เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC วิเคราะห์ "Green electronics...เส้นทางสู่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคสายกรีน"


ผลพวงจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ส่งผลให้อุปกรณ์ไอที มีแนวโน้มกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) เร็วกว่ากลุ่มสินค้ากลุ่มอื่น ๆ 

ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ได้กลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่ส่งผลให้วงจรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีอายุสั้นลง โดยจากข้อมูลของ The Global E-waste Monitor เปิดเผยว่า ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก ณ ปี 2022 อยู่ที่ 62 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ 82 ล้านตัน ในปี 2030 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 2.6 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้หากกลับมาดูที่ไทย จะพบว่าไทยก็กำลังเผชิญกับปัญหา E-waste ล้นเมืองเช่นกัน สะท้อนได้จากรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษที่ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีปริมาณ E-waste เพิ่มขึ้นราว 17% ต่อปี ในช่วงปี 2011-2022 มาอยู่ที่ 439,495 ตัน ในปี 2022 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการปรับเปลี่ยนสินค้าเทคโนโลยี โดยเฉพาะในกลุ่มอุปกรณ์ไอทีที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนค่อนข้างเร็ว สอดคล้องกับข้อมูลจากผลสำรวจของ SCB EIC ในหัวข้อ “การบริโภคอย่างยั่งยืน” พบว่า อุปกรณ์ไอที อย่างเช่น สมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็น E-waste เร็วกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากผู้บริโภคชาวไทยราว 30% นิยมเปลี่ยนอุปกรณ์ไอที ใหม่ทุก 1-5 ปี 
 
ปัจจุบันผู้บริโภคไทยเริ่มสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและ E-waste มากขึ้น แต่บางส่วนยังมีปัญหาในการบริหารจัดการ E-waste ให้เหมาะสม 
ผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมและ E-waste มากขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนได้จากข้อมูลผลสำรวจ Euroconsumers ที่ระบุว่า มากกว่า 90% ของผู้ตอบแบบสำรวจในกลุ่มประเทศ EU ตระหนักว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่ขยะทั่วไป โดยราวเกือบครึ่งตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการรีไซเคิล E-waste อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญคือ การบริหารจัดการที่ถูกต้อง โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจน้อยกว่าครึ่งที่สามารถแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกวิธี  เช่นเดียวกับไทย จากผลสำรวจของ SCB EIC พบว่า มากกว่า 88% ของผู้ตอบแบบสำรวจ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มขึ้นของปริมาณ E-waste โดย 30% ตอบว่ามีการนำไปทิ้งที่จุดรับทิ้ง E-waste  อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคบางส่วนยังมีปัญหาในการจัดการกับ E-waste โดยพบว่า ราว 20% ของผู้ตอบแบบสำรวจยังคงมีพฤติกรรมเป็นนักสะสมขยะอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากแทบจะไม่เคยทิ้งหรือทิ้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์น้อยมาก 
 
จากปัญหา E-waste ส่งผลให้ผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียวมากขึ้นสอดคล้องกับเทรนด์โลก แต่ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณหากสินค้ามีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไป
ปัญหามลพิษและปริมาณ E-waste ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์สีเขียวมากขึ้นขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็หันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียวมากขึ้น สะท้อนได้จากข้อมูลของ Future Market Insights ที่ระบุว่า มูลค่าตลาดของการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจาก 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 เป็น 1.77 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2033 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 26.14% ต่อปี (ระหว่างปี 2023-2033) ขณะที่แนวโน้มความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวในไทยมีแนวโน้มเติบโตเช่นเดียวกับทิศทางเทรนด์โลก โดยจากผลสำรวจฯ ของ SCB EIC พบว่า กลุ่มผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่มีความสนใจสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวและยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคมากกว่าครึ่งยินดีจ่ายเงินเพิ่มแต่ไม่เกิน 5% ขณะเดียวกัน ยังคงมีผู้บริโภคบางส่วนที่ไม่สนใจสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและมองว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป นอกจากนี้ ผู้บริโภคราว 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจเริ่มมองว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เช่น การประหยัดพลังงาน การรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
 
