.นครราชสีมา 282 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 593.86 ล้านบาท ปี 2566 ธุรกิจฯ มีรายได้รวม 1,281.65 ล้านบาท และ จ.สระบุรี มีนิติบุคคลธุรกิจร้านอาหารดำเนินกิจการอยู่ 65 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 82.48 ล้านบาท ปี 2566 ธุรกิจฯ มีรายได้รวม 210.08 ล้านบาท
หลังจากที่ได้รับฟัง พูดคุยถึงรายละเอียด ปัญหา-อุปสรรคของผู้ประกอบการ รวมทั้ง ความต้องการได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐของทั้ง 3 ธุรกิจแล้ว กรมฯ จะเร่งสรุปปัญหา-อุปสรรค ความต้องการของภาคธุรกิจ พร้อมจัดทำแผนพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจแต่ละพื้นที่อย่างครบวงจร โดยเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ พร้อมทั้งจะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำนวัตกรรมมาใช้เป็นเครื่องมือเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจและประชากรในชุมชน ซึ่งผลจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ยิ่งมีความเชื่อมั่นว่า ‘ธุรกิจท้องถิ่น’ เป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญในพื้นที่ และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง
ทั้งนี้ ขอชื่นชมภาคธุรกิจในจังหวัดที่มีการประกอบธุรกิจด้วยความแข็งแกร่ง โดยสิ่งที่สัมผัสได้จากผู้ประกอบการในพื้นที่ คือ พลังความร่วมมือของคนในพื้นที่ที่ต้องการให้จ.สระบุรี และ จ.นครราชสีมา มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ทั้ง 2 จังหวัดเติบโตอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568) มีนิติบุคคลที่ยังดำเนินการอยู่ใน 2 จังหวัด (สระบุรีและนครราชสีมา) จำนวนรวมทั้งสิ้น 24,017 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 296,349.46 ล้านบาท แบ่งเป็น
จ.สระบุรี มีนิติบุคคลคงอยู่ 7,490 ราย ทุนจดทะเบียน 101,042.97 ล้านบาท ประเภทธุรกิจ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ก่อสร้างทั่วไป 732 ราย ทุน 1,810.87 ล้านบาท 2) การขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร 387 ราย ทุน 638.77 ล้านบาท 3) การขนส่งสินค้าอื่นๆ ทางถนนซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น 243 ราย ทุน 835.88 ล้านบาท 4) อสังหาริมทรัพย์ 235 ราย ทุน 3,590.47 ล้านบาท 5) การติดตั้งไฟฟ้า 187 ราย ทุน 387.50 ล้านบาท
จ.นครราชสีมา มีนิติบุคคลคงอยู่ 16,527 ราย ทุนจดทะเบียน 195,306.49 ล้านบาท ประเภทธุรกิจ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ก่อสร้างทั่วไป 2,318 ราย ทุน 51,739.41 ล้านบาท 2) อสังหาริมทรัพย์ 754 ราย ทุน 28,948.95 ล้านบาท 3) การขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร 414 ราย ทุน 5,872.36 ล้านบาท 4) ร้านขายปลีกวัสดุก่อสร้างอื่นๆ 372 ราย ทุน 1,218.22 ล้านบาท 5) การขายปลีกสินค้าอื่นๆ ในร้านค้าทั่วไป 294 ราย ทุน 1,204.32 ล้านบาท
เฉพาะเขตเขาใหญ่ 11 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.สระบุรี (อ.แก่งคอย อ.มวกเหล็ก) จ.นครราชสีมา (อ.ปากช่อง อ.วังน้ำเขียว) จ.ปราจีนบุรี (อ.นาดี อ.กบินทร์บุรี อ.ประจันตคาม อ.เมืองปราจีนบุรี) จ.นครนายก (อ.ปากพลี อ.บ้านนา อ.เมืองนครนายก) มีนิติบุคคลคงอยู่ 7,493 ราย ทุนจดทะเบียน 167,247.68 ล้านบาท ประเภทธุรกิจ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ก่อสร้างทั่วไป 1,002 ราย ทุน 43,137.27 ล้านบาท 2) อสังหาริมทรัพย์ 315 ราย ทุน 22,650.75 ล้านบาท 3) โรงแรม รีสอร์ท และห้องชุด 231 ราย ทุน 6,873.35 ล้านบาท 4) การขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร 230 ราย ทุน 5,442.30 ล้านบาท 5) การบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร 186 ราย ทุน 446.80 ล้านบาท
ข่าวเด่น