
สทนช. จับมือ วว. เดินหน้าวิจัยแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของจอกหูหนูยักษ์ นำเทคโนโลยีผสานกระบวนการธรรมชาติบำบัด (Nature-based Solutions; NbS) บูรณาการทุกภาคส่วน เร่งฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำโลก “หนองกุดทิง” พัฒนาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
(34).jpg)
(37).jpg)
วันนี้ (28 มีนาคม 2568) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน Kick Off โครงการ “การบำบัดและฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่ชุมชนเหนือน้ำหนองกุดทิง ตำบลโนนสมบูรณ์ จังหวัดบึงกาฬ ด้วยระบบธรรมชาติบำบัดไฟโตเทคโนโลยี เพื่อใช้ในภาคการเกษตร” ร่วมกับ ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยมี นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวต้อนรับ ในการนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย นางสาวกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) คณะวิจัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาน จัดขึ้น ณ โรงแรมเดอะวัน อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ หลังจากนั้น สํารวจพื้นที่ติดตั้งระบบธรรมชาติบำบัดไฟโตเทคโนโลยีเพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำ-ห้วยน้ำคำ โดยเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า “หนองกุดทิง” เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ในจังหวัดบึงกาฬ ถูกประกาศเป็น ramsar site หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก มีเนื้อที่ประมาณ 16,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลบึงกาฬ ตำบลโนนสมบูรณ์ และตำบลโคกก่อง ประชาชนส่วนใหญ่ใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เลี้ยงสัตว์ และการประมง โดยประสบปัญหาการแพร่กระจายจอกหูหนูยักษ์ ซึ่งเป็นวัชพืชทางน้ำ ที่มีพัฒนาการเปลี่ยนรูปร่างเป็นกลุ่มก้อน เป็นแพ และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วแหล่งน้ำ สาเหตุเกิดจากสารอาหารที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำมีจำนวนมาก ได้แก่ ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของจอกหูหนูยักษ์และวัชพืชต่างๆ ซึ่งสารอาหารเหล่านี้เกิดจากกิจกรรมการใช้น้ำของประชาชนในชุมชนใกล้แหล่งน้ำ และกิจกรรมทางเกษตรที่มีการใช้สารเคมีปริมาณมาก
(14).jpg)
เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง สทนช. และ วว. ในการนำแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน หรือ Nature-based Solutions (NbS) ผ่านการประยุกต์ใช้ไฟโตเทคโนโลยีหรือการบำบัดน้ำเสีย โดยอาศัยกระบวนการทางธรรมชาติของพืชและจุลินทรีย์ในแหล่งน้ำ ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำและฟื้นฟูระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติห้วยน้ำคำ ก่อนไหลสู่หนองกุดทิง ช่วยลดปริมาณแร่ธาตุสารอาหารส่วนเกินในแหล่งน้ำ ที่เอื้อต่อการขยายพันธุ์ของจอกหูหนูยักษ์และวัชพืชต่างๆ รวมถึงการลดปริมาณโลหะหนักที่อาจปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยเพิ่มคุณค่าทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่สัตว์น้ำต่างๆ คืนธรรมชาติให้กลับมามีความหลากหลายทางชีวภาพได้อีกทางหนึ่ง
(38).jpg)
“โครงการนี้ นับเป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและสถาบันวิจัย ในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม สอดรับกับการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ในด้านที่ 4 การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ นอกจากนี้ แนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน จะช่วยฟื้นฟูความสมดุลของแหล่งน้ำธรรมชาติ แก้ไขปัญหาวัชพืชที่เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการร่วมดูแลและรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด อันจะเป็นการพัฒนาระบบนิเวศและรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย
ข่าวเด่น