แรงกดดันด้าน ESG เป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มุ่งไปสู่การพัฒนาสินค้าสีเขียวเร็วขึ้น
ผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคสะท้อนว่า แรงกดดันด้าน ESG คือความท้าทายสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะต้องมีการปรับกลยุทธ์และพัฒนาการผลิตไปสู่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคสายกรีนมากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปของกลุ่มผู้เล่นรายใหญ่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังซัพพลายเออร์ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ผลิตภัณฑ์หรือวัสดุที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตผ่านการรับรองตามมาตรฐานจากบริษัทคู่ค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน โดยปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้มีความตื่นตัวกับปัญหา E-waste มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับวางขายใน EU จะต้องผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ EU กำหนด สำหรับไทย ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเสนอร่าง พ.ร.บ. กากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนของรัฐสภาและมีการบังคับใช้ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของไทยที่นำไปสู่การบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจัง มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการ E-waste และการพัฒนาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวของไทยยังมีความท้าทายอีกมาก ซึ่งมาตรการภาครัฐจะมีส่วนผลักดันที่สำคัญ 
แม้ภาครัฐจะอยู่ระหว่างการเสนอกฎหมายในด้าน E-waste ออกมา แต่ในแง่ของการปฏิบัติ ยังคงมีความท้าทายอีกมากเนื่องจากการจัดการ E-waste ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน อีกทั้ง ยังต้องการทรัพยากรทั้งในด้านเงินทุนและบุคลากร ซึ่งในปัจจุบัน จะพบว่าการจัดสรรพื้นที่หรือจุดรับทิ้ง E-waste ตามชุมชนยังมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ แม้ผู้บริโภคไทยจะเริ่มตื่นตัวกับปัญหา E-waste มากขึ้น แต่ยังคงขาดองค์ความรู้ในการทิ้งหรือคัดแยก E-waste ออกจากขยะทั่วไปอยู่ อีกทั้ง การบังคับใช้กฎหมายอาจยังไม่มีความเข้มงวดเพียงพอ ซึ่งส่งผลให้ปัญหา E-waste ยังคงเป็นภัยร้ายต่อไทยอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด ทั้งนี้จากผลสำรวจของ SCB EIC ได้รวบรวมข้อคิดเห็นและความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้ 1) ส่งเสริมการจัดให้มีจุด “รับคืน” หรือ “รับซื้อ”ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2) จัดให้มีจุด “รับทิ้ง” ขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบแยกประเภท 3) ส่งเสริมโครงการอุดหนุนการซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว 4) สิทธิพิเศษทางภาษีจากการซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวสำหรับภาคธุรกิจ เช่น อุปกรณ์สำนักงานที่ประหยัดพลังงานหรือที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ 5) โครงการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะและข้อมูลผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียว 6) ออกกฎระเบียบข้อบังคับเรื่องการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจัง 7) ส่งเสริม/ดึงดูดการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว รวมไปถึงออกกฎหมายควบคุมและขึ้นภาษีสำหรับกลุ่มที่ไม่เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว และ 8) การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับโครงการการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว 

แกะรอยขยะอิเล็กทรอนิกส์…มุมมืดของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี 
 
ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สินค้าในกลุ่มอุปกรณ์ไอทีและการสื่อสาร มีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์เร็วกว่ากลุ่มอื่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันในวงกว้าง ท่ามกลางความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งการอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน การติดต่อสื่อสาร ไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ ซึ่งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังกล่าว ได้กลายเป็นตัวเร่งให้วงจรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สั้นลง ขณะที่ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง สะท้อนได้จากข้อมูลของ The Global E-waste Monitor เปิดเผยว่า ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก ณ ปี 2022 อยู่ที่ 62 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องไปอยู่ที่ 82 ล้านตัน ในปี 2030 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 2.6 ล้านตันต่อปี ในขณะที่มีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียง 22.3% เท่านั้นที่ถูกนำมากลับมารีไซเคิลใหม่ (รูปที่ 1) โดยเฉพาะกลุ่มอุปกรณ์ให้แสงสว่าง เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ที่มีโอกาสจะนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้น้อยกว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่น ๆ เนื่องจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์มีส่วนประกอบของสารปรอทที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ควรทิ้งรวมกับขยะทั่วไป อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันหลอดไฟ LED  เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้และไม่มีสารที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเทรนด์ความนิยมดังกล่าวจะมีส่วนช่วยเพิ่มสัดส่วนของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ให้เพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะต่อไป

รูปที่ 1 : ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์โลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากวัฏจักรเทคโนโลยีที่สั้นลง ขณะที่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) เพียงแค่ 22.3% ที่ถูกนำมากลับมารีไซเคิลใหม่
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ The Global E-waste Monitor และ UNITAR

ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนไทยประเภทไหนที่เป็นต้นเหตุของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นเมือง? 

ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันกับเทรนด์โลก สะท้อนได้จากรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษที่ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีปริมาณ E-waste เพิ่มขึ้นจาก 374,140 ตัน ในปี 2011 มาอยู่ที่ 439,495 ตัน ในปี 2022 หรือเพิ่มสูงขึ้นราว 17% และยังพบอีกว่ามี E-waste เพียงแค่ 20% ของปริมาณทั้งหมดเท่านั้น ที่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ทั้งนี้หากวิเคราะห์ถึง E-waste ประเภทต่าง ๆ จะพบว่า สินค้าในกลุ่มอุปกรณ์ไอทีและการสื่อสาร อย่างเช่น สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ เป็นกลุ่มซึ่งมีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์เร็วกว่าสินค้ากลุ่มอื่น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่เป็นแรงกดดันให้วงจรผลิตภัณฑ์มีอายุที่สั้นลงเรื่อย ๆ สะท้อนได้จากข้อมูลผลสำรวจพฤติกรรมการใช้งานผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้บริโภคชาวไทยจากข้อมูลของ SCB EIC Consumer survey ภายใต้หัวข้อ “การบริโภคอย่างยั่งยืน”  ซึ่งได้มีการแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ตามประเภทและขนาดของสินค้า  โดยพบว่า ผู้บริโภคชาวไทยราว 30%นิยมเปลี่ยนอุปกรณ์ไอทีและการสื่อสารเครื่องใหม่ทุก 3-5 ปี และอีกราว 5% มีการเปลี่ยนเครื่องใหม่ทุก 1-3 ปี ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือน อุปกรณ์ให้แสงสว่างและแบตเตอรี่ เป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคไม่นิยมเปลี่ยนบ่อย แต่มักจะใช้งานไปจนกว่าสินค้าจะชำรุดเสียหายจึงจะเปลี่ยนใหม่ โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มีสัดส่วนมากถึง 70% ของผู้ตอบแบบสำรวจข้อนี้ทั้งหมด (รูปที่ 2)

รูปที่ 2 : ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยกลุ่มอุปกรณ์ไอทีมีแนวโน้มกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์เร็วกว่ากลุ่มอื่นจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่เป็นแรงกดดัน

 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ และจากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey “การบริโภคอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม – 20 มิถุนายน 2024 

