
เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวบนบกขนาด 7.7 ริกเตอร์ ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงสูง ซึ่งได้ส่งแรงสั่นสะเทือนหนักลงมายัง 24 จังหวัดของประเทศไทย ไล่มาตั้งแต่พื้นที่ทางภาคเหนือ ถึงเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ที่ได้สร้างความเสียหายให้กับตึกอาคารรวมถึงคอนโด High Rise หลาย ๆ โครงการจนเกิดความหวาดหวั่น และความเคลือบแคลงใจของเหล่าผู้อยู่อาศัยว่าคอนโดของตนนั้นปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน
ด้วยศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การค้าและบริการต่างกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ จึงไม่แปลกที่พื้นที่ส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยตึกอาคารสำนักงาน และคอนโดที่อยู่อาศัยเต็มไปหมดเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว หากจะพิจารณาเลือกซื้อคอนโดสักหนึ่งโครงการ ก็ต่างรู้กันดีว่ายิ่งอยู่ในทำเลใจกลางเมือง ใกล้ Facility ที่สะดวกสบาย หรืออยู่ใกล้กับกับเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญ เช่น ทางด่วน หรือรถไฟฟ้า ก็จะยิ่งทำให้ราคาขายต่อตารางเมตรเพิ่มสูงขึ้นมากเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ได้เกิดขึ้น เรากลับพบว่ามีคอนโดหลายโครงการในกรุงเทพได้รับความเสียหายในหลายรูปแบบ เช่น มีรอยร้าวของผนัง มีรอยกระเทาะของอาคาร ฝ้าเพดานถล่ม เสาเอียง ทางเชื่อมอาคารทรุด หรือจะเห็นการสั่นของตัวคอนโดช่วงเกิดเหตุ ทั้งหมดนี้ทำให้เราต่างตั้งคำถามว่า สัญญาณพวกนี้แสดงให้เห็นว่าตัวโครงการคอนโดนั้น ๆ มีโครงสร้างที่อ่อนแอ ไม่ควรอยู่ต่อใช่หรือไม่ กลับกันพวกคอนโดเก่า ๆ และคอนโดแบบ Low Rise ที่ไม่มีการสั่นไหวเลย หรือได้รับผลกระทบนิดหน่อย เช่น แค่มีสีกระเทาะออกมาแค่นั้น แปลว่าแข็งแรงใช่หรือไม่ หากในอนาคตอยากจะลงทุนซื้อคอนโด ก็ควรเลือกซื้อคอนโดในลักษณะนี้ แทนโครงการคอนโดใหม่ ๆ ที่เพิ่งสร้างเสร็จ หรือโครงการในอนาคตหรือเปล่า
จริง ๆ แล้ว เราควรจะต้องพิจารณาโดยอาศัยข้อมูลในหลาย ๆ ปัจจัย เช่น เรื่องของข้อมูลทางธรณีวิทยา ดังที่ “ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ เกิดจากจากรอยเลื่อนสะกาย ที่อยู่ในประเทศเมียนมา ซึ่งจัดได้ว่าเป็น 1 ใน 3 รอยเลื่อนที่มีความอันตรายที่สุดในโลก โดยการเลื่อนครั้งใหญ่นี้ ได้แผ่คลื่นแผ่นดินไหว (Seismic Waves) ลงมาสู่ประเทศไทยในหลาย ๆ จังหวัด รวมถึงในกรุงเทพมหานคร แม้จะห่างจากรอยเลื่อนนับพันกิโลเมตรก็ตาม สาเหตุก็คือกรุงเทพนั้นมีชั้นดินที่อ่อนและเป็นแอ่งกระทะขนาดใหญ่มาก ซึ่งจะตอบสนองความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้จากระยะไกล ๆ โดยจะมีลักษณะการสั่นสะเทือนในรูปแบบของจังหวะการสั่นแบบช้า ๆ ยาว ๆ หรือก็คือ คลื่นความถี่ต่ำ (Low-frequency waves) ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวอาคารที่มีความสูง เนื่องจากอาคารสูงมีจังหวะในการโยกตัวที่ใกล้เคียงกับจังหวะการสั่นสะเทือนของพื้นดินแบบแอ่งดินอ่อนในกรุงเทพ เราจึงเห็นว่าบรรดาอาคารสูง ๆ ในกรุงเทพจะได้รับผลกระทบมากที่สุด (ในขณะเดียวกันอาคารที่มีความสูงปานกลางจะตอบสนองต่อการสั่นสะเทือนความถี่ปานกลาง Medium-frequency waves ส่วนอาคารเตี้ยจะตอบสนองต่อการสั่นที่มีความถี่สูง High-frequency waves)
โดยถ้าเราพิจารณาจากทางประเทศญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่บ่อยกว่าไทยจะพบว่า ตึกอาคารในโตเกียวที่สูง ๆ จะได้รับการออกแบบให้ทนต่อคลื่นความถี่ต่ำ และดูดซับพลังงานแผ่นดินไหวให้ได้มากที่สุดด้วยกระบวนการที่เรียกว่า การแยกแผ่นดินไหว (Seismic Isolation) โดยเสาเข็มของอาคารจะไม่เชื่อมต่อเป็นท่อนเดียวกันทั้งหมด แต่จะมีโช้คอัพอยู่ที่ฐานของอาคารเป็นตัวกลางระหว่างเสาเข็มบนและเสาเข็มล่าง เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว เสาเข็มด้านล่างจะเคลื่อนไหวไปตามแรง แต่บริเวณรอยต่อจะช่วยซับแรงสะเทือน ทำให้อาคารด้านบนไม่ได้รับแรงของแผ่นดินไหวมากนัก
แล้วประเด็นที่ว่า คอนโดเก่าในไทยที่สร้างมานานดีกว่าคอนโดโครงการใหม่ ๆ หรือเปล่า?