นอกจากนี้ จากผลสำรวจยังพบอีกว่า ราว 1 ใน 3 ของผู้บริโภครู้วิธีการบริหารจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคนิยมขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คืนให้กับบริษัทหรือนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิ วัด หรือคนรู้จัก อย่างไรก็ดี ยังมีผู้บริโภคอีกราว 20% ที่ยังคงมีพฤติกรรมเป็นนักสะสมขยะอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากแทบจะไม่เคยทิ้งหรือทิ้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์ไอทีและการสื่อสาร ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลในเรื่องความปลอดภัยและกลัวการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดความกังวลใจดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีผู้บริโภคอีกราว 5% ที่ไม่ตระหนักหรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง โดยยังคงทิ้งผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะกลุ่มอุปกรณ์ให้แสงสว่างและแบตเตอรี่รวมกับขยะทั่วไปอยู่ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวลเนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการรั่วไหลของสารเคมีอันตรายโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งหากไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมอาจก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดอันตรายต่อสุขภาพในอนาคตได้ (รูปที่ 3)

รูปที่ 3 : 1 ใน 3 ของผู้บริโภคชาวไทยรู้วิธีการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ราว 20% 
ยังมีพฤติกรรมเป็นนักสะสมขยะ และขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์
ในครัวเรือน
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey “การบริโภคอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม – 20 มิถุนายน 2024 

พลังผู้บริโภคสายกรีน...จุดเปลี่ยนอนาคตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 

ผู้บริโภคชาวไทยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น สะท้อนได้จากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey ภายใต้หัวข้อ “การบริโภคอย่างยั่งยืน” ที่ระบุว่า ผู้บริโภคชาวไทยมากกว่า 88% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด สนใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยพบว่ากลุ่มผู้ที่ให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Gen X และกลุ่ม Gen Baby boomer (รูปที่ 4) ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคในทุกช่วงอายุมีแนวโน้มที่จะรู้จักผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียวมากขึ้นแต่อยู่ระหว่างการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก โดยข้อมูลผลสำรวจเรื่อง E-waste  ของ Euroconsumers พบว่า มากกว่า 90% ของผู้ตอบแบบสำรวจ รู้ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่ขยะทั่วไป โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่งตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการรีไซเคิล E-waste แต่มีคนน้อยกว่าครึ่งที่สามารถแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกวิธี อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่า 86% พร้อมที่จะเปลี่ยนนิสัยการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์หากได้รับข้อมูลการบริหารจัดการ E-waste อย่างถูกวิธี จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนได้ว่าผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียวมากขึ้น ซึ่งไปในทิศทางเดียวกันกับฝั่งผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียว ทั้งนี้จากข้อมูลของ Future Market Insights  ระบุว่า มูลค่าตลาดของการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจาก 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 เป็น 1.77 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2033 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 26.14% ต่อปี (ในช่วงปี 2023-2033)

รูปที่ 4 : ผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์
ที่เพิ่มขึ้น โดยเกือบครึ่งหนึ่งรู้จักผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียวและอยู่ระหว่างหาข้อมูลเพิ่มเติม
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey “การบริโภคอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม – 20 มิถุนายน 2024 

แม้ว่าผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่มีความสนใจผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียวมากกว่าผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป แต่ยินดีจ่ายเงินเพิ่มไม่สูงมากนัก โดยจากผลสำรวจฯ พบว่ามากกว่าครึ่งยินดีจ่ายเงินเพิ่มไม่เกิน 5% และอีก 37% ยินดีจ่ายเงินเพิ่ม 5-10% ซึ่งพบว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยปานกลางถึงสูง  ขณะที่ผู้บริโภคอีกราว 1 ใน 4 ตอบว่ามีความสนใจผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียว แต่ไม่อยากจ่ายเงินเพิ่ม (รูปที่ 5) อย่างไรก็ดี ยังคงมีผู้บริโภคบางส่วนที่คิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยที่ไม่สนใจผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียว อีกทั้ง ยังมองว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวจะต้องมีราคาสูงกว่าและมีตัวเลือกในตลาดน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ซึ่งสะท้อนได้ว่าผู้บริโภคไทยเริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในมิติของการเลือกผลิตภัณฑ์สีเขียวมากขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณ ซึ่งในระยะข้างหน้า หากผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียวที่มีราคาถูกลงหรือราคาใกล้เคียงกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป รวมไปถึงมีฟังก์ชันการใช้งานที่ทันสมัยเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น ก็จะสามารถดึงดูดให้ผู้บริโภคเปิดใจซื้อผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียวมากขึ้นได้ในอนาคต 

รูปที่ 5 : ผู้บริโภคราว 71% ยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียว
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey “การบริโภคอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม – 20 มิถุนายน 2024 

สำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้บริโภคอยากให้มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียวมากที่สุด คือกลุ่มอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ อย่างเช่น สมาร์ตโฟนและอุปกรณ์เสริมของมือถือ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมเปลี่ยนใหม่ค่อนข้างบ่อยกว่าสินค้ากลุ่มอื่น ๆ ตามกระแสนิยมและเทรนด์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  นอกจากนี้ อุปกรณ์จำพวกหลอดไฟและแบตเตอรี่มือถือ ก็เป็นกลุ่มสินค้าที่มีความถี่ในการใช้แล้วทิ้งสูงกว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งควรมีการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์สีเขียวให้เร็วขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ผลสำรวจในเรื่องปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียว ยังพบอีกว่า 1) ผู้บริโภคส่วนใหญ่สนใจผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยประหยัดพลังงาน 2) มากกว่า 54% ของผู้ตอบแบบสำรวจให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานผลิตภัณฑ์ โดยจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน และ 3) ราว 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจเริ่มมองว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เช่น สินค้าที่มีสัญลักษณ์ฉลากสิ่งแวดล้อม สินค้าที่มีการส่งเสริมการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำ หรือมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ เป็นต้น (รูปที่ 6)

แรงกดดันด้าน ESG คือความท้าทายสำคัญในระยะข้างหน้าสำหรับผู้เล่นที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะต้องมีการปรับกลยุทธ์ วิจัยและพัฒนาการผลิตเพื่อมุ่งไปสู่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เริ่มให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างเช่น Apple หรือ Samsung ก็มีการปรับตัวในเรื่อง ESG อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การใช้วัสดุที่ใช้คาร์บอนต่ำและวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น รวมทั้งมีการทําธุรกิจกับ Eco Partners มากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังซัพพลายเออร์ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ผลิตภัณฑ์หรือวัสดุผ่านการรับรองตามมาตรฐานจากบริษัทคู่ค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รูปที่ 6 : ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการให้กลุ่มสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์ไอทีพัฒนาเป็นสินค้าสีเขียว
มากที่สุด และเริ่มนำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นปัจจัยในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียว
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey “การบริโภคอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม – 20 มิถุนายน 2024 

แนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว เพื่อผนึกกำลังฝ่าวิกฤติ E-waste  

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวกับปัญหาปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ และกลุ่มสหภาพยุโรปได้มีการออกกฎหมายการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คำสั่งห้ามฝังขยะอิเล็กทรอนิกส์ในสถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอย และออกข้อกำหนดในการรีไซเคิล E-waste ซึ่งสหรัฐฯ ได้มีการบังคับใช้ไปแล้วในมากกว่า 25 รัฐ ในขณะที่สหภาพยุโรป ก็ได้มีการออกกฎระเบียบที่เข้มข้นขึ้นทั้งในส่วนของการบริหารจัดการ E-waste และครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับวางขายในกลุ่มสหภาพยุโรป ที่จะต้องผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กลุ่มสหภาพยุโรปกำหนด เช่น การจำกัดการใช้สารเคมีอันตราย (RoHS) การกำหนดข้อบังคับสำหรับการตั้งจุดรับ “ทิ้ง” หรือ “คืน” E-waste นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับปรุงหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นและสามารถซ่อมแซมได้อีกด้วย สำหรับในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันภาครัฐโดยกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเสนอร่าง พ.ร.บ. กากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าวผ่านขั้นตอนการพิจารณาจากรัฐสภาและเริ่มบังคับใช้ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของไทยที่นำไปสู่การบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจัง มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น 