คำตอบ คือ ไม่เสมอไป เพราะในประเทศไทย ก็ได้มีการเตรียมพร้อมกับภัยพิบัตินี้เช่นกัน แต่การออกกำหนดให้มีการออกแบบอาคารสูงต้านการแผ่นดินไหวนั้น มีการเริ่มต้นในช่วงปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งโครงการคอนโดเก่าและคอนโดใหม่ ก็ยังมีการออกแบบด้วยเทคโนโลยีการสร้างที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ในยุคก่อนคอนโดโครงการเก่า ๆ จะมีการใช้อิฐมอญ หรืออิฐที่ถูกอัดด้วยมวลที่หนาแน่น แม้จะทำให้โครงสร้างของตึกมีความแข็งแรง แต่กลับกันก็มีความสามารถในการประเมินความเสียหายที่ต่ำ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถประเมินด้วยตาเปล่าว่า บรรดาคอนโดเก่าหลังเหตุการณ์แผ่นไหว ที่ได้รับความเสียหายเพียงแค่สีกระเทาะออก จะแปลว่าอาคารนี้แข็งแรง ปลอดภัย เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าตัวโครงสร้างและโครงเหล็กภายในมันเสียหายไปเท่าไหร่แล้ว ยิ่งตึกสูงที่ไม่มีการโยกเลย ในอีกมุมมองหนึ่ง คือ ตึกดังกล่าวอาจไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับมือกับแผ่นดินไหว หากถล่มก็จะถล่มลงมาเลยโดยไม่มีสัญญาณใด ๆ คล้ายกับต้นไม้ใหญ่ที่ไม่โยกตามแรงลม แต่จะแตกหักลงมาทีเดียวเลย
กลับกันในตึกอาคารสูงที่เห็นว่ามีการสั่นไหวเล็กน้อย มักจะมีโครงสร้างตึกแบบ Resonance Building Design ทำให้ตึกมีความยืดหยุ่น คล้ายกับต้นไผ่สูงที่ลู่ลม ไม่หักโค่นได้ง่าย ๆ โดยจะมีแรงซับต่าง ๆ เช่น ในโครงการที่เราเห็นว่าทางเดินเชื่อมระหว่างตึกมีการหักพังลงมา จริง ๆ แล้วโครงสร้างเชื่อมตึกแบบนี้ จะมีการสร้างแยกส่วนเชื่อมระหว่างตึกกับทางเชื่อมดังกล่าวให้มีแรงยึดที่แตกต่างกัน การเสียหายดังกล่าวเป็นการผ่อนแรงให้โครงสร้างส่วนใหญ่คงสภาพเดิม และไม่ช่วยให้ตึกเอนได้อีกทางหนึ่ง ส่วนคอนโดที่มีสระน้ำด้านบน (ที่เราอาจเห็นว่ามันน่าหวาดเสียวตอนที่ตึกมีการโยกไปมานั้น) ถูกออกแบบมาเพื่อลดการสั่นของตึก เพราะสระน้ำทำหน้าที่คล้ายกับลูกตุ้ม ซึ่งจะเป็นตัวช่วยเพิ่มมวลของตึก และคานน้ำหนักการสั่นไหวไม่ให้โครงสร้างพัง
และในประเด็นของโครงการคอนโดสมัยใหม่ที่ใช้อิฐมวลเบาในการก่อสร้าง แล้วมีรอยร้าวแสดงให้เห็นชัดเจนออกมา ข้อดีของมันคือทำให้วิศวกรสามารถประเมินความเสียหายเบื้องต้นได้ว่าโครงสร้างตึกได้รับความเสียหายมากน้อยแค่ไหน ไม่ได้มีความน่ากลัวและแย่กว่าอิฐมอญที่อยู่ในโครงการคอนโดเก่าอย่างที่สังคมส่วนใหญ่ในตอนนี้เข้าใจ
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าโครงการคอนโดใหม่ ๆ จะปลอดภัยและน่าลงทุนอย่างหายห่วง เพราะอาคารที่แข็งแรงนั้นขึ้นอยู่กับทั้ง Building Design และ Construction Materials ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก เช่น ตัววัสดุ การหล่อ การสร้าง ทีมผู้รับเหมา และอื่น ๆ อีกมากมาย ฉะนั้นการพิจารณาเบื้องต้น อาจจะต้องมุ่งเป้าไปที่การแสดงความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ว่ามีมาตรการช่วยเหลือเยียวยามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนในเวลานี้
ข่าวเด่น