แม้ภาครัฐจะอยู่ระหว่างการเสนอกฎหมายในด้าน E-waste ออกมา แต่ในแง่ของการปฏิบัติ ยังคงมีความท้าทายอีกมากเนื่องจากการจัดการ E-waste ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน อีกทั้ง ยังต้องการทรัพยากรทั้งในด้านเงินทุนและบุคลากร ซึ่งในปัจจุบัน จะพบว่าการจัดสรรพื้นที่หรือจุดรับทิ้ง E-waste ตามชุมชนยังมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ แม้ผู้บริโภคไทยจะเริ่มตื่นตัวกับปัญหา E-waste มากขึ้น แต่ยังคงขาดองค์ความรู้ในการทิ้งหรือคัดแยก E-waste ออกจากขยะทั่วไปอยู่ อีกทั้ง การบังคับใช้กฎหมายอาจยังไม่มีความเข้มงวดเพียงพอ ซึ่งส่งผลให้ปัญหา E-waste ยังคงเป็นภัยร้ายต่อไทยอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด ทั้งนี้ SCB EIC ได้รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ผ่านผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey
 
“การบริโภคอย่างยั่งยืน” พบว่า แนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวในอนาคตที่ภาคส่วนต่าง ๆ ควรเร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม มีดังนี้ 1) ส่งเสริมให้มีจุด “รับคืน” หรือ “รับซื้อ”ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2) ส่งเสริมให้มีจุด “รับทิ้ง” ขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบแยกประเภท 3) ส่งเสริมโครงการอุดหนุนการซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว 4) ให้สิทธิพิเศษทางภาษีจากการซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวสำหรับภาคธุรกิจ เช่น  อุปกรณ์สำนักงานที่ประหยัดพลังงานหรือที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ 5) จัดให้มีโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะและข้อมูลผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียว 6) ออกกฎระเบียบข้อบังคับเรื่องการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจัง 7) ส่งเสริม/ดึงดูดการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว รวมไปถึงออกกฎหมายควบคุมและขึ้นภาษีสำหรับกลุ่มที่ไม่ใช่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว และ 8) ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว (รูปที่ 7)

รูปที่ 7 : มาตรการที่ไทยควรเร่งดำเนินการคือ การออกกฎหมายเพื่อบริหารจัดการ E-waste 
ซึ่งควรมีมาตรการเสริมด้านอื่น ๆ ควบคู่กันเพื่อให้การนำไปปฏิบัติจริงเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey “การบริโภคอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม – 20 มิถุนายน 2024 
 
จากแนวโน้มความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และแรงกดดันด้าน ESG 
จากประเทศคู่ค้า SCB EIC มองว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจำเป็นต้องมีการวางแผนกลยุทธ์
ด้านสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานการผลิตให้มุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีมูลค่าเพิ่มสูง รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือกับ Eco partner มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวอย่างยั่งยืนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้เล่นไทยในตลาดโลก ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวในไทย ควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจในการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ร่วมด้วย


บทความที่เกี่ยวข้อง
The series of “Conscious consumerism” (EP.1) : Green road, Go sustain เปลี่ยนการสัญจรให้ยั่งยืนทุกเส้นทาง
The series of “Conscious Consumerism” (EP.2) Sustainable eating … ได้เวลาเปลี่ยนมื้อนี้ ให้อิ่มท้องและอิ่มใจ

บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/green-electronics-270325

ผู้เขียนบทวิเคราะห์
 
 
จิรภา บุญพาสุข (jirapa.boonpasuk@scb.co.th) นักวิเคราะห์                                       
 
INDUSTRY ANALYSIS
ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

ปราณิดา ศยามานนท์ ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่าย Industry Analysis, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) 

โชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต
ฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส
จิรภา บุญพาสุข นักวิเคราะห์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 มี.ค. 2568 เวลา : 14:38:51
04-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 4, 2025, 4:16 am